รพ.ย่านทุ่งพญาไทร่วมดูแลผู้ป่วย 4 โรค ช่วยเข้าถึงการรักษามากขึ้น

รพ.ย่านทุ่งพญาไทร่วมดูแลผู้ป่วย 4 โรค ช่วยเข้าถึงการรักษามากขึ้น

สธ.เปิดเวทีให้รพ./สถาบันในพื้นที่ทุ่งพญาไท และย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี ร่วมกันพัฒนาคุณภาพการบริการประชาชน เริ่มบริหารจัดการแบ่งปันทรัพยากรด้านสุขภาพให้ผู้ป่วย 4 โรค เข้าถึงการรักษามากขึ้น

วันนี้ (2 พฤษภาคม 2565) ที่อาคารกัลยาณิวัฒนา โรงพยาบาลสงฆ์ กทม. นายแพทย์โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ได้รับมอบหมายจาก นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดงาน “มหกรรมคุณภาพ ทุ่งพญาไท” ครั้งที่ 9 ภายใต้แนวคิด "การพัฒนาระบบบริการสุขภาพในสถานการณ์ COVID-19” โดยมี นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ นายแพทย์ณรงค์ฤทธิ์ มัศยาอานนท์ รองคณบดีฝ่ายสนับสนุนโรงพยาบาล โรงพยาบาลรามาธิบดี นายแพทย์อาคม ชัยวีระวัฒนะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงฆ์ ผู้บริหารโรงพยาบาล/สถาบันในเครือข่าย 11 แห่ง และผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 200 คน เข้าร่วมงาน

นายแพทย์โสภณ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพได้อย่างสะดวก รวดเร็วและทั่วถึง พร้อมทั้งส่งเสริมส่งการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ประสิทธิผลในการบริการ ซึ่งที่ผ่านมา ได้ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงศึกษาธิการ โดยสํานักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) และศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) พัฒนา “ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี” ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีสถาบันการแพทย์และสาธารณสุขที่หนาแน่นที่สุดของประเทศไทย ให้เป็นพื้นที่ต้นแบบในการพัฒนานวัตกรรมการแพทย์ของประเทศเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการบริการเทคโนโลยีการแพทย์ที่ทันสมัยของประชาชน โดยโรงพยาบาลของย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี จะมีการบริหารจัดการแบ่งปันทรัพยากรด้านสุขภาพ (Health Resource Sharing) อาทิ เตียงสำหรับผู้ป่วย เครื่องมือแพทย์ราคาแพง เพื่อให้ผู้ป่วยที่เจ็บป่วยด้วยโรคหัวใจขาดเลือด หลอดเลือดสมองตีบ โรคมะเร็ง และไส้ติ่งอักเสบที่ต้องผ่าตัด สามารถเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น ภายใต้ชุดสิทธิประโยชน์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยหลังจากวันที่ 1 พฤษภาคม เป็นต้นไป ผู้ป่วยโรคไส้ติ่งอักเสบที่ต้องได้รับการรักษาโดยการผ่าตัด จะมีเตียงรองรับการรักษาเพิ่มขึ้น จากความร่วมมือในการบริหารจัดการเตียงของสถานพยาบาลย่านโยธี ให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด

นายแพทย์สมศักดิ์ กล่าวว่า ในฐานะประธานการจัดการทรัพยากรรวมของย่านโยธี ได้ใช้หลักการของการใช้ทรัพยากรร่วมกัน การแบ่งปันเครื่องมือแพทย์ระหว่างโรงพยาบาล อาทิเช่น การยืมเครื่องมือแพทย์จากโรงพยาบาลหนึ่ง มาผ่าตัดอีกโรงพยาบาลและส่งคนไข้นอนสังเกตุอาการอีกโรงพยาบาล เพื่อให้ประชาชนได้รับการรักษาที่รวดเร็ว ปลอดภัย เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และนวัตกรรมด้านการแพทย์ระหว่างกัน ซึ่งงานมหกรรมคุณภาพ ทุ่งพญาไท จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยปีนี้เป็นครั้งที่ 9 ภายใต้แนวคิด “การพัฒนาระบบบริการในสถานการณ์ COVID-19” มีสถานพยาบาลในพื้นที่ทุ่งพญาไท 11 แห่ง ประกอบด้วย สถาบันประสาทวิทยา, สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี, สถาบันโรคผิวหนัง, สถาบันมะเร็งแห่งชาติ, สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์, โรงพยาบาลสงฆ์, โรงพยาบาลราชวิถี, โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า, โรงพยาบาลรามาธิบดี, โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน และโรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งส่วนหนึ่งอยู่ในย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการพัฒนาคุณภาพ รวมถึงแสดงความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะที่จะนำไปสู่การต่อยอดขยายผลงานคุณภาพในวงกว้าง เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า หลักการของย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธีเป็นการรวมตัวของสถานพยาบาลย่านพญาไท 11 แห่งที่ทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายในการดูแลสุขภาพประชาชน และการพัฒนานวัตกรรมทั้งด้านบริการ บริหารและวิชาการ รวมถึงการแบ่งปันทรัพยากรร่วมกัน ซึ่งได้มีการตั้งคณะทำงานแบ่งปันทรัพยากร มีตนและอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลร่วมเป็นประธาน ทำงานร่วมกัน เบื้องต้นได้แบ่งเจ้าภาพรับผิดชอบผู้ป่วยโรคฉุกเฉินดังนี้ ไส้ติ่งอักเสบ มีคณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดีเป็นเจ้าภาพ ได้คลิ๊กออฟไปแล้วเมื่อวันที่ 1 พ.ค.65 โดยผู้ป่วยสามารถผ่าตัดรพ.ไหนก็ได้ย่านโยธี ส่วนการพักฟื้นรักษาตัว หากเตียงจำกัด ผู้ป่วยชายสามารถส่งต่อมานอนที่รพ.สงฆ์ ผู้ป่วยหญิงส่งต่อมารพ.เวชศาสตร์เขตร้อนได้ โดยบอร์ดสปสช.ได้อนุมัติสิทธิผู้ป่วยที่เข้าระบบนี้แล้ว โรคหลอดเลือดสมองมี สถาบันประสาทเป็นเจ้าภาพ โรคหลอดเลือดหัวใจ รพ.ราชวิถีเป็นเต้าภาพ และมะเร็งสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เป็นเจ้าภาพ ทั้งนี้เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน และการทำงานของทุกหน่วยงานมุ่งเน้นยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง

ด้านนายแพทย์ณรงค์ฤทธิ์ กล่าวว่า การพัฒนาย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี (Yothi Medical Innovation District: YMID) มีความก้าวหน้าตามแผนที่กำหนดไว้ เป็นผลจากความมุ่งมั่นตั้งใจของหน่วยงานพันธมิตรในการเสริมสร้างและขับเคลื่อนความร่วมมือสถาบันทางการแพทย์ต่าง ๆ ให้เกิดเป็นเครือข่ายที่จะใช้ทรัพยากรร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด สามารถสร้างนวัตกรรมด้านการรักษาพยาบาล และพัฒนาเป็นเครือข่ายในการพัฒนาวิทยาการและนวัตกรรมทางการแพทย์ของประเทศและภูมิภาคได้อย่างแท้จริง