10 ข้อคำแนะนำใช้ประโยชน์กัญชาทางการแพทย์

10 ข้อคำแนะนำใช้ประโยชน์กัญชาทางการแพทย์

กรมการแพทย์ ระบุ 10 ข้อแนะนำใช้กัญชาทางการแพทย์  พร้อมข้อห้าม  ข้อควรระวัง และอันตรายการใช้สาร THC  ที่มีในกัญชา

  สถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกคำแนะนำการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ โดยระบุ 10 ข้อ อ้างอิงจากคำแนะนำการใช้กัญชาทางการแพทย์ ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 4 (มกราคม 2564) ได้แก่

1.รักษาตามมาตรฐานการแพทย์ก่อน

2.ไม่ใช้หากอายุน้อย แนะนำอายุมากกว่า 25 ปี

3.ใช้กัญชาอัตราส่วน CBD : THC สูง

4.ไม่ใช้กัญชาสังเคราะห์

5.ไม่ใช้การสูบแบเผาไหม้

6.หากสูบ ไม่อัดควันเข้าปอด แล้วกลั้นไว้

7.ใช้อย่างระวัง ใช้บ่อยและเข้มข้นสูง เสี่ยงสูง

8.งดขับรถ ใช้เครื่องจักร ไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง

9.งดใช้ ในผู้ที่มีประวัติครอบครัวจิตเวช ตั้งครรภ์

10.หลีกเลี่ยงใช้ หากมีหลายปัจจัยเสี่ยง

   ทั้งนี้ คำแนะนำการใช้กัญชาทางการแพทย์ ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 4 (มกราคม 2564) ยัง ระบุ ข้อห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีTHC เป็นส่วนประกอบ

1. ผู้ที่มีประวัติแพ้ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการสกัดกัญชา ซึ่งอาจเกิดจากส่วนประกอบอื่นๆ และ/ หรือสารที่ เป็นตัวทำละลาย (solvent) ที่ใช้ในการสกัด

2. ผู้ที่มีอาการรุนแรงของ unstable cardio-pulmonary disease (angina, peripheral vascular disease, cerebrovascular disease และ arrhythmia) หรือ มีปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจ

 3. ผู้ที่เป็นโรคจิตมาก่อน หรือ มีอาการของโรคอารมณ์แปรปรวน (concurrent active mood disorder) หรือ โรควิตกกังวล (anxiety disorder)

4. หลีกเลี่ยงการใช้ในสตรีมีครรภ์ สตรีที่ให้นมบุตร รวมถึงสตรีวัยเจริญพันธุ์ที่ไม่ได้คุมกำเนิด หรือสตรีที่ วางแผนจะตั้งครรภ์เนื่องจากมีรายงานการศึกษาพบว่ามีทารกคลอดก่อนกำหนด ทารกน้ำหนักตัวน้อย รวมถึงพบ cannabinoids ในน้ำนมแม่ได้

ข้อควรระวังอื่นๆ

1. การสั่งใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาที่มี THC เป็นส่วนประกอบในผู้ป่วยที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี เนื่องจาก ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นส่งผลต่อสมองที่กำลังพัฒนาได้ ดังนั้น ผู้สั่งใช้ควรวิเคราะห์ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นก่อนการสั่ง ใช้ผลิตภัณฑ์จากกัญชา

2. ผู้ที่เป็นโรคตับ

 3. ผู้ป่วยที่ติดสารเสพติด รวมถึงนิโคติน หรือเป็นผู้ดื่มสุราอย่างหนัก

 4. ผู้ใช้ยาอื่นๆ โดยเฉพาะยากลุ่ม opioids และยากล่อมประสาท อาทิ benzodiazepines 5. ผู้ป่วยเด็กและผู้ป่วยสูงอายุ เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการมากเพียงพอในสองกลุ่มนี้กระบวนการ metabolism ของผู้สูงอายุจะช้ากว่า จึงดูเหมือนว่ามีการตอบสนองต่อกัญชาได้สูงกว่า ดังนั้นการใช้จึงควรเริ่มต้น ในปริมาณที่น้อยและปรับเพิ่มขึ้นช้าๆ

          ขณะที่ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี และสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์  ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ กัญชา กับสมองเด็ก ระบุว่า สารประกอบในพืชกัญชา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที เอช ซี (THC tetrahydrocannabinol) มีผลกระทบต่อสมองเด็ก สามารถเกิดพิษเฉียบพลันและส่งผลระยะยาว ทำให้เกิดการเสพติดได้ ห้ามใช้ในเด็กและวัยรุ่นช่วงอายุน้อยกว่า 20 ปี ยกเว้น เป็นการใช้ที่อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดเท่านั้น ผู้ปกครองและเด็ก ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมกัญชา เช่น ขนม อาหาร อาจจะส่งผลให้มีอาการพิษเฉียบพลันได้ และให้สงสัยถ้าพบว่ามีอาการดังต่อไปนี้

 

พิษระยะเฉียบพลัน

ระบบประสาท

  • เวียนศีรษะ แขนขาอ่อนแรง พูดไม่ชัด ความรู้สึกตัวลดลง สับสน เดินเซ ชัก กล้ามเนื้อเกร็งกระตุก อารมณ์แปรปรวน เห็นภาพหลอน

ระบบหัวใจ

  • หน้ามืด วูบหมดสติ ใจสั่น แน่นหน้าอก ชีพจรเต้นผิดจังหวะ เหนื่อย หายใจไม่สะดวก ความดันโลหิตสูง

ระบบทางเดินอาหาร

  • คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง

 

ผลระยะยาวต่อสมองเด็ก

  • ความคิด ความจำแย่ลง
  • มึนงง ปวดหัว สมาธิสั้น
  • อ่อนล้า เพลียง่าย ง่วงบ่อย 
  • โรคหลอดเลือดสมอง
  • ประสาทหลอน หูแว่ว
  • ซึมเศร้า พฤติกรรมเปลี่ยน 
  • การตัดสินใจควบคุมลดลง

การใช้กัญชา ประโยชน์เพื่อการรักษาทางการแพทย์และเป็นการรักษาทางเลือก ไม่สนับสนุนใช้กัญชาเพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆในเด็กและวัยรุ่น