สธ.เตรียมออกประกาศ "กัญชา"เป็นสมุนไพรควบคุม จำกัดครอบครอง "ช่อดอก"

สธ.เตรียมออกประกาศ "กัญชา"เป็นสมุนไพรควบคุม จำกัดครอบครอง "ช่อดอก"

กรมการแพทย์แผนไทยฯ เสนออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข  กำหนด “กัญชา”เป็นสมุนไพรควบคุม มุ่งจำกัด การครอบครอง “ช่อดอกกัญชา”  ป้องกันการเสพกัญชา-การใช้เพื่อสันทนาการ   อุดช่วงโหว่ช่วงสุญญากาศ ร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชงยังไม่ออกมาใช้ 

       จากกรณีที่มีความกังวลในช่วงที่ร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ....ยังไม่ผ่านสภานและยังไม่มีผลออกมาบังคับใช้ เพื่อวัตถุประสงค์ในการควบคุมการนำกัญชาไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม ขณะที่การปลดล็อกกัญชามีผลแล้วเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2565 ส่งผลให้ทุกส่วนของกัญชา กัญชงไม่เป็นยาเสพติด ยกเว้นสารสกัดที่มีสาร THC เกิน 0.2 % ยังเป็นยาเสพติด เท่ากับในส่วนของช่อดอกแม้จะมีค่าTHC เกิน 0.2 %ก็ไม่เป็นยาเสพติดเพราะไม่ใช่สารสกัด จึงมีข้อกังวลอย่างมากของสังคมว่าจะมีการนำช่อดอกไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสมและส่งผลอันตรายต่อร่างกาย

     นพ.ยงยศ  ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ขณะนี้ได้รวบรวมเนื้อหาข้อกฎหมายต่างๆในส่วนของกัญชา จัดทำเป็น  ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องสมุนไพรควบคุม (กัญชา )  เพื่ออุดช่วงโหว่ ช่วงสุญญากาศ ระหว่างรร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ….  โดย มุ่งเน้น การจำกัด การครอบครอง ช่อดอกของกัญชา   ซึ่งจะมีรายละเอียดในการควบคุมการครอบครอง ในฐานะบุคคล  วิสาหกิจชุมชน   ป้องกันการเสพกัญชา หรือการใช้เพื่อสันทนาการ  โดยจะเสนอ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต  ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาไทยพิจารณา หากเห็นชอบเสนอต่อ รมว.สธ. ลงนามต่อไป  จากนั้นสามารถจะประกาศในราชกิจจาฯ จะมีผลบังคับใช้ทันที  คาดว่าการจัดทำร่างดังกล่าว ใช้เวลาแค่  3-5 วันแล้ว เสร็จ

        นพ.ยงยศ กล่าวอีกว่า การยกร่างประกาศนี้ เพื่อมาควบคุมป้องกันการใช้กัญชาที่ไม่เหมาะสม โดยมุ่งเน้นจำกัดปริมาณการครอบครงกัญชา จากเดิม มีแค่ พ.ร.บ.การสาธารณสุข 2535 ที่ควบคุมเรื่องเหตุรำคาญจากควันและกลิ่นของกัญชาเท่านั้น  ในส่วนของ พ.ร.บ.คุ้มครองส่งเสริมภูมิปัญญาทางการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542  ใช้เพื่ออนุรักษ์ สมุนไพร ที่กำลังจะสูญหาย และ มีราคาแพง เช่น  กวาวเครือ ก็เคยใช้กฎหมายนี้

   “ตอนแรกที่ไม่ได้ใช้กฎหมายนี้ เนื่องจากเกรงเป็นแค่การเปลี่ยน กรงขังกัญชา จากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง แต่เมื่อ นายคำนูญ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา เสนอ สอดคล้องกับทีมที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข เสนอมาเช่นกัน ก็เห็นควรที่จะนำร่างประกาศดังกล่าว มาอุดช่องโหว่ในช่วงนี้”นพ.ยงยศกล่าว

       นพ.ยงยศ กล่าวอีกว่า ถ้าใช้กัญชาทางการแพทย์ไม่มีผลกระทบ ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) การใช้กัญชา ในส่วนของน้ำมันกัญชาสูตรอาจารย์เดชา  จำนวน 51,000 คน และตำรับยาที่มีส่วนผสมของกัญชา ยาศุขไสยาศน์ 2,100,000 ครั้ง พบว่าไม่มีเสียชีวิต และยังไม่มีใครได้รับผลกระทบจากกัญชา ซึ่งหากประชาชนใช้ถูกวัตถุประสงค์ เช่น ทางการแพทย์อยู่ในการควบคุมดูแลของแพทย์ก็ไม่ได้รับผลกระทบ แต่หากผิดวัตถุประสงค์เพื่อสันทนาการ ก็อาจได้รับผลกระทบ เช่นเดียวกับการบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา  ต้องเลือกผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) และ ร้านอาหารที่น่าเชื่อถือ