กทม. ย้ำ "สิทธิบัตรทอง" ถือบัตรประชาชน ใบเดียว รับบริการหน่วยปฐมภูมิได้ทุกที่

กทม. ย้ำ "สิทธิบัตรทอง" ถือบัตรประชาชน ใบเดียว รับบริการหน่วยปฐมภูมิได้ทุกที่

สำนักอนามัย กทม. ชี้นโยบาย "ยกระดับบัตรทอง" 30 บาทรักษาทุกที่ทั่วประเทศ ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน กทม. และพื้นที่ใกล้เคียงย้ำ ถือบัตรประชาชนใบเดียว รับบริการในหน่วยบริการปฐมภูมิได้ทุกที่ ทั้งศูนย์บริการสาธารณสุข และคลินิกชุมชนอบอุ่นโดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว

พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวถึง ภาพรวมการดำเนินงานตามนโยบาย ยกระดับบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกที่ ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นของขวัญปีใหม่ 2565 ที่รัฐบาลมอบแก่ประชาชนโดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2565 ว่า ในส่วนของพื้นที่ กทม. มีการนำร่องมาตั้งแต่ปี 2564 ให้ผู้ใช้สิทธิบัตรทองสามารถไปรับบริการในหน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ในบางพื้นที่อยู่แล้ว ซึ่งในช่วงแรกประชาชนยังยึดติดกับระบบเดิม และการประชาสัมพันธ์อาจยังไปไม่ถึงมากนัก แต่เมื่อดำเนินการไประยะหนึ่งพบว่าประชาชนมีความพึงพอใจมาก เพราะสามารถไปรับบริการที่ไหนก็ได้ 

 

 "ลักษณะคน กทม. พักอาศัยอยู่พื้นที่หนึ่งแต่ไปทำงานอีกพื้นที่หนึ่ง ไม่สะดวกไปรับบริการในหน่วยบริการใกล้ที่พัก ก็สามารถไปรับบริการในศูนย์บริการสาธารณสุขหรือคลินิกชุมชนอบอุ่นที่อยู่ใกล้ที่ทำงานได้ ทำให้สะดวกสามารถเข้าถึงบริการได้มากขึ้น” พญ.ป่านฤดี กล่าว 

 

อย่างไรก็ดี เนื่องจากในปี 2564 ยังอยู่ในระยะนำร่อง การรับบริการข้ามเขตที่ไหนก็ได้จึงยังมีจำนวนหนึ่งแต่ยังไม่มากนัก ส่วนในปี 2565 หลังจากมีการประกาศนโยบายยกระดับบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกที่ทั่วประเทศแล้ว ในส่วนของ กทม.เอง ได้ขยายให้ประชาชนที่มีบ้านอยู่จังหวัดรอบๆ พื้นที่ กทม.และเข้ามาทำงานใน กทม. แบบไปกลับ สามารถเข้ามารับบริการจากศูนย์บริการสาธารณสุขหรือคลินิกชุมชนอบอุ่นได้ด้วย

 

จากเดิมอยู่ที่ไหนก็ต้องรักษาที่นั่นหรือถ้าจะมารับบริการใน กทม. ต้องย้ายสิทธิมาหรือใช้ใบส่งตัว แต่ปัจจุบันไม่ต้องใช้แล้ว สามารถเข้าสู่ระบบบริการได้เลย ถือเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้สิทธิบัตรทองในพื้นที่เหล่านี้มากยิ่งขึ้น

 

กทม. ย้ำ \"สิทธิบัตรทอง\" ถือบัตรประชาชน ใบเดียว รับบริการหน่วยปฐมภูมิได้ทุกที่

คาดปี 2565 ผู้รับบริการเพิ่มมากขึ้น 

 

ทั้งนี้ จากสถิติการรับบริการในศูนย์บริการสาธารณสุขพบว่าจำนวนผู้รับบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี

  • ปี 2562 ใช้บริการ 1.38 ล้านคน
  • ปี 2563 เพิ่มเป็น 1.5 ล้านคน
  • ปี 2564 มีการระบาดของโควิด-19 จำนวนผู้รับบริการลดเหลือ 1.3 ล้านคน
  • คาดว่าปี 2565 จำนวนผู้รับบริการน่าจะกลับมาเพิ่มขึ้น เพราะการระบาดของโควิด-19 เริ่มน้อยลง ประชาชนต่างจังหวัดก็อาจกลับเข้ามาทำงานใน กทม. จำนวนผู้รับบริการก็น่าจะเพิ่มขึ้นตามสถานการณ์ ซึ่งสำนักอนามัยจะได้ประเมินสถานการณ์ต่อไป

 

พญ.ป่านฤดี กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน กทม. มีศูนย์บริการสาธารณสุขทั่ว กทม.รวม 69 แห่ง มีบุคลากรทั้งแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร ฯลฯ ถือเป็นหน่วยบริการที่ค่อนข้างครบถ้วนอยู่แล้ว และยังมีการอบรมเพิ่มเติมในเรื่องแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวเพื่อดูแลประชาชนในโรคที่พบบ่อย ไม่ซับซ้อน และเน้นเรื่องการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันควบคุมโรค

 

นอกจากนี้ ยังขยายคลินิกพิเศษต่างๆ เช่น คลินิกกายภาพบำบัด คลินิกยาเสพติด เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น ช่วยให้ประชาชนไม่ต้องเดินทางไปแออัดที่โรงพยาบาล โรงพยาบาลก็สามารถดูแลผู้ป่วยที่มีความซับซ้อนได้ดีขึ้น ในส่วนของประชาชนสิทธิบัตรทองที่ต้องการเข้ามารับบริการ แม้จะไม่ได้ลงทะเบียนหน่วยบริการประจำในพื้นที่นั้นๆ ก็สามารถถือบัตรประชาชนมาเพียงใบเดียวไปรับบริการที่ศูนย์บริการสาธารณสุขได้ทุกที่ เจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบสิทธิแล้วให้บริการได้เลย 

 

กทม. ย้ำ \"สิทธิบัตรทอง\" ถือบัตรประชาชน ใบเดียว รับบริการหน่วยปฐมภูมิได้ทุกที่

ขณะเดียวกัน นอกจากศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่งแล้ว ในแต่ละเขตแต่ละพื้นที่ยังมีหน่วยบริการปฐมภูมิที่เป็นคลินิกชุมชนอบอุ่นที่ผู้ใช้สิทธิบัตรทองสามารถเข้ารับบริการได้เช่นกัน โดยทางศูนย์บริการสาธารณสุขจะทำงานร่วมกับคลินิกชุมชนอบอุ่นในลักษณะเครือข่าย คอยสนับสนุนคลินิกชุมชนอบอุ่นให้ดำเนินการไปได้ตามที่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำหนด ตามสิทธิที่ประชาชนต้องได้รับ

 

รวมทั้งมีบริการรับส่งต่อ เช่น ถ้าคลินิกชุมชนอบอุ่นไม่มีคลินิกพิเศษ อาทิ คลินิกกายภาพบำบัด คลินิกทันตกรรม ก็สามารถส่งต่อมารับบริการที่ศูนย์บริการสาธารณสุขได้ อีกทั้งยังร่วมมือกันทำงานด้านการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคแก่ประชาชนในพื้นที่ด้วยเช่นกัน

 

กทม. ย้ำ \"สิทธิบัตรทอง\" ถือบัตรประชาชน ใบเดียว รับบริการหน่วยปฐมภูมิได้ทุกที่