เช็ค รายชื่อประเทศเสี่ยง "ฝีดาษลิง" ไทยยกระดับเฝ้าระวัง คัดกรองผู้เดินทาง

เช็ค รายชื่อประเทศเสี่ยง "ฝีดาษลิง" ไทยยกระดับเฝ้าระวัง คัดกรองผู้เดินทาง

ไทยยกระดับเฝ้าระวัง “ฝีดาษลิง” กรมตั้งศูนย์ EOC คัดกรองผู้เดินทางเข้าแจก “บัตรเตือนสุขภาพ” ทุกคน ทุกสายการบิน เน้นจากอังกฤษ - สเปน - โปรตุเกส - แอฟริกากลาง แจ้งอาการไข้ - ตุ่ม - เดินทางจากประเทศเสี่ยงรีบพบแพทย์ เข้าข่ายสงสัย ส่งตรวจเชื้อกรมวิทย์ ยันไทยยังไม่เคยมี

        เมื่อวันที่ 23 พ.ค.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการ กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงการเฝ้าระวังโรคฝีดาษลิง(monkeypox)ว่า  กรมได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข(EOC) กรณีโรคฝีดาษลิง เพื่อเฝ้าระวัง คัดกรองผู้เดินทางจากประเทศที่มีการระบาด ช่วยให้ตรวจจับกลุ่มเสี่ยงได้รวดเร็วขึ้น และป้องกันการแพร่ระบาดในประเทศ หลังพบการแพร่ระบาดในหลายประเทศ และสามารถติดต่อจากคนสู่คน
         

“ไทยต้องรีบยกระดับศูนย์ขึ้นมา เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถรับมือได้ทัน เพราะโรคนี้ยังไม่มียาเฉพาะรักษา ต้องรักษาประคับประคอง แม้ว่าในประเทศยังไม่มีผู้ติดเชื้อนี้ และประเทศไทย ก็ไม่เคยเจอโรคนี้มาก่อน รวมถึง การจัดตั้งศูนย์ฯ เป็นระดับกรมเพื่อเฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์ในต่างประเทศก่อน ว่าแต่ละประเทศมีข้อมูลอะไรเพิ่มเติม ที่พอจะบอกได้ว่าเกิดอะไรขึ้นในประเทศนั้นๆ ที่กำลังมีการระบาด มีการแพร่ระบาดถึงระดับไหน ซึ่งข้อมูลคงจะทยอยเข้ามา” นพ.จักรรัฐ กล่าว   

 สำหรับการเฝ้าระวังโรคภายในประเทศคือ คนที่เดินทางเข้าประเทศ ซึ่งที่ด่านที่สนามบินต่างๆ อาจจะไม่เห็นอาการ เพราะว่าตอนเริ่มต้นอาการอาจจะน้อยหรือไม่มีอาการ แต่เมื่อมาถึงประเทศไทย เกิดตุ่มหนอง ตุ่มน้ำ  จะเน้นเฝ้าระวังในประเทศที่มีความเสี่ยงสูง ทั้งประเทศแอฟริกากลาง เช่น ไนจีเรีย และคองโก และประเทศในยุโรปที่มีการแพร่ระบาดภายในประเทศแล้ว คือ อังกฤษ สเปน โปรตุเกส
    

โดยที่สนามบินจะมีการคัดกรองอาการในผู้เดินทางมากับไฟลท์บินจากประเทศเหล่านี้ ดูว่ามีแผลหรืออะไรหรือไม่ แบบเดินผ่านๆ และแจกบัตรเตือนสุขภาพ(Health beware card) เป็นคิวอาร์โค้ดให้สแกนทุกคนที่เดินทางมาจากประเทศดังกล่าว ซึ่งหลักๆ จะระบุว่า หากมีอาการ เช่น ไข้ มีตุ่มให้รายงานเข้าระบบ และรีบไปพบแพทย์ในรพ.ที่ใกล้ที่สุด รวมถึง แจ้งประวัติการเดินทางจากประเทศกลุ่มเสี่ยงให้เจ้าหน้าที่ทราบด้วย 

      นอกจากนี้ จะมีการเฝ้าระวังที่สถานพยาบาล  โดยหากพบผู้ป่วยที่เข้าข่ายสงสัย คือ มีอาการเข้าได้กับโรคและมีประวัติเดินทางจากประเทศเสี่ยง ที่กำลังมีโรคนี้ระบาดข้างต้น ให้สถานพยาบาลเก็บตัวอย่างเพื่อส่งตรวจหาเชื้อ ซึ่งประเทศไทยสามารถตรวจเชื้อนี้ได้ แต่ยังทำได้ที่ส่วนกลางคือ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และรายงานเข้าระบบการเฝ้าระวัง  อย่างไรก็ตาม  หากมีผู้ติดเชื้อเข้าในประเทศไทย อาจจะต้องมีกระจายให้ศูนย์ในต่างจังหวัดช่วยตรวจ  

       

ผู้สื่อข่าวถามว่า เกิดอะไรขึ้นถึงมีการระบาดโรคนี้ในยุโรป นพ.จักรรัฐ กล่าวอีกว่า โรคฝีดาษลิงมีโรคนี้ประปรายในแอฟริกา มานานหลายปีแล้ว แต่ที่ผ่านมา ไม่มีคนไปนำโรคออกมาจากภูมิภาคดังกล่าว ครั้งนี้มีคนไปนำโรคออกมา ไปติดเชื้อมาจากประเทศในแอฟริกา และบินกลับนำเชื้อเข้ามาในยุโรปทั้งอังกฤษ สเปน โปรตุเกส และไปสัมผัสใกล้ชิดกันมากกับผู้ที่ติดเชื้อจึงติดเชื้อกัน ซึ่งมีการติดเชื้อกันหลายกลุ่ม แต่กลุ่มที่มีการระบาดค่อนข้างมาก ใน 100 กว่าราย มีหลายคลัสเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชายรักชาย(MSM) แต่จริงๆ แพร่ได้หมดไม่ว่าจะเป็นใคร หากมีการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ และกลุ่มผู้ติดเชื้อที่เจอในแต่ละประเทศในยุโรปยังไม่ได้เกี่ยวข้องกัน เป็นการนำเชื้อมาจากประเทศแถบแอฟริกา ซึ่งเมื่อหลุดออกมาจากแอฟริกาเข้ายุโรปแล้ว จากนี้ก็อาจจะเกิดการแพร่ข้ามประเทศในยุโรปกันเอง
   

ถามต่อว่าจะต้องมีการปลูกฝีป้องกันฝีดาษใหม่หรือไม่ นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า  ยัง เพราะตอนนี้ทั่วโลกยังไม่มีวัคซีน smallpoxมากขนาดนั้นแล้ว เพราะเป็นโรคที่ถูกกวาดล้างไปหมดแล้ว จะมีเพียงบางประเทศที่ยังเก็บวัคซีนนี้ไว้ ในประเทศไทยไม่มี กำลังมีการประสานงานหาวัคซีนอยู่ว่ามีประเทศใดเก็บไว้บ้าง หรือถ้าจะผลิตเพิ่มก็ต้องดูว่ามีบริษัทใดจะผลิตเพิ่มได้บ้าง เพราะคงต้องใช้เชื้อ ซึ่งเชื้อ smallpox เดิมมีแค่ 2 ประเทศที่เก็บไว้ คือ สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย แต่ก็สามารถจำลองสายพันธุ์ออกมาทำวัคซีนได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ตัวจริง ทั้งนี้ คนไทยที่เกิดก่อนปี 2523 จะได้รับการปลูกฝีป้องกันฝีดาษ(smallpox)ทุกคน  แต่ที่เกิดหลังจากปี 2523 จะไม่ได้รับวัคซีนนี้เพราะโรคฝีดาษถูกกวาดล้างไปหมดแล้ว

     ผู้สื่อข่าวถามด้วยว่า ความเสี่ยงของการระบาดโรคฝีดาษลิง จะเป็นระดับเดียวกับโควิด-19หรือไม่ นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า น่าจะต่างกัน เพราะโควิด-19แพร่กระจายได้เร็วแต่แล้วแต่สายพันธุ์  ส่วนฝีดาษลิง เท่าที่ดูในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ก็แพร่กระจายได้ค่อนข้างเร็ว ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์ และข้อมูลของฝีดาษลิงเพิ่มขึ้นว่ากลไกในการติดเชื้อนอกจากการอยู่ใกล้ชิดแล้ว มีกลไกอื่นอีกหรือไม่  ต้องติดตามข้อมูลเพิ่มขึ้นพอสมควรอย่างใกล้ชิด เพราะตอนนี้มีข้อมูลน้อยมาก และทั่วโลกมีรายงานผู้ติดเชื้อเพียง 100 ราย ส่วนสายพันธุ์แตกต่างจากที่เคยเจอหรือไม่ จะต้องติดตาม 

 

    ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า การติดเชื้อโรคฝีดาษลิงในคนสู่คน เกิดจากการสัมผัสแลกเปลี่ยนสารคัดหลั่ง ละอองฝอยน้ำลาย รวมถึงเลือด ดังนั้นกรณีที่มีแผลก็ทำให้ติดเชื้อได้ ฉะนั้น ความคิดว่าส่วนใหญ่จะติดเชื้อในกลุ่มคนรักร่วมเพศจึงไม่ถูกต้อง เพราะสามารถติดได้ในทุกคน เพราะเป็นการติดเชื้อในลักษณะใกล้ชิดกันมาก อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อไม่ได้ง่ายเหมือนกันโควิด-19 และมีความน่ากังวลน้อยกว่าโรคฝีดาษคน(Smallpox)

       “กรมวิทยาศาสตร์ ได้ตั้งห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ เพื่อตรวจหาเชื้อโรคฝีดาษลิงในผู้ที่สงสัยว่าจะติดเชื้อแล้ว หากผู้ที่มีผื่น ตุ่ม หนอง ตามร่างกาย ทางสถานพยาบาลก็สามารถสวอป(Swab)เชื้อบริเวณแผล ส่งตรวจ RT-PCR ได้ที่แล็บซึ่งมีน้ำยาตรวจเฉพาะ และใช้เวลารอผลเหมือนกับการตรวจโควิด-19”นพ.ศุภกิจ   กล่าว 

 

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์