รพ.ร้อยเอ็ด ชี้นโยบาย "มะเร็งรักษาทุกที่" ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาเร็ว

รพ.ร้อยเอ็ด ชี้นโยบาย "มะเร็งรักษาทุกที่" ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาเร็ว

รพ.ร้อยเอ็ด ชูจุดเด่นให้บริการดูแล "รักษามะเร็ง" ตั้งแต่การรณรงค์ให้ความรู้ คัดกรองผู้ป่วยในระยะเริ่มต้น การรักษาด้วยรังสีบำบัด เคมีบำบัด ไปจนถึงการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย เผยนโยบาย "มะเร็งรักษาทุกที่" ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการรักษาได้เร็วขึ้นมาก

นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลร้อยเอ็ด กล่าวถึงการดำเนินงานตามนโยบายมะเร็งรักษาได้ทุกที่ หรือ Cancer anywhere ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ว่า นโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องการให้ผู้ป่วยมะเร็งสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ สิทธิบัตรทอง 30 บาท เข้าถึงการรักษาง่ายขึ้น ไม่จำเป็นต้องไปถึงโรงพยาบาลใหญ่ๆ

 

บางครั้งประชาชนไม่ทราบว่าโรงพยาบาลในหัวเมืองต่างจังหวัดสามารถให้บริการรังสีรักษาได้ สามารถให้บริการเคมีบำบัดได้ หรืออาจเข้าใจว่าการรักษาในเมืองใหญ่ดีกว่า พอคนไข้มะเร็งไปแออัดในโรงพยาบาลใหญ่ก็ทำให้ระยะเวลารอคอยนานขึ้น เสียโอกาสในการรักษาจนอาการลุกลาม

 

นพ.ชาญชัย กล่าวอีกว่า ในส่วนของโรงพยาบาลร้อยเอ็ดนั้น มีจุดเด่นที่ให้บริการครบวงจร ตั้งแต่การรณรงค์ให้ความรู้เรื่องการไม่ทานปลาดิบ เรื่องเกี่ยวกับมะเร็งเต้านม มะเร็งปอด ฯลฯ มีพยายาบาลวิชาชีพที่คัดกรองมะเร็งระยะเริ่มต้นในพื้นที่ เช่น ปากมดลูก มะเร็งตับ มะเร็งเต้านม เมื่อพบก็จะส่งมาที่โรงพยาบาลร้อยเอ็ดเพื่อตรวจยืนยันอีกครั้ง ในส่วนของมะเร็งลำไส้มีการสนับสนุนงบประมาณค่าตรวจนอกเวลาจาก สปสช. ในการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ทำให้ตรวจได้มากขึ้น จัดระบบบริการได้ดีขึ้น

 

รพ.ร้อยเอ็ด ชี้นโยบาย \"มะเร็งรักษาทุกที่\" ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาเร็ว

เรื่องมะเร็งตับก็มีการผ่าตัดสูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศ หรือมะเร็งปากมดลูก ขณะนี้มีการนำร่องที่ อ.พนมไพร ให้ผู้ป่วยเก็บสิ่งส่งตรวจด้วยตัวเองเนื่องจากบางครั้งผู้หญิงไม่อยากขึ้นขาหยั่งให้แพทย์ในโรงพยาบาลตรวจ ซึ่งถ้าผลการดำเนินงานพบว่าวิธีนี้มีความแม่นยำสูงก็จะขยายไปทั้งจังหวัด อย่างไรก็ดี ในส่วนของมะเร็งท่อน้ำดีนั้น แม้จะดำเนินการมา 20-30 ปี แต่ก็ยังมีช่องว่างให้พัฒนาอยู่มากเนื่องจากวัฒนธรรมคนอีสานมักจะทานปลาดิบกับครอบครัวมาตั้งแต่เล็กๆ ทำให้มีปัญหามะเร็งท่อน้ำดีค่อนข้างมาก

 

"เรามีการรักษาอย่างครบวงจร ทั้งการฉายแสง ฝังแร่ รวมทั้งกลืนแร่ไอโอดีน 131 ซึ่งเป็นจังหวัดแรกที่มีบริการนี้ในเขตสุขภาพที่ 7 ตรงนี้อยากฝาก สปสช.ว่าการรักษาด้วยวิธีกลืนแร่ไอโอดีน 131 มีต้นทุนสูง โรงพยาบาลเบิกเงินได้ในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็ง แต่หากเป็นผู้ป่วยไฮเปอร์ไทบรอยด์แทบไม่ได้เลย จึงฝาก สปสช.พิจารณาในเรื่องนี้ด้วย" นพ.ชาญชัย กล่าว

 

นอกจากนี้ เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างครบวงจร โรงพยาบาลยังมีมีบ้านพักผู้ป่วยมะเร็ง เพื่อให้ผู้ป่วยใช้พักฟรีระหว่างทำการฉายแสง เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางและลดความเหนื่อยล้าจากการฉายรังสี รวมทั้งมีบริการดูแลต่อเนื่องที่บ้าน และมีศูนย์ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายอีกด้วย

 

ด้าน นพ.ไพบูลย์ เพ็ญสุวรรณ รองผู้อำนวยการด้านการพัฒนาศูนย์มะเร็ง โรงพยาบาลร้อยเอ็ด กล่าวว่า หลังจากดำเนินการตามนโยบายมะเร็งรักษาที่ไหนก็ได้มาตั้งแต่ 1 ม.ค. 2564 สิ่งที่เป็นผลลัพธ์ในขณะนี้ คือ เครือข่ายสุขภาพเชื่อมโยงในระดับเขตและจังหวัด จากเดิมที่ในเขตสุขภาพที่ 7 มีประมาณ 8 โรงพยาบาลที่ให้บริการรักษามะเร็ง ในปี 2564 มีโรงพยาบาลเพิ่มเข้ามาในเครือข่ายอีก 4 แห่ง และปีนี้ก็ตั้งเป้าจะขยายจำนวนโรงพยาบาลเครือข่ายเพิ่มอีก

 

รพ.ร้อยเอ็ด ชี้นโยบาย \"มะเร็งรักษาทุกที่\" ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาเร็ว

"ผลงานโรงพยาบาลร้อยเอ็ดเป็นอันดับ 1 ของประเทศตามตัวชี้วัดในระบบฐานข้อมูลมะเร็ง ส่วนการรักษาด้วยรังสีก็สามารถให้บริการได้เร็วขึ้นเนื่องจากได้เครื่องฉายรังสีมาเพิ่มอีก 1 ครั้ง  และในส่วนของระดับเขต ประชาชนก็ลดระยะเวลารอคอยการเข้าถึงบริการ โดยสามารถเข้าถึงบริการต่างๆ เร็วขึ้นชัดเจนเมื่อเทียบกับปี 2563 ก่อนมีนโยบายนี้ โดยตัวเลขดีขึ้น 8-10%" นพ.ไพบูลย์ กล่าว

 

สิทธิบัตรทองมะเร็ง

 

ผศ.ภญ.ดร.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช. ได้จัดชุดสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับมะเร็งให้แก่ผู้ใช้สิทธิบัตรทองไว้หลายรายการ ตั้งแต่การตรวจคัดกรองเบื้องต้น ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งบางชนิด การตรวจเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรคมะเร็งด้วยเครื่องมือต่างๆ ตลอดจนการรักษาทั้งการผ่าตัด การฉายแสง หรือเคมีบำบัด หรือแม้แต่การดูแลแบบประคับประคองในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย

 

อย่างไรก็ดี ในอดีตที่ผ่านมาผู้ป่วยมะเร็งสิทธิบัตรทองยังคงมีข้อจำกัดเนื่องจากมีข้อกำหนดให้ไปรับการรักษาที่สถานบริการใกล้บ้าน แต่บางครั้งสถานบริการใกล้บ้านไม่สามารถรักษาโรคที่มีความซับซ้อนอย่างโรคมะเร็งได้ ต้องส่งตัวไปโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่า อีกทั้งต้องรอคิวนานในการบางขั้นตอนการรักษา เช่น การทำ PET CT การฉายรังสี ฯลฯ ทำให้ประชาชนไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีจนโรคลุกลามหรือถึงขั้นเสียชีวิต

 

ด้วยเหตุนี้ กระทรวงสาธารณสุขและ สปสช. จึงร่วมกันจัดระบบบริการให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ หรือเป็นมะเร็งรักษาทุกที่ กล่าวคือ เมื่อรู้ตัวว่าเป็นมะเร็งสามารถไปรักษาได้ทุกที่ที่มีบริการ ไม่จำเป็นต้องรอการรักษาหรือการส่งตัวจากหน่วยบริการใกล้บ้าน รวมทั้งการใช้ทรัพยากรในแต่ละพื้นที่ เช่น เครื่อง PET CT เครื่องฉายรังสีรักษา อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งได้รับความสะดวก รวดเร็ว ลดระยะเวลารอคอยในการรับบริการ และได้รับการรักษาที่ต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีหน่วยบริการที่รองรับนโยบายมะเร็งรักษาที่ไหนก็ได้กว่า 245 แห่งทั่วประเทศ และโรงพยาบาลร้อยเอ็ดก็เป็นหนึ่งในหน่วยบริการที่ว่านี้ที่ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ทั้งไลน์ สปสช. ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

 

รพ.ร้อยเอ็ด ชี้นโยบาย \"มะเร็งรักษาทุกที่\" ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาเร็ว