"โควิด19"เริ่มคงตัว ปรับสู่"โรคประจำถิ่น"พร้อมกันทั้งประเทศ

"โควิด19"เริ่มคงตัว ปรับสู่"โรคประจำถิ่น"พร้อมกันทั้งประเทศ

“อนุทิน”ลั่นปรับสู่โรคประจำถิ่นต้องทั้งประเทศ โควิด19เริ่มคงตัวค่อยๆลดลง  ยอดเสียชีวิต 60-70%ไม่ได้ตายจากโควิด จับตาพ.ค.1-2สัปดาห์ ก่อนยกเลิกThailand Pass – ตรวจATKเข้าไทย  เร่งฉีดวัคซีนกลุ่มเด็กรับเปิดเทอม พร้อมเผยปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะทำสถานการณ์พลิกกลับ

  เมื่อวันที่ 27 เม.ย.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล  รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด19 ว่า  สถานการณ์เริ่มคงตัวมาระดับหนึ่งแล้ว ถ้าไม่มีการกลายพันธุ์ของไวรัสเป็นอื่น โดยช่วงนี้จำนวนผู้ป่วย ผู้ป่วยอาการหนักและผู้เสียชีวิตน่าจะลดลงในเวลาอันใกล้  จากที่มีการติดตามทุกวัน การใช้เครื่องช่วยหายใจ ปอดอักเสบ อาการรุนแรง แนวโน้มลดลง รวมถึง การใช้ยาต้านไวรัสในแต่ละวันแนวโน้มลดลงด้วย สอดคล้องกับความตั้งใจของสธ.และรัฐบาลที่จะทำให้ประเทศได้รับการผ่อนคลายมาตรการโควิด19ให้ได้มากที่สุด
    “ความต้องการของประชาชนที่อยากให้ผ่อนคลายมาตรการให้มากที่สุด เพียงแต่ต้องการให้สธ.แสดงความมั่นใจว่าสุขภาพจะไม่เป็นอันตราย แม้จะติดเชื้อแล้วก็ไม่เป็นอะไร ซึ่ง สธ.ก็ยืนยันว่าติดเชื้อแล้วไม่เป็นอะไรแน่นอน หากมารับวัคซีน 3 เข็มเป็นอย่างต่ำ จึงต้องมาบูสต์ มาฉีด 4 เข็มได้ยิ่งดี จากการติดตามพบว่า อาจจะติดเชื้อได้ เพราะเป็นสังคมเปิด แต่มากกว่า 90% ไม่แสดงอาการ ไม่ต้องเข้า รพ. และไม่มีผู้เสียชีวิตถ้าไม่มีโรคอื่น”นายอนุทินกล่าว  

      ถามต่อว่าการปรับสู่โรคประจำถิ่นจะดำเนินการนำร่องแซนด์บ็อกซ์บางจังหวัดหรือภาพรวมทั้งประเทศ นายอนุทิน กล่าวว่า ต้องเข้าใจในบริบทเดียวกันว่าต้องทั้งประเทศ จะไปเป็นโรคประจำถิ่นจังหวัดนี้ ข้ามไปอีกจังหวัดหนึ่งไม่เป็นก็จะวุ่นวาย ต้องให้เป็นมาตรฐานเดียวกันเพื่อความเข้าใจ ซึ่งก็ไม่ใช่สิ่งที่ยากแล้ว ประชาชนให้ความร่วมมือเต็มที่ สวมหน้ากากอนามัย ฉีดวัคซีนแล้วไม่ป่วยหนัก ไม่เสียชีวิต สถานพยาบาลมีพร้อม ยาพร้อม บุคลากรทางการแพทย์พร้อม ก็ต้องลุยเดินหน้า

      “ตอนนี้ไม่มีแล้ว Test and Go เหลือแค่ตรวจ ATK ด้วยตนเอง หากผ่าน 1 พ.ค.ไป 1-2 สัปดาห์ หากไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ ก็อาจเสนอให้ไม่ต้องมีการตรวจ ATK หรืออาจไม่ต้องมี Thailand Pass ในการเข้าประเทศ ก็ต้องค่อยๆ ปรับเข้าไป เพราะมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยกับการปล่อยหมด บางส่วนก็บอกให้ใจเย็นๆ  ก็พยายามสร้างสมดุล เพราะเอาใจคนทั้งหมดก็ไม่ได้ ก็เน้นใช้หลักฐาน สถิติว่าสามารถทำได้ ก็จะได้รับความร่วมมือ สำคัญคือต้องมาฉีดวัคซีนกระตุ้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุ”นายอนุทินกล่าว  

     นายอนุทิน กล่าวอีกว่า  สธ.เสนอข้อมูลลงรายละเอียดมากขึ้น ตายจากโรคโควิดและตายด้วยโควิด เห็นว่าตายจากโควิดน้อยกว่าตายด้วยโควิด แสดงว่าโควิดเองทำลายชีวิตผู้คนได้น้อยลง และผู้ที่ตายจากโควิดพบว่า 90% ขึ้นไปไม่ได้รับวัคซีน เห็นแล้วว่าแก้ไขป้องกันได้ก็ต้องไปป้องกันตรงสาเหตุ ส่วนผู้ที่ตายด้วยโควิดอาจจะต้องเสียชีวิตด้วยโรคอื่นๆ ที่มีอยู่ เพียงแต่ติดเชื้อขึ้นมา เช่น ไตวายระยะสุดท้าย แล้วไปติดเชื้อโควิด อาจเสียชีวิตเพราะไตวาย แต่มีโควิดก็ต้องบันทึกว่ามีโควิด ทำให้เกิดข้อมูลที่ไม่แม่นยำ 100% ก็ต้องแยกออกมาให้เห็น นี่คือวิธีการที่จะเดินเข้าสู่ภาวะโรคประจำถิ่นให้เร็วให้ได้ ไม่ต้องไปกำหนดว่าวันไหน เพราะทำอยู่แล้ว ทำเข้าไปเรื่อยๆ ทุกวัน

       ถามว่าประเมินอย่างไรที่หลังสงกรานต์ตัวเลขไม่ได้พุ่งขึ้นสูง นายอนุทิน กล่าวว่า ขอบคุณประชาชน ขอบคุณความร่วมมือ ที่มาฉีดวัคซีน วันนี้เข้าวันที่ 10 หลังสงกรานต์ หวังว่าจะคงอัตราสถานการณ์ได้  มีเตียง มียา มีหมอให้คนที่ต้องใช้จริงๆ นี่ก็คือโรคประจำถิ่นอีกอย่างหนึ่งในทางปฏิบัติก็ทำมาแล้ว


\"โควิด19\"เริ่มคงตัว ปรับสู่\"โรคประจำถิ่น\"พร้อมกันทั้งประเทศ

       ด้านนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า  ในการเข้าสู่โรคประจำถิ่นมีการเตรียมความพร้อม ทั้งเรื่องการฉีดวัคซีน ระบบสาธารณสุขและความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ  อย่างไรก็ตาม ตามที่เสนอศบค.ไปมีราว 12 จังหวัดที่เริ่มเป็นขาลง ซึ่งจะต้องประเมินสถานการณ์อีกครั้งทั้งภาพรวมประเทศและรายจังหวัด โดยขณะนี้ยังเป็นไปตามคาดการณ์ว่าหลังสงกรานต์น่าจะขึ้นหรือคงที่ ปัจจุบันดูเหมืนอคงที่และแนวโน้มค่อยๆลดลงจากการดูข้อมูลตัวเลขในส่วนต่างๆ
       “การที่หลังสงกรานต์สถานการณ์ไม่ได้เพิ่มมากขึ้น เป็นเพราะความร่วมมือของประชาชนเป็นอย่างดี  ส่วนใหญ่ยังเคารพกติกา ช่วงสงกรานต์มีการพาผู้สูงอายุมาฉีดวัคซีนพอสมควร ทำให้สถานการณ์ไม่ได้พุ่งขึ้นไปมาก เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้”นพ.โอภาสกล่าว
       ผู้สื่อข่าวถามถึง ปัจจัยเสี่ยงจากนี้ที่จะทำให้ตัวเลขพุ่งขึ้น นพ.โอภาส กล่าวว่า 

     1.เชื้อไวรัสจะกลายพันธุ์อีกหรือไม่  ซึ่งเท่าที่ติดตามยังไม่มีการกลายพันธุ์อะไรมากนัก ยังเป็นสายพันธุ์ย่อยๆ อย่างไรก็ตาม  เชื้อมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่ที่สำคัญเมื่อกลายพันธุ์แล้วต้องพิจารณาว่าติดเชื้อง่ายขึ้นหรือไม่   รุนแรงหรือไม่  ดื้อต่อวัคซีน ดื้อต่อการรักษาหรือไม่ เท่าที่ติดตามยังไม่มี แต่ก็คาดเดาไม่ได้  และไม่ควรตื่นกลัวเกินไป เมื่อไหร่ที่มีการกลายพันธุ์ที่เกิดสิ่งเหล่านี้สธ.จะรีบแจ้งประชาชน ส่วนถ้ากลายพันธุ์เล็กน้อยไม่ต้องตื่นกลัว ให้นักวิทยาศาสตร์ติดตามไป
      2.บุคคล ขณะนี้ประเทศไทยฉีดเข็ม 1 แล้วกว่า 80 % กลุ่มผู้สูงอายุฉีดกว่า 10 ล้านโดสแล้ว เข็มบูสเตอร์คงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถ้าหากคนมีภูมิคุ้มกันทั้งจากวัคซีนและการติดเชื้อ เมื่อติดเชื้อซ้ำโอกาสเกิดน้อยลงและอาการไม่รุนแรง  และ3.ระบบสาธารณสุขรู้จักโควิด19มากขึ้น  รู้ว่าถ้าฉีดวัคซีนแล้วติดเชื้อมีอาการน้อยไม่ต้องกินยาก็ได้ และมียาใหม่ๆในการรักษาผู้ที่มีอาการหนักหรือมีความเสี่ยง 
\"โควิด19\"เริ่มคงตัว ปรับสู่\"โรคประจำถิ่น\"พร้อมกันทั้งประเทศ
        นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ทุกอย่างเป็นตามแผนการคาดการณ์ ที่เหลือเป็นเรื่องของกิจกรรมต่างๆว่าจะทำอะไรบ้าง ปัจจุบันสามารถทำได้เกือบหมด เหลือเพียงการเปิดผับบาร์ คาราโอเกะอย่างเป็นทางการ  ซึ่งก็อยู่ในไทม์ไลน์ที่จะดำเนินการ ระยะต่อไปในเดือนพ.ค. ก็ยกเลิกTest and Go หากฉีดวัคซีนแล้วและมีประกันสุขภาพก็เข้าได้เลยแล้วSelf  ATKเหมือนคนไทย  ไม่ฉีดวัคซีนแต่มีผลตรวจหาเชื้อใน 72 ชั่วโมงก็เข้าได้แล้วSelf ATK ส่วนคนที่ไม่ฉีดวัคซีน ไม่ตรวจ ก็เข้าระบบกักตัวที่ลดเหลือ 5+5วัน และคงประเมินอีกทีหลัง 1 พ.ค.และดูตามขั้นตอนตอ่ไป
      ช่วงเปิดเทอมในเดือนพ.ค.  โดยในเด็กมัธยมฯ ฉีดวัคซีน 80-90 % ครูเกือบ 100 % ส่วนเด็กประถมฯ ฉีดเข็ม1 ไปประมาณ 50-60 % ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)จะเร่งฉีดให้เสร็จหลังเปิดเทอมประมาณ 1 เดือน ก็น่าจะคลี่คลายไปได้  และเปิดเทอมแบบOn-siteให้มากที่สุด และถ้าเจอเด็กติดเชื้อก็อย่าตื่นตระหนก แผนเผชิญเหตุโรงเรียนมีการเตรียมการแล้ว แต่การติดเชื้อไม่สิ่งที่ดียังคงต้องมีมาตรการป้องกันส่วนบุคคล ถ้าผ่านเดือนพ.ค.ไปได้ ทุกอย่างก็จะเป็นไปตามแผนที่กำหนด
     “แนวโน้มโรคของโลก ทิศทางขาลงเช่นเดียวกัน แนวโน้มจะให้การเดินทางและการดำเนินชีวิตกลับมาเป็นปกติให้ได้มากที่สุด ของประเทศไทยก็เป็นแนวนี้ตามลำดับอย่างเป็นขั้นตอน แต่ไม่ได้จะเอาตามต่างประเทศ 100 % ต้องดูแนวโน้มโลก สถานการณ์ประเทศ บริบทที่ทำปรับให้เข้าสถานการณ์”นพ.โอภาสกล่าว 

       ผู้สื่อข่าวถามถึงแนวน้มการลดลงของผู้เสียชีวิต นพ.โอภาส กล่าวว่า  หลายประเทศกำลังมองถึงเรื่องการเสียชีวิตจากโควิด19 คือติดเชื้อแล้วมีอาการโควิดชัด เช่น ปอดอักเสบ  และเสียชีวิตโดยมีโควิด19ร่วมด้วย  เช่น เป็นมะเร็งอาการแย่ลงไปรับรักษาแล้วตรวจพบติดโควิด19 พยายามจะแยกให้ชัดเจนซึ่งหลายประเทศทำแล้ว เช่น อเมริกาและอังกฤษ ซึ่งราวเดือนพ.ค.จะมีรายละเอียดให้เห็น ทั้งนี้ ข้อมูลที่มหาวิทยาลัยใหญ่ๆให้ตัวเลขในที่ประชุมEOCสธ.3-4 วันก่อน จะเป็นเสียชีวิตจากโควิดประมาณ 30-40 % และเสียชีวิตโดยมีการติดโควิดร่วมด้วย 60-70 % กำลังพิจารณาข้อมูลทั้งหมด ซึ่งก็จะทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตของประเทศไทยดูเหมือนสูงเพราะรายงานทุกอย่างที่มี


      /////////////////