“โควิด-19” ดันบริการกระจายยาโต 3 เท่า สินค้า-ยา “โควิด” ความต้องการสูง

“โควิด-19” ดันบริการกระจายยาโต 3 เท่า  สินค้า-ยา “โควิด” ความต้องการสูง

"ร้านขายยา" ถือเป็นหนึ่งจุดบริการสำคัญ โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 เพื่อให้คนไทยได้เข้าถึงยาและเวชภัณฑ์ รวมถึง ยารักษาโควิด-19 ส่งผลให้แพลตฟอร์มบริหารจัดการเภสัชกรรม อย่าง "อรินแคร์" มีการใช้บริการเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า

ตั้งแต่ช่วงการระบาด โควิด-19 ร้านขายยา กลายเป็นช่องทางสำคัญในการกระจายอุปกรณ์ป้องกันโควิด-19 หรือยาต่างๆ ให้ถึงมือประชาชน ขณะที่ ร้านยาบางแห่งประสบปัญหาเข้าถึงยาและสินค้าที่จำเป็น รวมถึงมีต้นทุนที่สูงขึ้น ส่งผลให้แพลตฟอร์มบริหารจัดการเภสัชกรรม อย่าง อรินแคร์ มีการใช้บริการเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า โดยอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับโควิดและยาสำหรับ Home Isolation มีความต้องการสูงขึ้น

 

อรินแคร์ (Arincare) ในฐานะสตาร์ทอัพผู้ให้บริการแพลตฟอร์มร้านขายยาออนไลน์สำหรับเภสัชกรและร้านขายยา สัญชาติไทยผู้ให้บริการแพลตฟอร์มบริหารจัดการเภสัชกรรมครบวงจร จากที่ผ่านมา ได้เปิดตัวระบบใบสั่งยาอิเล็กทรอนิกส์หรือ e-Prescription ไปเมื่อปี 2562 เพื่อเชื่อมโยงแพทย์ คนไข้ และเภสัชกรชุมชนเข้าด้วยกันเป็นครั้งแรกในประเทศไทยทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สามารถรับยาที่ร้านขายยาใกล้บ้านได้โดยไม่ต้องรอคิวนาน

 

“ธีระ กนกกาญจนรัตน์” ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อรินแคร์ จำกัด ให้สัมภาษณ์กับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า จากเดิมที่อรินแคร์ทำเรื่องระบบช่วยบริหารคลังยา เชื่อมพาร์ทเนอร์หลายรายที่เป็นบริษัทยาและการขนส่ง เช่น SCG Express เพื่อให้ร้านยาร้านเล็กๆ ที่อยู่ห่างไกล มีโอกาสเข้าถึงเวชภัณฑ์เหล่านี้ได้

 

ด้วยการจับมือกับผู้ค้าส่งรายใหญ่ทั่วประเทศเพื่อให้ร้านยาสั่งออเดอร์ที่ต้องการได้โดยตรง พาร์ทเนอร์มีหน้าที่รับและส่งให้ทันปัจจุบันมีพาร์ทเนอร์ที่เป็นบริษัทยา และผู้ค้าส่งชั้นนำกว่า 50 ราย ครอบคลุมกลุ่มยาและเวชภัณฑ์ราว 4,000 รายการ เครือข่ายพันธมิตรกับร้านยาชุมชนเข้าร่วม 3,000 ร้านทั่วประเทศ เพิ่มจากก่อนโควิดซึ่งมีอยู่ราว 2,300 ร้าน

 

“โควิด-19” ดันบริการกระจายยาโต 3 เท่า  สินค้า-ยา “โควิด” ความต้องการสูง

สินค้าได้รับความนิยมช่วงโควิด-19

 

"การส่งสินค้าให้ร้านยาช่วงโควิดโตขึ้น 3 เท่า เนื่องจากมีการสั่งมากขึ้นจากรายเดิม และมีรายใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีกด้วย รายได้ช่วงไตรมาส 1 ปี 2565 ยอดการเติบโตเกินครึ่งปี 2564 ไปแล้ว คาดว่าปีนี้น่าจะโต 4 เท่า มูลค่ารวมธุรกิจร้านยาปัจจุบัน คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 60,000 กว่าล้านบาท หากรวมสินค้าอื่นๆ ที่ไม่ใช่ยาด้วย เช่น วิตามิน หน้ากากอนามัย ATK ประมาณการณ์ว่าอยู่ที่ราว 80,000 กว่าล้านบาท”

 

สินค้าที่ได้รับความนิยม ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา คือ สินค้าที่เกี่ยวกับโควิด-19 เช่น ATK สินค้าที่เรียกว่าเป็น Hot Item คือ ยาที่เกี่ยวกับ Home Isolation อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา หรือ ไตรมาส 3 ปี 2564 คนไทยเริ่มปรับตัวรับมือได้ สินค้าที่เริ่มกลับมา คือ ยาที่รักษาอาการเจ็บป่วยทั่วไป ในช่วงหลังโควิด-19 “ธีระ” มองว่า ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจะมีความต้องการเพิ่มขึ้น เช่น สมุนไพร เสริมสุขภาพเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันระยะยาวมีสมุนไพรหลายสูตรออกมาสามารถสร้างเสริมสุขภาพได้

 

เพิ่มบริการเทเลเมดิซีน-ประกันสุขภาพ

 

หลังโควิด-19 ต้องการขยายเครือข่ายร้านขายยา เภสัชกร ให้คนเข้าถึงบริการได้ง่ายขึ้น ทั้งในส่วนของ เทเลเมดิซีน และประกันสุขภาพ เมื่อร้านยากลายเป็นเซ็นเตอร์ เป็นจุดบริการประชาชนให้เข้าถึงได้มากขึ้น ส่งผลให้มีพาร์ทเนอร์ อาทิ การแพทย์ทางไกล ประกันสุขภาพ ให้ความสนใจเข้ามาทำงานกับอรินแคร์มากขึ้น

 

“โควิด-19” ดันบริการกระจายยาโต 3 เท่า  สินค้า-ยา “โควิด” ความต้องการสูง

ล่าสุด ร่วมกับ LINE Thailand เชื่อมต่อพันธมิตรบริษัทยาและผู้ค้าส่งเวชภัณฑ์ชั้นนำทั่วประเทศ ยกระดับ Supply Chain ลดช่องว่างการเข้าถึงยาและสินค้ายุคโควิด มุ่งช่วยให้เภสัชกรและร้านขายยาชุมชน ดูแลผู้ป่วยได้รวดเร็วในราคาที่ประหยัดกว่า พร้อมพัฒนา MedCare MINI APP “ระบบปรึกษาเภสัชกรออนไลน์” (Telepharmacy) บนไลน์แพลตฟอร์ม ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดมากกว่า 60 พื้นที่ทั่วไทย ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับร้านยาชุมชนหลายแสนบาทต่อเดือน โดยหลังจากเปิดตัวได้ 3 เดือน เชื่อมโยงผู้ป่วยได้รับบริการจากเภสัชกรชุมชนมากกว่า 10,000 ครั้ง

 

ปรึกษาเภสัชกรผ่าน Telepharmacy

 

ในอนาคตคนไข้ไม่จำเป็นต้องไปที่ร้านยา แต่สามารถปรึกษาเภสัชกรผ่านระบบ Telepharmacy ได้ ไม่ว่าจะเป็นการโทรคุย หรือ แชท ตามที่คนไข้สะดวก เพื่อให้ผู้ป่วยรับบริการจากเภสัชกรได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกัน หากยาที่ให้จัดส่งที่บ้าน จะต้องเป็นยาที่ร้านยาสามารถจัดส่งได้ตามกฎหมาย เช่น ยาโรคทั่วไปที่ไม่รุนแรงมาก หากเป็นยาอันตราย อาจต้องไปรับเองหรือไปที่โรงพยาบาล ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้ง่ายขึ้น 

 

“โควิด-19” ดันบริการกระจายยาโต 3 เท่า  สินค้า-ยา “โควิด” ความต้องการสูง

 

"จากนี้ต่อไปจะมีพาร์ทเนอร์อีกหลายราย จากตอนแรกเป็นระบบโลจิสติกส์อย่าง SCG Express ถัดมา มีโอกาสได้คุยกับ LINE และต่อไปจะเห็นประกัน เทเลเมดิซีน อย่างไรก็ดี ยังคง มองหาโอกาสและการสนับสนุนหรือความร่วมมือกับหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ตลอด Supply chain ตั้งแต่การผลิต การขนส่ง หรือการบริการอื่น ๆ เพื่อร่วมสร้างคุณค่าให้กับสังคมและคนไทยทุกคนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งๆขึ้นไป" 

 

ผู้ป่วยโควิดสามารถใช้บริการ “MedCare” MINI App เภสัชกรรมทางไกล (Telepharmacy) “บนแพลตฟอร์ม LINE ได้ที่ http://www.medcare.asia ร้านขายยาและเภสัชกรสามารถติดต่อเพื่อทดลองใช้ระบบและสั่งซื้อยาและเวชภัณฑ์ต่างๆได้ที่ https://www.arincare.com

 

ปี 65 อุตสาหกรรมยาขยายตัว 3-5%

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของภาคธุรกิจและกำลังซื้อของครัวเรือน แต่อุตสาหกรรมยาเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญของธุรกิจ Healthcare ซึ่งมีแนวโน้มเติบโต สะท้อนจากค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลทั้งหมดของผู้บริโภคกว่า 30-40% เป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับยา มูลค่าการนำเข้ายาของไทยในปี 64 ยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นราว 13.0% จากปี 63 ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการนำเข้ายาเพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด-19

 

แม้สถานการณ์การระบาดจะมีสัญญาณดีขึ้น จนอาจทำให้ความต้องการยาดังกล่าวปรับตัวลดลง แต่ในทางกลับกันก็อาจทำให้คนไข้ไทยกลุ่มเดิมที่รักษาโรคทั่วไป และคนไข้ต่างชาติบางกลุ่มทยอยกลับมาใช้บริการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น จำนวนผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) น่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปีนี้ ปัจจัยข้างต้นจะยังหนุนให้มูลค่าตลาดยาในประเทศปี 65 อยู่ที่ 2.33-2.38 แสนล้านบาท หรือขยายตัว 3.0-5.0% เมื่อเทียบกับปี 64 ที่ขยายตัว 2.5%

 

การจำหน่ายยาผ่านช่องทางโรงพยาบาลรัฐ น่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่ส่วนใหญ่จะพึ่งพิงสวัสดิการรักษาพยาบาลของภาครัฐเป็นหลัก ขณะที่ร้านค้าขายยารายย่อยต้องเผชิญการแข่งขันจากการเติบโตของร้านขายยาแฟรนไชส์และการขยายจุดจำหน่ายยาของห้างค้าปลีก เม็ดเงินค่าใช้จ่ายสำหรับยาต้นตำรับ (Original Drugs) ต่อยาชื่อสามัญ (Generic Drugs) มีสัดส่วนประมาณ 45:55 ของค่าใช้จ่ายยาในประเทศทั้งหมด

 

การเติบโตของตลาดยาในประเทศน่าจะเป็นโอกาสของผู้ผลิต/นำเข้ายาจากต่างประเทศเป็นหลัก เนื่องจากมูลค่าตลาดยากว่า 70% ของมูลค่าตลาดยาทั้งหมดเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ หากไทยต้องการลดการพึ่งพาการนำเข้ายาจากต่างประเทศ ต้องอาศัยความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนในการสนับสนุนตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่คุณภาพและมาตรฐานของการผลิต การสร้างความเชื่อมั่นหรือการยอมรับให้กับผู้ใช้ ตลอดจนการทำการตลาดให้หันมาใช้ยาที่ผลิตในประเทศมากขึ้น โดยอาจจะเริ่มจากยาชื่อสามัญที่ไทยพอจะมีศักยภาพในการผลิตได้ ในขณะที่ยาต้นตำรับ อาจยังต้องพึ่งพาการนำเข้า เนื่องจากต้องอาศัยการวิจัยและพัฒนาที่ใช้ระยะเวลานานและเงินลงทุนสูง

 

“โควิด-19” ดันบริการกระจายยาโต 3 เท่า  สินค้า-ยา “โควิด” ความต้องการสูง