สัญญาณ “โควิด” ไทยขาลง พร้อมสู่โรคประจำถิ่น

สัญญาณ “โควิด” ไทยขาลง  พร้อมสู่โรคประจำถิ่น

การเดินหน้าเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นต้องมีการจัดทำแผนเพื่อให้ประชาชนมีความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) ให้ใช้ชีวิตอยู่กับโควิดที่จะเป็นโรคประจำถิ่นได้

ประเทศไทย ผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศมากขึ้น ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยยกเลิกระบบ Test & Go ให้ผู้ที่มีประวัติฉีดวัคซีนโควิด-19 และประกันสุขภาพ สามารถเข้าประเทศได้ โดยตรวจ ATK ด้วยตนเองและรายงานผลผ่านคิวอาร์โค้ดใน Thailand Pass แต่หากไม่มีประวัติการฉีดวัคซีน ต้องมีผลตรวจ RT-PCR เป็นลบภายใน 72 ชั่วโมง หรือหากไม่มีผลตรวจ RT-PCR ต้องเข้ารับการกักตัว 5 วัน ซึ่งผ่านมา 2 วัน พบว่าสถานการณ์เป็นไปด้วยดี ขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนเข้าประเทศไทยผ่าน Thailand Pass และทยอยเข้าประเทศจำนวนมาก เมื่อมาถึงแล้วสามารถเดินทางออกจากสนามบินได้โดยไม่มีข้อติดขัด

แนวโน้มมีสัญญาณที่ดีหลังผ่อนคลายมาตรการ สถานการณ์ผู้ติดเชื้อ “โควิด-19” ยังเป็นไปด้วยดี แม้ว่าชาวต่างชาติเดินทางเข้ามามากขึ้น แต่ไม่ได้มีสถานการณ์อะไรที่น่ากังวล สถานการณ์โรคโควิด-19 ของประเทศไทย ขณะนี้อยู่ในระดับทรงตัว การติดเชื้อรายใหม่ลดลง ผู้ป่วยอาการรุนแรงและเสียชีวิตเริ่มมีแนวโน้มลดลง เห็นได้จากการใช้ช่วยเครื่องหายใจ การใช้ห้องไอซียู และยาต้านไวรัสในแต่ละวันที่เริ่มลดลง ถือเป็นแนวโน้มที่ดี มีแนวโน้มว่าสถานการณ์กำลังดีขึ้น บ่งบอกว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นโรคประจำถิ่นน่าจะเป็นไปตามเป้าหมายได้ในเดือน ก.ค.

ปรับโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น พร้อมรับสถานการณ์ด้วย 3 พอ คือ หมอพอ เตียงพอ และยาพอ ควบคู่กับสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพให้กับประชาชนและทยอยผ่อนคลายมาตรการมากขึ้น เตรียมเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งจะช่วยลดความกดดันของประชาชนจากภาวะค่าครองชีพสูงขึ้นได้ ซึ่งผลจากการที่สถานการณ์เริ่มทรงตัว และผู้ป่วยรักษาที่บ้านมากขึ้น ทำให้สถานพยาบาลหลายแห่งทยอยยุบวอร์ดรักษาโควิด-19 กลับมารักษาผู้ป่วยโรคอื่นๆ และทำการรักษาผ่าตัดมากยิ่งขึ้น คาดว่าภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ จะมีการปรับการรักษาเข้าสู่ระบบปกติ

แต่ก็ยังไม่ควรจะวางใจ ต้องติดตามสถานการณ์โควิดอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากบางประเทศเริ่มพบเชื้อโควิดสายพันธุ์ย่อยระบาด ที่สำคัญการเดินหน้าเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นต้องมีการจัดทำแผนเพื่อให้ประชาชนมีความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) ให้ใช้ชีวิตอยู่กับโควิดที่จะเป็นโรคประจำถิ่นได้ รู้วิธีป้องกัน และดูแลตัวเองให้ปลอดภัย เช่น การสวมหน้ากากอนามัยยังมีความจำเป็น เนื่องจากช่วยป้องกันการติดเชื้อและแพร่เชื้อได้

ขณะเดียวกัน จะมีการประเมินสถานการณ์เป็นระยะเพื่อทยอยผ่อนคลายมากขึ้นให้ประชาชนสามารถดำเนินชีวิต ประกอบอาชีพและเลี้ยงดูตนเองได้ ช่วยลดความกดดันจากภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น เป็นการวางแผนเปลี่ยนผ่านสู่โรคประจำถิ่น ใช้ชีวิตอย่างไรให้อยู่กับโควิดที่จะเป็นโรคประจำถิ่นให้ได้ และต้องรู้วิธีป้องกัน รู้วิธีทำตัวเองให้ปลอดภัย ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับ “โควิด” ได้อย่างปลอดภัย ควบคู่ไปกับการเดินหน้าของภาคเศรษฐกิจ