เช็กอาการ "ตับอักเสบในเด็ก"เกี่ยวกับฉีดวัคซีนโควิดหรือไม่?

เช็กอาการ "ตับอักเสบในเด็ก"เกี่ยวกับฉีดวัคซีนโควิดหรือไม่?

ปัจจุบันแม้จะยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจน ว่า “ไวรัสตับอักเสบ” ที่เกิดขึ้นในกลุ่มเด็กมากกว่า 300 รายใน 20 ประเทศทั่วโลกเกิดจากอะไรกันแน่???

แต่หน่วยงานด้านความมั่นคงด้านสุขภาพของสหราชอาณาจักร UKHSA ยืนยันว่าวัคซีนโควิดไม่ใช่สาเหตุ และการเกิดโรคไวรัสตับอักเสบในเด็ก ไม่เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19

โดยขณะนี้ นักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งตั้งสมมติฐานถึงความเปลี่ยนแปลงของลักษณะทางพันธุกรรมของไวรัสอะดีโนที่อาจกระตุ้นให้มีตับอักเสบได้ง่ายขึ้น

ความเป็นไปได้อีกหนึ่งข้อคือ เมื่อเด็ก ๆ เหล่านี้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติภายหลังมีการประกาศยกเลิกข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับโควิด ทำให้เพิ่งได้สัมผัสกับเชื้อไวรัสอะดีโนเป็นครั้งแรก ในช่วงวัยที่ช้าเกินกว่าปกติเล็กน้อย จนนำไปสู่การตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน "อย่างรุนแรง"

ดร.มีรา ชาน จาก UKHSA กล่าวว่า แม้ช่วงเวลาปัจจุบันจะทำให้ผู้ปกครอง เกิดความกังวล ทว่าขั้นตอนการรักษาความสะอาดขั้นพื้นฐาน อาทิ การล้างมือบ่อย ๆ สามารถลดโอกาสในการติดเชื้อไวรัสจำนวนมากในเด็กได้

ทั้งนี้ หากเด็กคนไหนมีอาการท้องเสียหรืออาเจียน ให้รักษาตัวอยู่ที่บ้านและไม่กลับไปโรงเรียนหรือสถานเลี้ยงดูเด็กจนกว่าจะครบ 48 ชั่วโมง หลังไม่มีอาการ

 

  • ทำความรู้จักไวรัสตับอักเสบ

ข้อมูลจากโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ เปิดเผยว่า ไวรัสตับอักเสบมี 5 ชนิด ประกอบด้วย ไวรัสตับอักเสบ เอ บี ซี ดีและอี โดยไวรัสที่เป็นปัญหาสำคัญในประเทศไทย  ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบบีและซี เนื่องจากไวรัสทั้งสองชนิดทำให้เกิดตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง และมีมะเร็งตับตามมา ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต

ในประเทศไทย คาดว่ามีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีประมาณ ร้อยละ5 ของประชากร หรือประมาณ 3 ล้านคน ส่วนผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีมีประมาณร้อยละ 1-2 ของประชากร หรือประมาณ 1 ล้านคน

ด้าน ศูนย์กุมารเวชกรรม โรงพยาบาลเวชธานี  เปิดเผยว่าสำหรับโรคตับในเด็กนั้น ตับถือเป็นอวัยวะอยู่ในช่องท้องด้านบนขวา มีหน้าที่สำคัญหลายอย่าง เช่น รับเลือดจากลำไส้ซึ่งมีสารอาหารจำนวนมากและส่งผ่านสารอาหารเหล่านี้ไปยังร่างกายส่วนอื่นๆ ทำลายสารพิษในเลือดที่มาจากลำไส้

ผลิตน้ำดีแล้วส่งน้ำดีผ่านมาตามท่อน้ำดีมาเก็บที่ถุงน้ำดี เมื่อเรารับประทานอาหารที่มีไขมันถุงน้ำดีจะหดรัดตัว  ทำให้น้ำดีไหลผ่านท่อน้ำดีลงมายังลำไส้เล็กเพื่อช่วยในการย่อยและดูดซึมไขมัน ผลิตสารที่ช่วยให้เลือดแข็งตัว

โดยส่วนใหญ่คนทั่วไปจะทราบว่า ผู้ที่จะเป็นโรคตับมีแต่เพียงผู้ใหญ่ที่ดื่มเหล้าหรือติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บีหรือซี แล้วเกิดตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็งหรือมะเร็งตับ แต่จริงๆแล้ว เด็กเล็กๆก็ป่วยเป็นโรคตับได้เหมือนกัน

 

เช็กอาการโรคตับอักเสบในเด็ก

บุคลากรทางการแพทย์ออกมาแนะนำให้ผู้ปกครองสังเกตอาการที่เกี่ยวข้องกับโรคดีซ่าน หรือภาวะที่ผิวหนังและตาขาวเป็นสีเหลือง รวมไปถึงสารคัดหลั่งในร่างกายอาจจะมีสีเหลืองด้วย

อาการของโรคตับอักเสบในเด็กอื่นๆ ได้แก่

  • ปัสสาวะมีสีเข้ม
  • อุจาระเป็นสีเทาหรือซีด
  • คันตามผิวหนัง
  • เจ็บตามกล้ามเนื้อและข้อต่อ
  • มีไข้สูง
  • อ่อนเพลียตลอดเวลา
  • ไม่อยากอาหาร
  • เจ็บบริเวณช่องท้อง
  • ตับอักเสบในไทย

ตามข้อมูลจาก WHO โรคไวรัสตับอักเสบรั้งอันดับที่ 7 ของสาเหตุการเสียชีวิตทั่วโลก และยังเป็นโรคติดต่อเพียงโรคเดียวที่มีอัตราของผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้น

"ภาวะตับอักเสบส่งให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อยเท่ากับหรืออาจจะมากกว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตจากวัณโรคและโรคเอดส์ หรือวัณโรคและโรคมาลาเรียรวมกัน" WHO ระบุ

แม้ว่าเชื้อไวรัสจะเป็นสาเหตุสำคัญของโรค ทว่าปัจจัยอื่น ๆ อาทิ การติดเชื้อ, สารพิษ อาทิ แอลกอฮอล์ หรือ ยาเสพติดบางประเภท รวมไปถึง โรคถูมิต้านทานเนื้อเนื่อของตนเอง (autoimmune disease) ก็อาจเป็นสาเหตุได้เช่นกัน

สำหรับ อาการโรคตับอักเสบ ที่อาจจะเกิดขึ้นในเด็ก  โดยอาจมีอาการดีซ่านคือตาหรือผิวหนังเป็นสีเหลือง

โรคตับเรื้อรัง เด็กอาจมีอาการดังต่อไปนี้ เช่น

  • ท้องโต เกิดจากภาวะท้องมานคือ  มีน้ำในช่องท้อง หรือเกิดจากตับและม้ามมีขนาใหญ่ขึ้น
  • ขาหรือหน้าบวม เกิดจากการที่ตับไม่สามารถสร้างโปรตีนได้
  • ผอม แขนขาลีบ เกิดจากการที่รับประทานอาหารได้น้อยลงร่วมกับร่างกายเผาผลาญสารอาหารมากกว่าปกติ
  • อาเจียนเป็นเลือดหรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำๆ เกิดจากเส้นเลือดในหลอดอาหารหรือกระเพาะอาหารที่โป่งพองขึ้นแล้วแตกทำให้มีเลือดออก
  • เลือดออกเองหรือออกแล้วหยุดยาก เกิดจากตับไม่สามารถผลิตสารที่ช่วยให้เลือดแข็งตัว

 

สาเหตุเกิดโรคตับเฉียบพลัน

โรคตับอาจเป็นชนิดเฉียบพลันหรือเรื้อรัง สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคตับเฉียบพลัน ได้แก่ การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ เช่น ไวรัสตับอักเสบ เอ หรือ อี ซึ่งจริงๆ แล้วในเด็กส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ

การติดเชื้อไวรัสอื่นๆ เช่น ไวรัสเดงกี่ที่ทำให้เกิดไข้เลือดออก ไวรัสอีบีวี

การติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น เชื้อไข้ทัยฟอยด์

ยา เช่น ทานยาพาราเซตามอล (ยาลดไข้แก้ปวด) เกินขนาด ยาแก้อักเสบ ยารักษาวัณโรค ยาสมุนไพร

ทั้งนี้ เด็กที่เป็นโรคตับเฉียบพลันส่วนใหญ่จะหายได้เอง ถ้าเกิดจากการติดเชื้อไวรัสและแพทย์จะให้การรักษาประคับประคองตามอาการเท่านั้น ถ้ามีสาเหตุจากยาแพทย์จะแนะนำให้หยุดทานยานั้นๆ ถ้าเกิดจากทานยาพาราเซตามอลเกินขนาด แพทย์จะรับผู้ป่วยไว้สังเกตอาการในโรงพยาบาลและให้ยาแก้พิษ

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคตับเรื้อรัง ได้แก่

  • ความผิดปกติของท่อน้ำดี เช่น โรคท่อน้ำดีตีบตัน โรคท่อน้ำดีโป่งพอง โรคท่อน้ำดีในตับมีจำนวนลดลง เด็กจะมีอาการดีซ่านตั้งแต่เกิดหรือภายในอายุประมาณ 2-3 สัปดาห์เท่านั้น
  • การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ เช่น ไวรัสตับอักเสบ บี หรือ ซี ในประเทศไทยเด็กที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี มักเกิดจากติดเชื้อจากมารดาระหว่างคลอด เด็กจะไม่แสดงอาการผิดปกติจนกว่าจะโตเป็นผู้ใหญ่

อย่างไรก็ตาม เด็กบางคนอาจเกิดตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็งหรือมะเร็งตับได้เหมือนผู้ใหญ่ ส่วนเด็กที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี มักเกิดจากได้รับเลือดจากคนที่มีเชื้อไวรัสอยู่

ในปัจจุบันจะพบน้อยลงเรื่อยๆ เนื่องจากการตรวจกรองเลือดหาเชื้อไวรัสก่อนจะนำไปให้ผู้ป่วยภาวะที่มีสารทองแดงสะสมในตับมากกว่าปกติ โรคไขมันในตับ มักพบในเด็กอ้วน เด็กที่เป็นโรคตับเรื้อรัง จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม

 

แนวทางการรักษาโรคตับอักเสบในเด็ก

ในส่วนของการรักษาที่มีการใช้ยาหรือการผ่าตัดแล้วแต่สาเหตุของโรค

สิ่งที่อยากเน้นให้ประชาชนทั่วไปทราบคือ เด็กทารกที่มีความผิดปกติของท่อน้ำดี เช่น โรคท่อน้ำดีตีบตันมักมาพบแพทย์ช้า เพราะคุณพ่อคุณแม่คิดว่าเกิดจากเด็กทานนมแม่และมักได้รับคำแนะนำจากญาติผู้ใหญ่หรือเพื่อนบ้าน ให้นำเด็กไปตากแดดหรือให้เด็กดื่มน้ำมากๆ

โรคท่อน้ำดีตีบตันต้องรักษาด้วยการผ่าตัดภายในอายุ 2 เดือน เพื่อไม่ให้ตับเกิดการอักเสบรุนแรงขึ้นจนกลายเป็นตับแข็ง ส่งผลให้เด็กเสียชีวิตภายในอายุ 2 ปี จะเห็นได้ว่าถ้าประชาชนทั่วไปรู้จักโรคตับในเด็กดีขึ้น และพาเด็กมาพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงที จะทำให้เด็กหายจากโรคตับ หรือมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

 

การป้องกันไวรัสตับอักเสบในไทย

เมื่อ 20 เม.ย. 2565 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบ ระหว่าง นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดสธ. กับนายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อพัฒนาแผนในการค้นหา คัดกรองกลุ่มเสี่ยงเพื่อส่งเข้าระบบการรักษาในสถานพยาบาลต่อไป

ปัจจุบันภายใต้ระบบกันสุขภาพถ้วนหน้า (สปสช.) วัคซีนที่เกี่ยวข้องกับไวรัสตับอักเสบบีและซียังไม่ครอบคลุมทั้งหมด

วัคซีนป้องกันตับอักเสบบี เป็นวัคซีนที่ให้ในเด็กที่มีอายุ 0, 2, 4 และ 6 เดือน โดย สปสช.พยายามผลักดันและพูดคุยกับกรมควบคุมโรคและอนุกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติให้ขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังคนไทยทุกคนที่เกิดก่อนปี 2535 เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงสำคัญ สถานะล่าสุดยังอยู่ "ระหว่างดำเนินการ"

สำหรับยารักษาไวรัสตับอักเสบซีทุกสายพันธ์ ปัจจุบันเป็นยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ ปี 2562 และกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ

อ้างอิง:บีบีซี ประเทศไทย , CNN, โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์,โรงพยาบาลเวชธานี,สปสช.