วิกฤติขาดแคลนเลือดทุกกรุ๊ป ผู้ป่วยใช้ประจำต้องลดปริมาณ ได้รับแค่พอบรรเทา

วิกฤติขาดแคลนเลือดทุกกรุ๊ป ผู้ป่วยใช้ประจำต้องลดปริมาณ ได้รับแค่พอบรรเทา

วิกฤติขาดแคลนเลือดทุกกรุ๊ป ผู้ป่วยใช้เลือดประจำต้องลดปริมาณ ได้รับแค่พอบรรเทาโรค เพื่อให้ผู้ป่วยโรคอื่นๆด้วย เชิญชวนคนไทยแข็งแรงบริจาคเลือดช่วยผู้ป่วยด่วน! 

รศ. พญ.ปาริชาติ  เพิ่มพิกุล  หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์การธนาคารเลือด  คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ขณะนี้โรงพยาบาลศิริราชขาดแคลนเลือดสำรองทุกหมู่อย่างหนัก    ไม่สามารถให้บริการผู้ป่วยได้อย่างต่อเนื่อง  ทางโรงพยาบาลศิริราชจึงขอเชิญชวนคนไทยทุกท่านร่วมบริจาคเลือดช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉิน  ผู้ป่วยที่รอการผ่าตัด  รวมถึงผู้ป่วยโรคเลือดที่จำเป็นต้องใช้เลือด  หากท่านมีสุขภาพดี และไม่มีความเสี่ยง   สามารถติดต่อบริจาคเลือดได้ทุกวันที่ ศูนย์รับบริจาคเลือดศิริราช อาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา ชั้น 3 รพ.ศิริราช เวลา 08.30 - 16.00 น.  สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 2414  0100, 0 2414 0102  (ในวันและเวลาทำการ)

  สำหรับท่านที่ต้องการบริจาคเลือด ขอให้เตรียมร่างกายให้พร้อม โดยพักผ่อนเพียงพออย่างน้อย 6 ชั่วโมง น้ำหนัก 48 กิโลกรัมขึ้นไป และต้องไม่มีโรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคลมชัก โรคหัวใจหรือเคยเจ็บแน่นหน้าอก  เป็นต้น ทั้งนี้สามารถรับประทานอาหารและน้ำได้ตามปกติ แต่ขอให้หลีกเลี่ยงอาหารประเภทที่มีไขมันสูง งดสูบบุหรี่ งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และไม่เข้าข่ายผู้มีความเสี่ยงติด COVID-19 ในกรณีผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน COVID-19 ขอให้งดเว้น 7 วัน หากมีอาการข้างเคียงขอให้งดเว้น 14 วันหลังไม่มีอาการ จึงสามารถมาบริจาคเลือดได้

       “ขณะนี้ยังมีความต้องการเลือดอีกจำนวนมาก โดยรพ.ศิริราช เป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ทำให้มีความต้องการเลือดจำนวน แต่ละวันต้องการปริมาณเลือดไม่ต่ำกว่า 150 ยูนิต แต่สถานการณ์การบริจาคกลับมีแค่ 60 ยูนิต โดยหมู่เลือดที่ขาดได้ แก่  O,A  และ B  ส่วนหมู่เลือด AB กลับมีเพียงพอ” พญ.ปาริชาติ กล่าว

    พญ.ปาริชาติ กล่าวด้วยว่า  คาดว่าสถานการณ์เลือดที่คาดเข้าขั้นวิกฤต ทั้งศิริราช และสภากาชาดไทย เนื่องมาจาก 1.สถานการณ์วันหยุดยาว ทำให้ผู้บริจาคจำนวนลดลง และ2.สถานการณ์การติดโควิด19ที่คนติดง่าย ทำให้บางคนอยู่ระหว่างการกักตัวดูอาการ หรือ การรักษา  ทั้งนี้สถานการณ์เลือดถือว่าเข้าขั้นวิกฤต เนื่องจากปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา 28-29 เมษายน 2565 ยอดจำนวนผู้บริจาคน้อย เปรียบกับปริมาณการใช้ โดยผู้ป่วยที่ใช้เลือดประจำ ได้แก่ ผู้ป่วยธาลัสซีเมีย จนต้องมีการเจรจาขอให้ลดปริมาณเลือด ให้แค่บรรเทาอาการ เพื่อให้ผู้ป่วยโรคอื่นๆที่มีความจำเป็นต้องใช้เลือดได้ด้วย

      สำหรับผู้บริจาค 1 คน จะให้เลือดได้ 1 ยูนิต โดยเลือดจำนวนนี้เมื่อบริจาคไปแล้วไม่สามารถใช้ได้ทันที ต้องผ่านการตรวจเชื้อ HIV   และไวรัสตับอักเสบ B  และ C และปั่นแยกเลือด เกล็ดเลือด และพลาสม่าออกจากกัน เพื่อไปใช้ในผู้ป่วยอื่น ทำให้กว่าจะนำเลือดมาใช้ได้คือวันถัดไป  จึงอยากเชิญชวนให้ประชาชนที่มีร่างกายแข็งแรง พักผ่อนเพียงพออย่างน้อย 6 ชั่วโมง น้ำหนัก 48 กิโลกรัมขึ้นไป และต้องไม่มีโรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคลมชัก โรคหัวใจหรือเคยเจ็บแน่นหน้าอก  สามารถร่วมบริจาคได้

        ทั้งนี้  ผู้บริจาค สามารถรับประทานอาหารและน้ำได้ตามปกติ แต่ขอให้หลีกเลี่ยงอาหารประเภทที่มีไขมันสูง งดสูบบุหรี่ งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  และไม่เข้าข่ายผู้มีความเสี่ยงติด โควิด19 ในกรณีผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด19 ขอให้งดเว้น 7 วัน หากมีอาการข้างเคียงขอให้งดเว้น 14 วันหลังไม่มีอาการ