วธ.ยกพลังพิพิธภัณฑ์ไทยสร้างคลังสมองขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ 

วธ.ยกพลังพิพิธภัณฑ์ไทยสร้างคลังสมองขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ 

วธ.ยกระดับ พิพิธภัณฑ์ไทย "คลังสมองทางวัฒนธรรม" แหล่งทุน Soft Power ที่โดดเด่น ขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์  สถาบันแห่งความรู้ ทำหน้าที่เก็บรักษา รวบรวม บันทึกหลักฐานที่แสดงถึงความรู้ของผู้คนในแต่ละยุคสมัย แต่ละภูมิภาค แต่ละชุมชน  

วันนี้ (18 พ.ค.2565) นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้ปาฐกถาพิเศษ “Museum Talk” เนื่องในวันพิพิธภัณฑ์สากล ที่อาคารกรมศิลปากรว่า เนื่องในวันพิพิธภัณฑ์สากลประจำปี 2565 ที่ได้กำหนดทิศทางในหัวข้อ พลังของพิพิธภัณฑ์ Power of Museums ซึ่งแสดงให้เห็นความสำคัญของการรวมตัวของพิพิธภัณฑ์

เพื่อให้เกิดพลังที่นำการเปลี่ยนแปลงแก่โลก โดยจากฐานข้อมูลศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร สำรวจจำนวนพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยมีจำนวนกว่า 1,528 แห่ง  ทั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร พิพิธภัณฑ์หน่วยราชการ สถานศึกษา เอกชน และพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น

รวมถึงพิพิธภัณฑ์ชุมชนซึ่งมีจำนวนมากที่สุด พิพิธภัณฑ์เหล่านี้ถือเป็นสถาบันแห่งความรู้ ทำหน้าที่เก็บรักษา รวบรวม บันทึกหลักฐานที่แสดงถึงความรู้ของผู้คนในแต่ละยุคสมัย แต่ละภูมิภาค แต่ละชุมชน  

 

  • พิพิธภัณฑ์ "คลังสมองทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจสร้างสรรค์ 

พิพิธภัณฑ์จึงเป็น “คลังสมองทางวัฒนธรรม” ที่มิเพียงทำหน้าที่สื่อสารให้การเรียนรู้แก่เยาวชน แต่ยังเป็นแหล่งทุนทางวัฒนธรรม Soft Power ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 

นายอิทธิพล กล่าวต่อว่า สำหรับประเทศไทยแล้ว “วัฒนธรรม” นับเป็น Soft Power ที่โดดเด่น เป็นที่ประจักษ์ในระดับโลก จากสถิติที่ผ่านมาประเทศไทยอยู่ในลำดับต้นในการจัดลำดับแหล่งวัฒนธรรมที่นักท่องเที่ยวใฝ่ฝันจะมาเยี่ยมเยียนของหลายสถาบันอยู่เสมอ ไม่เพียงด้านการท่องเที่ยว ด้านอาหาร ต้มยำกุ้ง ก็เป็นที่รู้จักทั่วโลก

เช่นเดียวกับศิลปะการแสดงโนรา ที่ยูเนสโกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกที่จับต้องไม่ได้ ซึ่งองค์ความรู้ทางศิลปวัฒนธรรมดังกล่าวบันทึก อนุรักษ์ เก็บรักษา และจัดแสดงเผยแพร่ในพิพิธภัณฑ์โนราเติม วิน วาด จังหวัดสงขลา 

การแสดงเรื่องราวของศิลปินหมอลำท้องถิ่นเมืองร้อยเอ็ดที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ร้อยเอ็ด รวมถึงเรื่องราวของแม่ฉวีวรรณ ดำเนิน ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง เป็นต้น พิพิธภัณฑ์จึงนับเป็นแหล่งทุนทางวัฒนธรรมสำคัญ เป็นทุนทางปัญญาในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 

 

  • สืบทอดภูมิปัญญา สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์แสดงเอกลักษณ์ไทย

ที่ผ่านมากระทรวงวัฒนธรรมได้เข้าทำงานกับพิพิธภัณฑ์ชุมชนหลายแห่ง เช่น พิพิธภัณฑ์นราธิวาส พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร เป็นต้น เพื่อเป็นภาคีเครือข่ายองค์ความรู้ ในการขับเคลื่อนโครงการ “วิถีถิ่น วิถีไทย” ที่มุ่งประชาสัมพันธ์นำวิถีวัฒนธรรมพื้นถิ่นเป็นทุนทางวัฒนธรรมที่สร้างให้เกิดรายได้ เสริมคุณค่า และพัฒนาสังคมในเวลาเดียวกัน 

นายอิทธิพล กล่าวต่อไปว่าความสำคัญของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ทั้ง 42 แห่ง ของกรมศิลปากร เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงคุณภาพที่สำคัญ ในช่วงปีที่ผ่านมา ได้พัฒนาปรับปรุงการจัดแสดงที่ทันสมัย เช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า หรือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ซึ่งกระตุ้นให้คนไทยเข้าเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์มากขึ้น

โดยเฉพาะในช่วงที่ปิดประเทศ ด้วยเหตุโควิด 19 ระบาด หลังเปิดประเทศ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จึงมีความพร้อมรองรับนักเรียน นักศึกษา นักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศ ที่สำคัญพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติยังเป็นคลังสมองทางวัฒนธรรมจากอดีต ที่ให้โอกาสการเรียนรู้

สืบทอดภูมิปัญญานำไปพัฒนา สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่แสดงเอกลักษณ์ไทย เช่น โครงการพิพิธภัณฑ์บันดาลไทย ที่กรมศิลปากรจัดขึ้นโดยชวนน้องนักเรียนมัธยมปลายเข้าแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับภัณฑารักษ์ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และเชิญนักออกแบบคลิปอาร์ต มาร่วมให้ความรู้เทคนิคการสร้างสรรค์สื่อคลิปอาร์ตจากแรงบันดาลใจศิลปกรรมโบราณที่พบในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ 

นายอิทธิพล กล่าวอีกว่า พลังของชาวพิพิธภัณฑ์ไทย จึงเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในหลายมิติ ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมให้ความสำคัญกับการสนับสนุนพัฒนาและดำเนินงานเป็นภาคีเครือข่ายร่วมกันกับพิพิธภัณฑ์ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย