เสริมแกร่ง “อาหารไทย” ด้วยนวัตกรรม ดัน "ซอฟต์พาวเวอร์"

เสริมแกร่ง “อาหารไทย” ด้วยนวัตกรรม ดัน "ซอฟต์พาวเวอร์"

แม้ในช่วงโควิด-19 หลายภาคธุรกิจได้รับผลกระทบ แต่ "อาหารไทย" ถือเป็น 1 ใน 3 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ที่ยังมีทิศทางเป็นบวก การส่งเสริมผู้ประกอบการต้องอาศัยเทคโนโลยี นวัตกรรม งานวิจัย เพื่อผลักดัน อาหารไทย ที่เป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมให้เป็นที่รู้จัก เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน

"อาหารไทย" เป็น 1 ใน 15 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ของการพัฒนา "เศรษฐกิจสร้างสรรค์" โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์บนฐานขององค์ความรู้ ทรัพย์สินทางปัญญา และการศึกษาวิจัยซึ่งเชื่อมโยงกับวัฒนธรรม ขณะเดียวกัน อาหารไทย ก็เป็นหนึ่งใน ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ที่มีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่สำคัญ ดังนั้น การจะพัฒนา อุตสาหกรรมกรรมอาหาร ของไทยให้ก้าวหน้า จำเป็นต้องอาศัยการพัฒนาเทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม เพื่อยกระดับผู้ประกอบการและผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ตลาด ในโลกที่มีการแข่งขันสูง

 

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2565 ที่ศูนย์การค้าสามย่าน มิตรทาวน์ กรุงเทพฯ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดตลาดนวัตกรรมสร้างอาชีพครั้งแรก “เคเอ็มไอทีแอล อินโนเก็ต 2022” (KMITL INNOKET 2022) รวมนวัตกรรมที่สามารถสร้างสรรค์เป็นอาชีพใหม่ ต่อยอดธุรกิจ หรือเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ หนุนสร้างรายได้ให้กับประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19

 

พร้อมกับงานเสวนานวัตกรรมสร้างโอกาสทางธุรกิจ - สร้างอาชีพใหม่ จาก 3 องค์กรชั้นนำ ประกอบด้วย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) (CEA) สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สู่การต่อยอดเป็นไอเดียในการสร้างอาชีพ-การทำธุรกิจ ตลอดจนสร้างโอกาสทำกินรูปแบบใหม่ให้กับผู้ต้องขังในเรือนจำและผู้พ้นโทษ เป็นต้น

 

เสริมแกร่ง “อาหารไทย” ด้วยนวัตกรรม ดัน "ซอฟต์พาวเวอร์"

เศรษฐกิจสร้างสรรค์ คืออะไร

 

ข้อมูลจาก สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) (CEA) ระบุว่า เศรษฐกิจสร้างสรรค์ คือ การพัฒนาระบบเศรษฐกิจโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์บนฐานขององค์ความรู้ ทรัพย์สินทางปัญญา และการศึกษาวิจัยซึ่งเชื่อมโยงกับวัฒนธรรม พื้นฐานทางประวัติศาสตร์การสั่งสมความรู้ของสังคม เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อใช้ในการพัฒนาธุรกิจ การผลิตสินค้าและบริการในรูปแบบใหม่ซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจหรือคุณค่าทางสังคม

 

15 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์

อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศไทย ประกอบด้วย 15 สาขา คือ

1) งานฝีมือและหัตถกรรม

2) ดนตรี

3) ศิลปะการแสดง

4) ทัศนศิลป์

5) ภาพยนตร์

6) การแพร่ภาพและกระจายเสียง

7) การพิมพ์

8) ซอฟต์แวร์

9) การโฆษณา

10) การออกแบบ

11) การให้บริการด้านสถาปัตยกรรม

12) แฟชั่น

13) อาหารไทย

14) การแพทย์แผนไทย

15) การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

 

“อาหารไทย” ต้นทุนทางวัฒนธรรม

 

“ดร.ชาคริต พิชญางกูร” ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) (CEA) กล่าวในช่วงเสวนาโดยระบุว่า ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) เป็นพลังอย่างหนึ่ง ต้นทุนทางวัฒนธรรมของไทยมีเยอะมาก และ “อาหาร” เป็นหนึ่งในนั้น นอกจากนี้ยังมี มวยไทย รำไทย งานคราฟต์ เป็นต้น ทั้งหมดเป็นซอฟต์พาวเวอร์

 

อาหารไทย ทำกำไร +7.61%

 

เมื่อดูข้อมูลจาก CEA เกี่ยวกับธุรกิจสร้างสรรค์ไทย 2564 ที่ผ่านมา พบว่า แม้ผลประกอบการมีแนวโน้มลดลง สืบเนื่องจากปัญหาโควิด-19 ที่ยืดเยื้อ ส่งผลต่อภาคธุรกิจสร้างสรรค์ มีศักยภาพการทำกำไรลดลง ธุรกิจสร้างสรรค์ที่มีความสามารถในการทำกำไร มีจำนวนลดลงเฉลี่ย 17.1% จำนวนกิจการที่ขาดทุนเพิ่มขึ้น 14%

แต่ยังพบว่าธุรกิจใน 3 กลุ่มอุตสาหกรรม ยังเติบโตได้สวนทาง จากผลพลอยได้ของมาตรการควบคุมโรคและ Work from home ได้แก่ ซอฟต์แวร์ อาหารไทย และงานฝีมือและหัตถกรรม (สินค้าในกลุ่มเฟอร์นิเจอร์ ของแต่งบ้าน เครื่องประดับ และอุปกรณ์เครื่องเขียน)

 

ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ “เชิงบวก” จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ต้องใช้ชีวิตอยู่ภายใต้มาตรการควบคุมโรค ทำงานหรือเรียนหนังสือ ภายในบ้านเป็นหลัก ส่งผลให้กลุ่มสินค้าที่จำเป็นต่อวิถี Work from home ได้รับยอดซื้อเพิ่มขึ้นจนสามารถทำกำไรได้ในช่วงนี้

 

จำนวนธุรกิจสร้างสรรค์ 79,096 ราย

จำแนกตามขนาด ได้แก่

  • ขนาด S 96.8%
  • ขนาด M 2.6%
  • ขนาด L 0.6%

 

อุตสาหกรรมทำกำไร และ เฝ้าระวัง

จากการประเมินศักยภาพอุตสาหกรรม ที่มีกำไร และ เฝ้าระวัง ได้แก่

กลุ่มมีกำไร

  • งานฝีมือและหัตถกรรม +17.4%
  • อาหารไทย 7.61%
  • ซอฟต์แวร์ +2.5%

กลุ่มเฝ้าระวัง

  • ท่องเที่ยววัฒนธรรม -57.02%
  • ภาพยนตร์ -1.44%
  • ดนตรี -1.41%
  • ทัศนศิลป์ -0.61%
  • แพทย์แผนไทย -0.42%

 

ดร.ชาคริต กล่าวต่อไปว่า หน้าที่ของ CEA คือ การบ่มเพาะให้ความรู้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม ถัดมา คือ สนับสนุนผ่านคอร์สเรียนต่างๆ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และการสร้างบรรยากาศ ความคิดสร้างสรรค์ ให้เกิดขึ้น รวมถึงสร้างย่านชุมชน เช่น ย่านเจริญกรุง ในแต่ละย่านสร้างสรรค์จะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยเราเข้าไปสร้างความเชื่อมต่อและทำให้เขานำของที่เขามี มาสร้างมูลค่าได้มากขึ้น การเอาอาหาร มาต่อยอดซอฟต์พาวเวอร์ จะนำเทคโนโลยีมาใส่อย่างไร

 

แต่ละอุตสาหกรรมมีทางของเขา ตอนนี้เราพยายามหาทางเชื่อมโยง หากสร้างความเชื่อมโยงอุตสาหกรรมได้ จะทำให้ทุกอุตสาหกรรมไปพร้อมกัน ขณะเดียวกัน เรื่องของอาหารเป็น 1 ในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูง เพราะอาหารไทยเป็นสิ่งที่คนรู้จัก ดังนั้น เราพยายามหาคอนเทนต์ใหม่ๆ หรือการสื่อสารใหม่ๆ ให้อาหารไทยเป็นที่รู้จักกว้างขึ้น

 

ซอฟต์พาวเวอร์ ทุกเรื่องเชื่อมโยงกันทั้งหมด ทั้งนี้ หลังเปิดประเทศ จะมีงานใหญ่ที่จัดร่วมกับ ททท. โดยพยายามดึงทุกอุตสาหกรรมเข้ามามีส่วนร่วมให้ได้มากที่สุด และ อยู่ระหว่างการศึกษาเชิงลึกว่าซอฟต์พาวเวอร์ อะไรที่จะสร้างอิมแพคได้มาก ใช้งบน้อย และเห็นผลไว เป็นเป้าหมายในการต่อยอดในเรื่องนี้

 

ใช้ดิจิทัล ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพสินค้า

 

ผศ.ดร.วรรณรัช สันติอมรทัต ประธานคณะอนุกรรมการแผนงานดิจิทัลแพลตฟอร์มหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ให้ความเห็นว่า เราเข้าสู่โลกเทคโนโลยีดิจิทัล เกิดการดิสรัปชัน เทคโนโลยี AI แทรกเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวัน สิ่งเหล่านี้ เปรียบเสมือนฐานของหลายอุตสาหกรรมและกลายเป็นไลฟ์สไตล์ ดิจิทัลจะเข้ามาช่วยให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง สามารถดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ และเป็นตัวช่วยสำคัญให้ประเทศ หาโอกาสใหม่ๆ โดยเฉพาะไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพ เทคโนโลยี จึงทำให้เกิดอะไรใหม่ๆ และโอกาสให้กับเด็กรุ่นใหม่

 

เสริมแกร่ง “อาหารไทย” ด้วยนวัตกรรม ดัน "ซอฟต์พาวเวอร์"

 

ทั้งนี้ บพข. มีหน้าที่ในการสนับสนุนทุนต่อยอด นวัตกรรม ให้ทดลองออกสู่ตลาดจริง เพื่อนำมาปรับปรุงสินค้า ต่อยอดธุรกิจให้ถึงมือผู้บริโภค สร้างมูลค่าให้ประเทศได้จริง ทั้งนี้ ที่ผ่านมา บพข. มีการทำงานร่วมกับ คณะอุตสาหกรรมอาหาร สจล. พัฒนานวัตกรรม ลดต้นทุน รวมถึงระบบการขนส่งควบคุมอุณหภูมิ และเข้าไปสนับสนุนทุนในเรื่องการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารอีกด้วย

 

สร้างโอกาส ด้วยธุรกิจอาหารปลอดภัย

 

ด้าน "นางสาวชลธิช ชื่นอุระ" ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมข้อกำหนดกรุงเทพและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด สถาบันเพื่อการยุติธรรม แห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TJI) กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมา TJI ส่งเสริมให้กระบวนการยุติธรรมไทยพัฒนา หนึ่งในการทำงาน คือ ทำงานกับผู้ที่อยู่ในเรือนจำ แต่ละปีมีผู้ที่ออกจากเรือนจำราว 1 แสนคน 1 ใน 3 กลับเข้าไปเรือนจำในระยะเวลา 3 ปี เพราะไม่มีโอกาสในการเริ่มใหม่ ดังนั้น TIJ ทำโครงการให้ผู้ที่ออกจากเรือนจำได้ประกอบอาชีพอิสระ โดยเฉพาะการขายอาหารที่ต้องคำนึงถึงเรื่องความสะอาด และปลอดภัย

 

เสริมแกร่ง “อาหารไทย” ด้วยนวัตกรรม ดัน "ซอฟต์พาวเวอร์"

 

จึงร่วมกับคณะอุตสาหกรรมอาหาร ในการออกแบบหลักสูตรผู้ที่พ้นโทษมาเรียน ให้มีความรู้เรื่องอาหารสะอาด อร่อย โดยเฉพาะสตรีทฟู้ด ซึ่งเป็นจุดเด่นของประเทศไทย เช่น นวัตกรรมรถเข็นระบบไฮยีน ที่นำมาใช้ในโครงการฯ ปัจจุบัน มีการอบรมไปแล้ว 3 รุ่น จำนวน 35 ราย ทั้ง กทม. ปริมณฑล และทำงานร่วมกับเครือข่ายอีกกว่า 23 แห่ง

 

โดยในอนาคต ตั้งเป้าให้ สจล.เป็น Training Hub ต่อยอดองค์ความรู้ และร่วมมือกับสถาบันการศึกษาพื้นที่อื่นๆ กระจายความรู้ โดยใช้นวัตกรรมมาต่อยอด สร้างพื้นที่ให้กลุ่มไร้โอกาสในสังคม เพื่อให้มีโอกาสมากขึ้น

 

เสริมแกร่งผู้ประกอบการ ด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี

 

รศ. ดร.อนุวัฒน์ จางวนิชเลิศ รักษาการ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันในโลกธุรกิจมีอัตราการแข่งขันที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์หรือกระบวนการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างความแตกต่าง ผ่านการผนวกเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ ทั้งเพื่อลดต้นทุนในการทำธุรกิจและสร้างประสบการณ์ใหม่แก่ผู้บริโภค

 

การจัดงาน “เคเอ็มไอทีแอล อินโนเก็ต 2022” (KMITL INNOKET 2022) ตลาดนวัตกรรมสร้างอาชีพและต่อยอดธุรกิจขึ้น มุ่งนำเสนอให้เห็นถึงโอกาสของการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีไปต่อยอดธุรกิจ เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการที่สร้างความแตกต่างเหนือคู่แข่ง หรือกระทั่งสร้างเป็นอาชีพใหม่เพื่อเป็นรายได้เสริมในอนาคต หลังสถานการณ์โควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและประชาชนจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมุ่งสร้างมาตรฐานสินค้าที่ผลิตภายในประเทศให้แข็งแรงและเติบโตพร้อมขยายโอกาสไปสู่ตลาดโลก

 

เสริมแกร่ง “อาหารไทย” ด้วยนวัตกรรม ดัน "ซอฟต์พาวเวอร์"

 

สำหรับภายในงาน ได้มีการจัดแสดงไฮไลท์นวัตกรรมที่ได้รับการพัฒนาโดยคณาจารย์ นักวิจัยและนักศึกษา สจล. จำนวนมาก อาทิ เครื่องล้างรากผักอัตโนมัติ (Smart Root Washer) นวัตกรรมที่ช่วยให้วิสาหกิจชุมชนและผู้ที่ปลูกผักในพื้นที่จำกัด สามารถคัดล้างผลผลิตให้สะอาดในมาตรฐานเดียวกัน และพร้อมจัดส่งถึงมือผู้บริโภคได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ตลอดจนลดการใช้แรงคน และลดการสูญเสียที่เกิดแรงงานลงไปได้ โดยนวัตกรรมดังกล่าวมีราคาเริ่มต้นที่ 25,000 บาท

 

แผ่นตรวจวัดสารเคมีชนิดใช้ซ้ำได้มากกว่า 30 ครั้ง นวัตกรรม Re-SERS Chips แผ่น SERS ถูกพัฒนาเพื่อใช้ตรวจวัดสารเคมี ที่มีความสามารถในการวิเคราะห์เอกลักษณ์ของสารเคมีได้อย่างแม่นยำ และสามารถตรวจสอบร่องรอยของสารเคมีที่มีความเข้มข้นต่ำได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งสามารถใช้ตรวจสอบสารเคมีได้หลายประเภท เช่น ยาฆ่าแมลง สารวัตถุระเบิด ส่วนประกอบของยา ยาเสพติด เป็นต้น อีกทั้งยังมีอายุการใช้งานนานกว่า 6 เดือน โดยนวัตกรรมดังกล่าวราคาเริ่มต้น 200,000 บาท

 

เสริมแกร่ง “อาหารไทย” ด้วยนวัตกรรม ดัน "ซอฟต์พาวเวอร์"

 

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีบูธ ‘คลินิกธุรกิจอาหาร’ (Pop-Up Clinic) จากคณะอุตสาหกรรมอาหาร ที่พร้อมให้คำปรึกษาสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจอาหารถึงกลยุทธ์ในการบริหารกิจการ พร้อมด้วยหลักสูตรระยะสั้น (Short Course) สำหรับผู้เริ่มต้นธุรกิจตอบโจทย์เทรนด์ธุรกิจร้านอาหารที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นทั้งภาคทฤษฎีและการปฏิบัติจริง

 

"สจล. มุ่งส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการทุกระดับ ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม รวมไปถึงความคิดสร้างสรรค์ในการดำเนินธุรกิจ ทั้งด้านการพัฒนาสินค้าและบริการที่สามารถสร้างความแปลกใหม่ให้สินค้า เพื่อสร้างจุดขายให้กับผู้บริโภค อีกทั้งยังสามารถนำมาต่อยอดในการตลาดใหม่ๆ เพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจแบบก้าวกระโดด" รศ. ดร.อนุวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย