กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพฯ จ.ระยอง ต้นแบบดูแลคนพิการ สปสช.เล็งขยายทั่วประเทศ

กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพฯ จ.ระยอง ต้นแบบดูแลคนพิการ สปสช.เล็งขยายทั่วประเทศ

เลขาธิการ สปสช. ลงพื้นที่ จ.ระยอง เยี่ยมชมการดำเนินงาน “กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพฯ จังหวัดระยอง” ดูแลคนพิการ ผู้สูงอายุ ฯลฯ ให้เข้าถึงอุปกรณ์เครื่องช่วย-จัดสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย ยกระดับคุณภาพชีวิต 

เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2565 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย นพ.สุรทิน มาลีหวล ผอ. สปสช.เขต 6 ระยอง เยี่ยมชมการดำเนินงาน “กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพจังหวัดระยอง ตอบโจทย์ดูแลคนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่อยู่ในระยะกึ่งเฉียบพลัน และผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง” โดยมี นายศักดิ์สิทธิ์ กุมภะ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งควายกิน (อบต.) และคณะทำงาน อำเภอแกลง จังหวัดระยองให้การต้อนรับ รับฟังความคิดเห็น และปัญหาการดำเนินงาน

นายศักดิ์สิทธิ์ กล่าวว่า สำหรับนโยบาย “กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัดระยอง” ได้ให้ความสำคัญต่อการดูแลคุณภาพชีวิตของประชากรในพื้นที่ จึงได้ร่วมมือกับ สปสช. เพื่อจัดตั้ง “กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด” มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 ซึ่งตลอดระยะเวลา 10 ปี ที่ผ่านมา ได้เกิดโครงการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนจำนวนมาก

ด้านการดำเนินการของกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพฯ เป็นไปได้ด้วยดีมาโดยตลอด เพราะมีทีมงานและเครือข่าย ทั้ง รพ.สต. ผู้นำท้องถิ่นอย่างกำนัน ผู้ใหญ่บ้านมาร่วมมือกัน อีกทั้งด้วยความใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่ ทำให้รู้ลึกถึงปัญหาในสภาพความเป็นอยู่ที่สมควรจะได้รับการปรับปรุง หรือการสนับสนุนด้านอุปกรณ์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต 

 

  • สปสช.ชูกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพฯ ระยอง ต้นแบบดูแลคนพิการ

อย่างไรก็ตาม ทาง อบต. ต้องขอบคุณหลายหน่วยงาน อาทิ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สปสช. อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่ให้การสนับสนุนในการดำเนินการกองทุนมากว่า 10 ปี ซึ่งหวังว่าการได้รับการสนับสนุนเหล่านี้จะทำให้องค์กรท้องถิ่นขนาดเล็กอย่าง อบต.ทุ่งควายกิน ขับเคลื่อนให้บริการด้านสุขภาพแก่ประชาชนที่ต้องการ ผ่านกองทุนฟื้นฟูนี้ให้เกิดประสิทธิผลมากที่สุด 

“ลำพังงบประมาณของ อบต.ส่วนหนึ่งจำเป็นต้องเอาไปใช้กับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แต่ด้วยนโยบายและความตั้งใจของผมและสมาชิกผู้นำท้องถิ่นในตำบล ก็จะพยายามขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานควบคู่ไปกับคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ดีขึ้นด้วย” นายก อบต. ทุ่งควายกิน กล่าว

ด้าน นพ.จเด็จ กล่าวว่า กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัดเป็นหนึ่งในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่ สปสช. ร่วมมือกับ อบจ. ทั่วประเทศ โดยร่วมสมทบงบประมาณส่วนหนึ่ง จำนวน 5 บาทต่อหัวประชากร และท้องถิ่นเองสมทบส่วนหนึ่ง เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนให้เกิดความร่วมมือของหน่วยงานในพื้นที่

ในการพัฒนาระบบการบริหารจัดการ และการให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพในจังหวัด เพื่อตอบสนองความต้องการที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของคนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่อยู่ในระยะกึ่งเฉียบพลัน และผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง

อาทิ การจัดตั้งศูนย์ยืม-คืนอุปกรณ์ฟื้นฟูสมรรถภาพ การซ่อม ดัดแปลงอุปกรณ์เครื่องช่วยต่างๆ การพัฒนาระบบติดตามบริการที่บ้านและชุมชน

 

 

  • ขยายกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพฯ ดูแลคนพิการทั่วประเทศ

การลงพื้นที่มาในวันนี้ กองทุนฯ ที่นี่ไม่ใช่ดูแลเพียงแค่สุขภาพหรืออุปกรณ์ที่ช่วยเหลือผู้พิการเพียงอย่างเดียว แต่มีการมองถึงสภาพเวดล้อมความเป็นอยู่ และได้ใช้เงินจากกองทุนฯ นี้ในการปรับสภาพความเป็นอยู่ให้เหมาะสมให้แก่ประชาชนที่มีความจำเป็น จากที่ได้ไปเยี่ยมผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือ บางกรณีการให้อุปกรณ์อย่างเดียวอาจดำรงชีวิตอยู่ได้ลำบาก หรืออยู่ไม่ได้ เพราะจากสภาพบ้านที่อยู่อาศัยไม่เหมาะกับการดำรงชีวิต 

“หน่วยงานท้องถิ่นจึงเข้ามาช่วยกันดู แล้วก็ช่วยปรับสภาพให้มีความมั่นคงแข็งแรงเพื่อให้เหมาะสมต่อการดำรงชีวิต ซึ่งนี่เป็นการทำงานแบบบูรณาการ ไม่ใช่เพียงหน่วยใดหน่วยหนึ่ง สปสช. คงไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นส่วนสำคัญ ซึ่งผมคิดว่าส่วนสำคัญจริงๆ คือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ในทุกระดับ รพ.สต. อบต. โรงพยาบาล ฯลฯ” นพ.จเด็จ ระบุ

นพ.จเด็จ กล่าวต่อไปว่า หลังจากนี้คิดว่าจะมีการขยายกองทุนฯ นี้ไปท้องถิ่นส่วนอื่นๆ ต่อไปให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งตอนนี้จังหวัดที่เข้าร่วมโครงการนี้มีจำนวน 58 จังหวัด จึงอยากขอเชิญชวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ที่มีความสนใจที่จะร่วมมือกันทำ เพราะเชื่อว่าทุกพื้นที่มีปัญหาลักษณะคล้ายกัน เช่น ผู้พิการไม่มีอุปกรณ์ หรือผู้ที่ติดบ้านติดเตียงที่มีปัญหาด้านสภาพความเป็นอยู่ หากทุกพื้นที่มีกลไกตรงนี้คิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่มากขึ้น  

 “สิ่งที่มองเห็นอีกอย่างในวันนี้คือการทำงานด้วยท้องถิ่นนั้น จะมีความใกล้ชิดกับประชาชนมากกว่า เราอยู่ส่วนกลางเรามาดูอาจจะไม่เห็นปัญหาชัดเจน ดังนั้นวันนี้ที่เรามาเห็นก็เกิดความมั่นใจว่าสิ่งที่เราพยายามทำ ได้เกิดมรรคผลต่อพี่น้องประชาชนจริงๆ” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

สอบถามเพิ่มเติมการใช้สิทธิบัตรทอง ได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ ทั้งไลน์ สปสช. (ไลน์ไอดี @nhso) หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand