5 ข้อ อยู่ร่วมกับโควิด-19 อย่างปลอดภัย ย้ำ "หน้ากาก" หัวใจหลักป้องกันโรค

5 ข้อ อยู่ร่วมกับโควิด-19 อย่างปลอดภัย ย้ำ "หน้ากาก" หัวใจหลักป้องกันโรค

แพทย์จุฬาฯ ระบุตายรายวันไทยต่อประชากรล้านคนของไทยนั้น ยังมีอัตราเฉลี่ยรอบสัปดาห์ที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลกและทวีปเอเชีย พร้อมย้ำ 5 ข้อ อยู่ร่วมกับโควิด-19 อย่างปลอดภัย "หน้ากาก" หัวใจหลัก

วันนี้ (16 พ.ค.2565) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat เปิดเผยว่า ทะลุ 521 ล้านไปแล้ว

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 310,275 คน ตายเพิ่ม 532 คน รวมแล้วติดไปรวม 521,144,746 คน เสียชีวิตรวม 6,288,226 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุด คือ ไต้หวัน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อิตาลี และเกาหลีใต้

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 13 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 71.72 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 76.31

การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 49.25 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 35.15

 

  • เสียชีวิตรายวันไทย มีอัตราเฉลี่ย7 วันสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก

สำหรับ สถานการณ์ระบาดของไทย จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 8 ของโลก และอันดับ 4 ของเอเชีย

ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 3 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย ถึงแม้กระทรวงสาธารณสุขจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.เป็นต้นมาจนทำให้จำนวนเสียชีวิตที่รายงานนั้นลดลงก็ตาม

ทั้งนี้จำนวนเสียชีวิตของไทยเมื่อวานนั้นคิดเป็น 27.27% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบเรื่องการเสียชีวิต ณ ปัจจุบัน จำนวนเสียชีวิตรายวันต่อประชากรล้านคนของไทยนั้น ยังมีอัตราเฉลี่ยรอบสัปดาห์ (7 days rolling average) ที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลกและทวีปเอเชีย

หากเทียบกับกลุ่มประเทศ upper middle income แล้ว ไทยยังสูงกว่า

อัตราการเสียชีวิตส่วนเกินจากทุกสาเหตุ (excess mortality rate) ณ 1 พฤษภาคม 2565 เปรียบเทียบกับปีก่อนหน้ามีการระบาด จะพบว่ายังสูงถึง 21%

 

  • 5 ข้ออยู่ร่วมกับโรคโควิด-19 ย้ำ "หน้ากาก" หัวใจหลัก

รศ.นพ.ธีระ ระบุต่อว่า การอยู่ร่วมกับโรคโควิด-19 นั้น ควรปฎิบัติดังนี้

1. ควรอยู่อย่างรู้เท่าทัน ใช้ความรู้ที่ถูกต้องเพื่อตัดสินใจประพฤติปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม เพื่อให้ตนเองและครอบครัวมีสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิต

2. ประเมินความเสี่ยงในการใช้ชีวิต เลือกรับความเสี่ยงที่อยู่ในวิสัยที่ตนเองรับได้และจัดการได้ โดยไม่สร้างความเดือดร้อนแก่คนใกล้ชิด และคนอื่นในสังคม

3. ไม่หลงงมงาย แสร้งว่าสงครามโรคจบแล้ว ทั้งที่ไม่จบ

4. ไม่ว่าพื้นที่ใด ที่ไม่สามารถจัดการควบคุมป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ย่อมส่งผลให้มีการระบาดที่รุนแรง ยาวนาน กระจายทั่วไปจนจับต้นชนปลาย หาต้นเหตุได้ยากนั้น สะท้อนถึงการที่พื้นที่ต่างๆ เป็นแดนดงโรค เป็นพื้นที่โรคชุกชุม ประจำถิ่นไปโดยปริยายแล้ว หาทางกำจัดออกไปได้ยาก

5. โรคประจำถิ่น ไม่ได้แปลว่าไม่อันตราย ไม่รุนแรง หรือกลายเป็นหวัดธรรมดา มีมากมายหลายโรคที่ประจำถิ่นทั่วโลก แต่ทำให้ป่วยหนัก เสียชีวิตได้มาก

"Please choose prudently to live with certain risks, but do not pretend the threat is gone"

เลือกดำรงชีวิตอย่างรู้เท่าทัน แต่อย่าเสแสร้งทำเป็นหลอกตัวเองว่าปลอดภัยไร้กังวล

"ส่วนตัวแล้ว แนะนำว่าการใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ คือหัวใจสำคัญในการประคับประคองให้อยู่รอด ลดความเสี่ยงในการดำรงชีวิตประจำวัน จนกว่าสถานการณ์ทั่วโลกจะดีขึ้น"รศ.นพ.ธีระ กล่าว

โควิด...ไม่จบแค่หาย แต่ป่วยได้ ตายได้ และเสี่ยงต่อภาวะผิดปกติระยะยาวอย่าง Long COVID ได้