ถกสภาคณบดีครูฯ ปรับหลักสูตรผลิตครู ลดปัญหาสอบไม่ผ่านใบประกอบวิชาชีพ 

ถกสภาคณบดีครูฯ ปรับหลักสูตรผลิตครู ลดปัญหาสอบไม่ผ่านใบประกอบวิชาชีพ 

ตรีนุช ร่วมถกสภาคณบดีครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย เล็งปรับปรุงระบบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูของคุรุสภา พร้อมปรับหลักสูตรการสอน การผลิตครู หลังพบครูสอนไม่ผ่านใบประกอบวิชาชีพ

วันนี้ (8 มิ.ย.2565) คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการคุรุสภา มอบนโยบายและรับฟังความคิดเห็นในการประชุมสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 2 เพื่อหารือเกี่ยวกับการปรับปรุงระบบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูของคุรุสภา

โดยมี รศ.ดร.ศิริเดช สุชีวะ ประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย รศ.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ และ รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา รักษาการเลขาธิการคุรุสภา เข้าร่วมด้วย 
 
น.ส.ตรีนุช เปิดเผยว่า การประชุมในวันนี้ ตนได้หารือเกี่ยวกับการปรับระบบขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูซึ่งเป็นเหมือนจุดคัดกรองมาตรฐานของครูให้สังคมมั่นใจได้ว่า โรงเรียนจะมีครูที่มีคุณภาพให้บุตรหลาน

 

  • อัตราการสอบผ่านใบประกอบวิชาชีพครูลดลง

ในช่วงที่ผ่านมา มีอัตราการสอบผ่านลดลง เนื่องจากสอบไม่ผ่านในบางวิชา เช่น วิชาภาษาอังกฤษ ซึ่งต้องมองในสภาพความเป็นจริงว่า ครูในบางสาขาวิชาเอกที่ไม่ใช่วิชาภาษาอังกฤษอาจจะไม่ได้มีความถนัด และอาจเป็นการจำกัดโอกาสของนิสิตนักศึกษาครูที่เรียนจบมาแล้วไม่สามารถสอบผ่านใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูได้

แต่เกณฑ์การคัดเลือกก็ยังจำเป็นต่อการรักษาคุณภาพไว้ ตนจึงหารือร่วมกับสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทยในฐานะต้นทางของการผลิตครู เพื่อปรับหลักสูตรการสอนให้เสริมย้ำความรู้ที่จำเป็นให้แก่นิสิตนักศึกษาครูเพื่อให้ไม่เสียโอกาสในประกอบอาชีพ

โดยกระทรวงศึกษาธิการและคุรุสภาจะปรับระบบและกฎระเบียบการขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูให้มีความยืดหยุ่นเหมาะสมยิ่งขึ้น และพร้อมประสานการทำงานร่วมกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายร่วมกันในอนาคต 

 

  •  เล็งปรับหลักเกณฑ์ขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู

“หลักเกณฑ์ของการขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูมีเพื่อคัดกรองและรักษามาตรฐานคุณภาพของครู แต่วันนี้เรามาร่วมกันหาแนวทางพัฒนาที่เปิดโอกาสให้หลักเกณฑ์นั้นไม่เป็นอุปสรรค และยังเสริมศักยภาพให้ได้ครูที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น โดยทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่ผลิตครูและหน่วยงานที่ครูเข้ามางาน นอกจากนี้ ดิฉันได้ฝากเรื่องการผลิตครูให้มีความรู้และทักษะที่มีความพร้อมต่อเด็กในศตวรรษที่ 21 อีกด้วย เนื่องจากเด็กสมัยใหม่มีความรู้ที่กว้างมาก แต่ยังต้องเสริมให้เด็กรู้เท่าทันโลกและการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในปัจจุบัน” รมว.ศธ. กล่าว