ข่าวจริง! ผู้ป่วยมะเร็งที่มี "สิทธิบัตรทอง" ไปรักษาได้ 245 แห่งทั่วประเทศ

ข่าวจริง! ผู้ป่วยมะเร็งที่มี "สิทธิบัตรทอง" ไปรักษาได้ 245 แห่งทั่วประเทศ

ข่าวจริง! สปสช. ให้ "ผู้ป่วยมะเร็ง" ที่มี "สิทธิบัตรทอง" สามารถไปรักษาโรคมะเร็งที่ไหนก็ได้ 245 แห่งทั่วประเทศ

วันที่ 12 พฤษภาคม 2565 จากกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลเรื่อง สปสช. ให้ผู้ป่วยที่มี "สิทธิบัตรทอง" สามารถรักษาโรคมะเร็งที่ไหนก็ได้ 245 แห่งทั่วประเทศ ล่าสุดจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น "เป็นข้อมูลจริง"

 

 

กระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. ได้ร่วมกันจัดระบบบริการให้ "ผู้ป่วยโรคมะเร็ง" ที่มี "สิทธิบัตรทอง" ไปรับบริการที่ไหนก็ได้ หรือเป็นมะเร็งรักษาทุกที่

 

กล่าวคือ เมื่อรู้ตัวว่าเป็นมะเร็งสามารถไปรักษาได้ทุกที่ที่มีบริการ ไม่จำเป็นต้องรอการรักษาหรือการส่งตัวจากหน่วยบริการใกล้บ้าน รวมทั้งการใช้ทรัพยากรในแต่ละพื้นที่ เช่น เครื่อง PET CT เครื่องฉายรังสีรักษา อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งได้รับความสะดวก รวดเร็ว ลดระยะเวลารอคอยในการรับบริการ และได้รับการรักษาที่ต่อเนื่อง

 

โดยปัจจุบันมีหน่วยบริการที่รองรับนโยบาย มะเร็งรักษาที่ไหนก็ได้กว่า 245 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งหน่วยบริการที่มีศักยภาพบริการดูแลผู้ป่วยมะเร็งในระบบบัตรทอง ได้แก่

 

  1. หน่วยบริการที่รับการส่งต่อทั่วไปที่มีศักยภาพในการให้เคมีบำบัดสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง
  2. หน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านรังสีรักษา สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง
  3. หน่วยบริการในระบบบัตรทองนอกเหนือจากข้อ 1 และ 2 ที่ให้การรักษาและบริการโรคมะเร็ง

 

 

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่ไม่สามารถให้การรักษาเคมีบำบัดหรือรังสีรักษาได้ เจ้าหน้าที่ศูนย์ประสานการส่งต่อในหน่วยบริการ จะทำหน้าที่ประสานการส่งต่อไปยังหน่วยบริการใกล้บ้านที่มีศักยภาพในการให้บริการรักษาโรคมะเร็ง โดยคำนึงถึงความสะดวกในการให้บริการ เพื่อให้ผู้ป่วยไม่ต้องรอคิวนาน และได้รับการรักษาทันท่วงที เนื่องจากมีหน่วยบริการที่มีศักยภาพให้บริการโรคมะเร็งกระจายอยู่ทั่วประเทศ

 

ถึงแม้ว่านโยบายนี้จะมีชื่อว่า "มะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม" แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ผู้ป่วยมะเร็งสิทธิบัตรทอง จะสามารถเดินเข้าไปรักษายังหน่วยบริการแห่งใดก็ได้ นั่นเพราะโรคมะเร็งมีหลายชนิด และหน่วยบริการแต่ละแห่งก็มีศักยภาพในการรักษาแตกต่างกัน

 

ดังนั้น คำว่า "ที่ไหนก็ได้ที่พร้อม" ในที่นี้หมายถึง การรับบริการในหน่วยบริการ 3 ประเภทข้างต้นที่ร่วมให้บริการผู้ป่วยมะเร็งบัตรทอง เป็นการกระจายระบบบริการดูแลผู้ป่วยมะเร็ง ผ่านการดูแลและอำนวยความสะดวกโดยผู้ประสานงานโรคมะเร็งในแต่ละหน่วยบริการ ซึ่งจะพิจารณาถึงศักยภาพบริการและระยะเวลารอการรักษา เป็นต้น

 

โดยมีระบบเชื่อมโยงข้อมูล และระบบส่งต่อไปยังหน่วยบริการที่มีศักยภาพด้านมะเร็ง ซึ่งจะทำให้เกิดการรักษาและดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องและรักษาได้ทันท่วงที

 

ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ https://www.nhso.go.th/ หรือโทรสายด่วน 1330