“9 ราชมงคล” ดันการศึกษาไทยไร้ขอบเขต ลงทะเบียนข้ามมหาวิทยาลัย

“9 ราชมงคล” ดันการศึกษาไทยไร้ขอบเขต ลงทะเบียนข้ามมหาวิทยาลัย

เครือข่าย “9 ราชมงคล” ลงนามความร่วมมือ ลงทะเบียนเรียนข้ามมหาวิทยาลัย และ การจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตผ่านระบบธนาคารหน่วยกิตดิจิทัล ขับเคลื่อนการปฏิรูปอุดมศึกษาครั้งใหญ่ ดันการศึกษาไทยไร้ขอบเขต สร้างทางเลือกนักศึกษาประกอบร่างหลักสูตรที่สนใจได้ด้วยตัวเอง

เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 65 ณ ศูนย์นวัตกรรมและความรู้ มทร.ธัญบุรี อาคารบางซื่อจังชั่น กทม. เครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่งทั่วประเทศ พร้อมด้วย ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ประชุมหารือข้อราชการ และร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 แห่ง คือ

  • มทร.ธัญบุรี
  • มทร.กรุงเทพ
  • มทร.ตะวันออก
  • มทร.พระนคร
  • มทร.รัตนโกสินทร์
  • มทร.ล้านนา
  • มทร.ศรีวิชัย
  • มทร.สุวรรณภูมิ 
  • มทร.อีสาน

เพื่อพัฒนากลุ่มราชมงคล รับฟังแนวนโยบายต่างๆ เพื่อให้เกิดแนวทางการพัฒนาที่สอดรับกับบริบทในปัจจุบัน และเป็นไปตามแนวทางของกระทรวง อว. โดยเริ่มในปีการศึกษานี้

 

เรียนรู้ อย่างไร้ขอบเขต

 

“รศ.ดร.สมหมาย ผิวสะอาด” อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) ในฐานะประธานคณะกรรมการอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) เปิดเผยว่า การร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงการศึกษาครั้งใหญ่ของประเทศ การเรียนรู้ของคนในปัจจุบัน มีความก้าวหน้า ก้าวไกล ไร้ขอบเขต ไม่จำกัดการเรียนรู้แค่ในห้องเรียนหรือสถานศึกษาใดสถานศึกษาหนึ่ง บุคคลสามารถเรียนรู้ได้ตามศักยภาพ ความถนัด และเวลา ด้วยรูปแบบ และค่าใช้จ่ายอย่างเหมาะสม

 

คณะกรรมการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และปรับตัวการเปลี่ยนแปลง โดยได้มีมติเห็นชอบในการดำเนินการจัดการศึกษาในลักษณะ "ลงทะเบียนเรียนข้ามมหาวิทยาลัย" และการเรียนรู้ตลอดชีวิต ระบบ "ธนาคารหน่วยกิต" และ ธนาคารหน่วยกิตดิจิทัลร่วมกันเพื่อเชื่อมการเรียนรู้

 

“9 ราชมงคล” ดันการศึกษาไทยไร้ขอบเขต ลงทะเบียนข้ามมหาวิทยาลัย

การลงทะเบียนเรียนข้ามมหาวิทยาลัยของนักศึกษาในเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลและการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต ระบบธนาคารหน่วยกิตมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เนื้อหาความร่วมมือบันทึกข้อตกลงทั้งสองฉบับ มีวัตถุประสงค์หลัก คือ การแลกเปลี่ยนข้อมูล ให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และดำเนินการส่งเสริมการการเรียนรู้ข้ามมหาวิทยาลัยของนักศึกษาในเครือข่าย "ราชมงคล" และการร่วมจัดการเรียนรู้ธนาคารหน่วยกิต และใช้ธนาคารหน่วยกิตดิจิทัลเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลร่วมกัน

 

"การดำเนินงานในครั้งนี้แสดงถึงเอกภาพ ความเข้มแข็งและความมุ่งมั่นในการศึกษา และการพัฒนากำลังคนของกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม"

 

หลักสูตรสอดคล้อง เรียนได้ทุกรายวิชา

 

สำหรับการลงทะเบียนเรียนข้ามมหาวิทยาลัย “รศ.ดร.สมหมาย” อธิบายว่า หากเป็นหลักสูตรที่มีความสอดคล้องกัน สามารถเรียนได้ในทุกรายวิชา หากเรียนที่หนึ่ง สะสมหน่วยกิต และสำเร็จการศึกษาอีกที่หนึ่งก็ได้ เราเริ่มต้นทำหลักสูตรให้มีลักษณะที่สอดคล้องกัน แต่อาจจะมีวิชาเลือก หรือวิชาเฉพาะที่เป็นอัตลักษณ์ของแต่ละที่ แต่การเรียนสามารถเรียนด้วยกันได้ทั้ง 9 แห่ง

 

“ในส่วนของการลงทะเบียนเรียนของนักศึกษา อาจจะไม่เจาะจงอยู่ที่ใดที่หนึ่ง เช่น นักศึกษาเรียนที่ภาคเหนือ เกิดย้ายที่ทำงานมาอยู่ที่ห่างไกลจากมหาวิทยาลัยก็ไม่จำเป็นต้องเรียนที่เดิม สามารถลงทะเบียนเรียนในหลักสูตร รายวิชา ในหลักสูตรของตนเองในราชมงคลแห่งอื่นได้เช่นกัน เกรดที่ได้ ใช้ได้เหมือนกัน”

 

อย่างไรก็ตาม การลงทะเบียนเรียนแต่ละครั้ง ต้องประสานงาน ดูความเหมาะสม และดูศักยภาพในการรองรับของแต่ละแห่ง หากผู้เรียนล้นก็อาจต้องไปเรียนในเทอมถัดไป หรืออาจจะเป็นราชมงคลแห่งอื่นทั้ง 9 แห่ง

 

“9 ราชมงคล” ดันการศึกษาไทยไร้ขอบเขต ลงทะเบียนข้ามมหาวิทยาลัย

ธนาคารหน่วยกิต เรียนรู้ตลอดชีวิต

 

ขณะเดียวกัน ในส่วนของ "ธนาคารหน่วยกิต" ก็มีความสอดคล้องกัน บุคลากรที่อยู่นอกเหนือจากวัยเรียน เช่น สถานประกอบการ วัยทำงาน หรือผู้สูงอายุ สามารถลงทะเบียนเรียน สะสมหน่วยกิต ทั้งนี้ การสะสมหน่วยกิต หากเป็นหลักสูตรเดียวกันจะสะสมที่ไหนก็ได้ หากเริ่มเรียนที่ มทร.อีสาน เกิดที่ทำงานย้ายไปที่ภาคใต้ สามารถไปสะสมหน่วยกิตต่อที่ มทร. ศรีวิชัย และสำเร็จการศึกษาที่ มทร.ศรีวิชัยได้ สามารถสะสมหน่วยกิตได้ทั้ง 9 แห่ง

 

สำหรับธนาคารหน่วยกิต ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากการจัดการเรียนรู้ระบบธนาคารหน่วยกิตของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่ปี 2562 ตามประกาศกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เรื่อง แนวทางการดำเนินงานระบบคลังหน่วยกิตระดับอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 โดยมีความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 แห่ง 36 วิทยาเขต และหน่วยงานภายนอก ตั้งแต่ระดับนโยบาย คือ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาที่ดำเนินโครงการพัฒนาระบบคลังหน่วยกิตดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ร่วมกันในปี 2563 ทำให้เกิดระบบธนาคารหน่วยกิตต้นแบบที่สามารถใช้ร่วมกันได้ในเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล

 

ต่อมาในปี 2564 ได้ร่วมมือกับเขตพื้นที่การศึกษาปทุมธานี รับนักเรียน ม.ปลายเข้าร่วมโครงการ และยังได้มีการประชาสัมพันธ์ไปยังภาครัฐและเอกชน ภาคแรงงาน สถานประกอบการ จนเริ่มเป็นที่รู้จักกว้างขวางขึ้น

 

ธนาคารหน่วยกิตดิจิทัล

 

และในปีเดียวกัน (2564) ได้ร่วมมือกับ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ในการพัฒนาระบบธนาคารหน่วยกิตดิจิทัล (Digital Credit Bank System) เพื่อรองรับการเชื่อมโยงคุณวุฒิวิชาชีพสู่คุณวุฒิการศึกษา เพื่อเป็นการเทียบระดับคุณวุฒิการศึกษาและคุณวุฒิวิชาชีพ ตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (National Qualifications Framework หรือ NQF) ในการเชื่อมโยงคุณวุฒิการศึกษากับมาตรฐานอาชีพไว้ด้วยกัน

 

โดยสามารถนำประสบการณ์จากการทำงานมาเข้ารับการทดสอบ เพื่อรับรองสมรรถนะบุคคล ทำให้การจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต สามารถเข้าถึงได้สำหรับคนทุกคน ทุกช่วงอายุ ทุกระดับการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มความเสมอภาคทางการศึกษาได้อย่างแท้จริง

 

ผู้สนใจสามารถเข้าดูรายละเอียดได้ที่ เว็บไซต์ของสำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียนของแต่ละแห่ง หรือสามารถปรึกษากับอาจารย์ที่ปรึกษาเป็นการเฉพาะรายได้อีกด้วย ซึ่งการเรียนอาจเป็นได้ทั้งในรูปแบบออนไซต์และออนไลน์ ซึ่งจะเริ่มต้นในภาคการศึกษาที่ 1 ประมาณเดือนกรกฎาคมนี้

 

ปลดล็อกข้อจำกัด ด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยี

 

รศ.ดร.สมหมาย กล่าวต่อไปว่า ด้วยความร่วมมือของเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 แห่งที่แข็งแกร่ง ความถนัดและความเชี่ยวชาญของแต่ละ มทร. จะช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนเข้าถึงระบบการเรียนการสอนที่ง่ายขึ้นกว่าเดิม ปลดล็อกข้อจำกัดเดิม ๆ นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาส่งเสริมให้ระบบได้รับการพัฒนาที่ดียิ่งขึ้น ที่สำคัญยังส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของผู้เรียน หรือ Lifelong Learning อีกทั้งพัฒนาทักษะกำลังคนของประเทศ ในด้าน Re skill , Up skill , New skill ที่สอดรับตามแนวทางของกระทรวง อว. อีกด้วย

 

ปฏิรูปอุดมศึกษา สอดรับอุตสาหกรรม

 

“ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล” ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวในการประชุมสำคัญโดยระบุว่า เราอยู่ในการปฏิรูปอุดมศึกษาครั้งใหญ่ เป็นการเปลี่ยนแปลงอุดมศึกษาระลอกที่สอง จากกว่าร้อยปีที่ผ่านมา การขับเคลื่อนทั้ง 2 เรื่องที่ราชมงคลดำเนินการ เป็นการนำหน้าการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะระบบธนาคารหน่วยกิต ซึ่ง มทร.ธัญบุรี ดำเนินการมาหลายปี เมื่อมีสัญญานจากรัฐบาลเพิ่มขึ้น ราชมงคลได้ขับเคลื่อนเต็มที่และนำมาสู่ การลงนามความร่วมมือในวันนี้

 

“9 ราชมงคล” ดันการศึกษาไทยไร้ขอบเขต ลงทะเบียนข้ามมหาวิทยาลัย

 

สาระสำคัญ คือ เมื่อนักศึกษาเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยแห่งใดแห่งหนึ่งแล้ว หากมีความประสงค์ที่จะเรียนบางรายวิชาในมหาวิทยาลัยราชมงคลแห่งอื่นก็สามารถเรียนได้ เมื่อเรียนแล้วนำผลการเรียนมาบรรจุไว้ และมหาวิทยาลัยที่รับสอนก็บันทึกว่ามีการสอนเกิดขึ้น มหาวิทยาลัยต้นทางก็รับทราบว่าเรียนวิชานี้เรียบร้อยแล้ว สามารถใช้ข้อมูลต่างๆ เป็นหลักฐานในการจบการศึกษาได้ ทำให้มหาวิทยาลัยที่แข็งแกร่งในเรื่องใดก็สามารถพัฒนาความแข็งแกร่งในเรื่องนั้นได้อย่างเต็มที่ นักศึกษามีทางเลือกมากขึ้น และเกิดการแลกเปลี่ยนนักศึกษาระหว่างสถาบัน แลกเปลี่ยนอาจารย์ระหว่างสถาบันอีกด้วย

 

“การลงทะเบียนเรียนข้ามสถาบันได้ ทำให้ระบบการอุดมศึกษาของไทยเป็นหนึ่งในตัวอย่างของการจัดการศึกษาในภูมิภาคและในโลก ขณะเดียวกัน ผลที่เกิดขึ้น จะเกิดผลนานัปการกับคนไทย สอดคล้องกับหลักการเปลี่ยนแปลงโลก สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนไป อีกทั้ง สอดคล้องกับความคิดเยาวชนคนรุ่นใหม่”

 

ผลักดันสู่มหาลัยทั่วประเทศ

 

ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ กระทรวง อว. ได้มอบนโยบายให้มหาวิทยาลัยทุกแห่ง จัดให้มีระบบลงทะเบียนเรียนข้ามมหาวิทยาลัยได้ จะเกิดขึ้นกับระบบที่มีการตรวจสอบซึ่งกันและกัน หลักการมาตรฐานอย่างเดียวกัน ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ในส่วนของบัณฑิตศึกษา 25 มหาวิทยาลัย และในวันนี้ มทร. เป็นส่วนของระดับปริญญาตรี ในเครือข่ายราชมงคล 9 แห่ง รวมถึงจะมีการขยายต่อไป ในที่สุดแล้วเราจะเห็นระบบการศึกษาทั่วประเทศ ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม สามารถลงทะเบียนข้ามซึ่งกันและกันได้

 

ข้อดีทั้งหมด คือ ประหยัดทรัพยากร ใช้ทรัพยากรของประเทศอย่างเหมาะสม และนักศึกษาได้สิ่งที่ดีที่สุด หากนักศึกษามีรายวิชาที่ต้องการเรียนในสถานที่อื่น ที่มหาวิทยาลัยของตัวเองยังไม่สอน สามารถไปเรียนได้ เราจะเกิดการแลกเปลี่ยนตลอดเวลา นักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนภาคเหนือ อาจจะมีบางรายวิชาอยากจะไปอยู่ภาคใต้ก็สามารถทำได้ เกิดการหมุนเวียน การหลากหลายของประสบการณ์สอดคล้องกับการศึกษาตลอดชีวิต สามารถเรียนในสิ่งที่ตนเองสนใจได้ และสามารถประกอบร่างหลักสูตรตามที่ตนเองสนใจได้ ขณะนี้ดำเนินการทั้งรัฐและเอกชนและในกำกับของรัฐด้วย