ไทยคัดกรอง "ฝีดาษลิง"วันแรก ยังไม่พบผู้เข้าข่ายสงสัยสอบสวนโรค

ไทยคัดกรอง "ฝีดาษลิง"วันแรก ยังไม่พบผู้เข้าข่ายสงสัยสอบสวนโรค

ไทยคัดกรองผู้เดินทางจากประเทศเสี่ยงเฝ้าระวังฝีดาษลิงวันแรก ยังไม่พบผู้เข้าข่ายสงสัย ผู้เชี่ยชาญเร่งพิจารณายกระดับเป็น “โรคติดต่ออันตราย”หรือไม่ พร้อมเคาะวันกักตัวผู้ติดเชื้อ-สัมผัสเสี่ยงสูง กำชับรพ.-คลินิกเฉพาะทางสังเกตอาการผู้ป่วยร่วมประวัติเสี่ยง

    เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 24 พ.ค.2565 กองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ได้เริ่มคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากประเทศเสี่ยงซึ่งมีโรคฝีดาษการระบาดภายในประเทศเพื่อเฝ้าระวังโรคแล้ว  เบื้องต้นเน้นประเทศที่มีการระบาดในประเทศแล้ว คือ อังกฤษ สเปน โปรตุเกส และบางประเทศในแอฟริกากลาง แต่อาจจะมีประเทศอื่นเพิ่มหรือลดได้ ทั้งนี้ ผู้เดินทางจะได้รับแจกบัตรเตือนสุขภาพ(Health Beware Card) เพื่อให้ทราบถึงอาการที่ต้องเฝ้าระวังและรีบไปพบแพทย์ รวมถึง แจ้งประวัติการเดินทาง 

          “เบื้องต้นผู้ที่มีอาการเข้าได้กับโรครวมถึง มาจากประเทศเสี่ยง มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ จะเข้านิยามผู้เข้าข่ายต้องสงสัยสอบสวนโรค แต่คณะผู้เชี่ยวชาญจะพิจารณานิยามอีกครั้ง  ทั้งนี้ หากเจอผู้เดินทางที่เข้าข่ายตามนิยาม จะต้องส่งตรวจเชื้อภายใน 24 ชั่วโมง และใช้เวลา 24-48 ชั่วโมงจะทราบผล หากเป็นลบ ก็ปล่อยตัวได้ ตอนนี้ยังไม่มีรายงานการส่งตรวจเชื้อในผู้เดินทาง”นพ.จักรรัฐกล่าว  

     นพ.จักรรัฐ กล่าวด้วยว่า ตอนนี้องค์การอนามัยโลกยังไม่ได้ประกาศยกระดับการระบาดของโรคฝีดาษลิง มีเพียงการประชุมสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่ามีการระบาดผิดปกติ ในยุโรป ต้องติดตามใกล้ชิด คาดว่าจะมีการประชุมอีกเร็วๆ นี้ และพิจารณาตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป แต่จากการติดตามในช่วง 2-3 วันที่ผานมา ตัวเลขไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก ยังต้องติดตามต่อไปในระยะนี้
          ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการพิจารณายกระดับโรคฝีดาษลิงเป็นโรคติดต่ออันตรายหรือไม่ นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า วันที่ 24 พ.ค.2565 จะมีการหารือร่วมกันของผู้เชี่ยวชาญต่างๆในเรื่องฝีดาษลิง ซึ่ง เพราะที่ผ่านมา โรคฝีดาษลิงไม่มีในประเทศไทยมาก่อน  ซึ่งการจะกำหนดเป็นโรคติดต่ออันตรายหรือไม่  ต้องมีการกำหนดเกณฑ์  เสนอคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขต่อไป  

         ถามถึงการพิจารณาเกี่ยวกับการให้วัคซีน นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ยังต้องประเมินสถานการณ์ภาพรวมอีกครั้ง เพราะตอนนี้ยังมีผู้ติดเชื้อนอกแอฟริกาหลัก 100 ราย ต้องคาดการณ์ก่อนว่าสถานการณ์จะรุนแรงขึ้นหรือไม่ เนื่องจากการปลูกฝีไม่ใช่ว่าทำวันนี้แล้วจะสามารถทำได้ทันที ต้องเตรียมหลายเรื่อง และต้องประเมินว่าใครจะใช้ได้ หรือไม่ได้  ซึ่งขณะนี้กรมกำลังติดตามข้อมูลและประเมินความจำเป็น เพราะที่ผ่านมาทั่วโลกกวาดล้างไปหมดแล้ว ดังนันต้องประเมินสถานการณ์ที่จะมาสอดรับกันด้วย 

     “โดยหลักการ คนที่เคยปลูกมาแล้วจะมีความเสี่ยงน้อยกว่า เพราะฉะนั้นหากจำเป็นต้องปลูกฝี คนที่เสี่ยงที่ต้องได้รับการปลูกฝีก่อน คือ คนที่ใกล้ชิดคนติดเชื้อ  บุคลากรการแพทย์ที่ต้องดูแลคนไข้ แต่คนอายุ 45 ขึ้นไปอาจจะไม่เสี่ยงมาก เพราะเคยได้รับการปลูกฝีมาก่อนแล้ว ส่วนประชาชนทั่วไปก็เป็นคนที่สัมผัสใกล้ชิดคนติดเชื้อ ต้องดูข้อมูลทางระบาดเพิ่มเติมว่าจะเป็นกลุ่มไหนบ้าง อาจจะดูที่กลุ่มเดินทางไปประเทศที่มีการติดเชื้อ แต่ตอนนี้ยังประเมินไม่ได้ว่าเป็นอย่างไรบ้าง จนกว่าจได้ข้อมูลมากกว่านี้ว่าที่แอฟริกา ยุโรป การระบาดไปถึงตรงไหนบ้าง ตอนนี้ยังเพิ่งเริ่มต้น มีผู้ติดเชื้อหลักร้อยราย แต่ไทยก็ไม่ประมาท”นพ.จักรรัฐกล่าว   

       ถามถึงการกำหนดวันกักตัวในผู้ที่ยืนยันการติดเชื้อและผู้สัมผัสเสี่ยงสูงของประเทศไทย นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า  โดยหลัการคือกักเท่าจำนวนวันฟักตัวที่นานที่สุด ซึ่งโรคฝีดาษลิงมีระยะฟักตัว 5-21 วัน แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ประมาณ 2 สัปดาห์ จึงต้องหารือกับผู้เชี่ยวชาญว่าจะกักตัวอย่างไร
       นพ.จักรรัฐ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ปลัดสธ.ได้กำชับทุกรพ. รวมถึงคนินิกเฉพาะทาง ได้มีความรู้เข้าใจโรค เพื่อนำไปสู่การเฝ้าระวัง ตรวจวินิจฉัยและรักษา  รวมถึงขณะนี้ที่ด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเที่ยวบินที่มาจากประเทศเสี่ยงซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศแถวยุโรปเป็นหลักให้มีการตรวจคัดกรองเข้มงวด

        ส่วนคนไทยที่จะเดินทางไปยังต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศที่พบการติดเชื้อ เน้นย้ำเรื่องเฝ้าระวังดูแลตนเอง โดยเฉพาะการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้คน และการรวมกลุ่มกิจกรรมในคนหมู่มาก ซึ่งการป้องกันตนเองทั้งสวมหน้ากาก ล้างมือ และเว้นระยะห่างเป็นแนวปฏิบัติที่ยังจำเป็นในการป้องกันโรค  โรคฝีดาษลิงเป็นโรคติดต่อจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ต่างจากโควิด-19 การติดเชื้อผ่านทางเดินหายใจเป็นไปได้แต่น้อย ขณะนี้ประเทศไทยเปิดให้มีการเดินทางระหว่างประเทศมากขึ้น จึงต้องเฝ้าระวังเพื่อตรวจจับให้ทัน