‘รัฐ’ ต้องอัด ‘ยาแรง’ ฟื้นศก. รับ ‘โควิดขาลง’

‘รัฐ’ ต้องอัด ‘ยาแรง’  ฟื้นศก. รับ ‘โควิดขาลง’

ผู้ติดเชื้อในประเทศไทยกำลังเข้าสู่ช่วงขาลง ล่าสุดบางประเทศได้ให้ยกเลิกการสวมหน้ากากแล้ว ประเทศไทยอาจต้องหาแนวทางการปรับวิถีใหม่เพื่อสอดรับความเป็นโรคประจำถิ่นดังที่ตั้งใจ โดยการวางแผนระบบสาธารณสุขที่ดีจะช่วยให้ฟื้นศก. ได้อย่างมีนัยยะสำคัญ

อัตราการติดเชื้อโควิดในประเทศที่ดูผ่อนคลายขึ้น จากตัวเลขการติดเชื้อที่ลดลง สถานการณ์โควิดในไทยช่วงนี้ อาจเรียกได้ว่าอยู่ในช่วงขาลง เป็นโอกาสของรัฐบาลที่ต้องเร่งหามาตรการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ อัดยาให้แรง กระตุ้นการจับจ่าย พร้อมกับการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ให้ผู้ประกอบการในประเทศ “ขยับขยาย” ฟื้นฟูกิจการ ไม่เฉพาะโควิดในไทยที่ดูดีขึ้น หากในประเทศเพื่อนบ้านอย่าง “มาเลเซีย” และ “กัมพูชา” ก็ผ่อนคลายมาตรการครั้งใหญ่ มาเลเซียยกเลิกบังคับสวมหน้ากากกลางแจ้งวันที่ 1 พ.ค.นี้ นักเดินทางฉีดวัคซีนครบแล้วเข้าประเทศได้ ไม่ต้องตรวจหาเชื้อ ส่วนในกัมพูชา ก็ประกาศยกเลิกสวมหน้ากากนอกอาคารแล้วมีผลทันที

มาเลเซียนั้นแม้จะประกาศให้ยกเลิกสวมหน้ากาก แต่ก็ให้เป็นทางเลือกของประชาชน ซึ่งรัฐบาลยังสนับสนุนให้สวมหน้ากากโดยเฉพาะในสถานที่ผู้คนแออัด เช่น ตลาดรอมฎอน สนามกีฬา ตลาดโต้รุ่ง ขณะที่ในอาคาร ในห้างสรรพสินค้า และรถโดยสารสาธารณะ ยังบังคับสวมหน้ากาก นอกจากนี้ ยังยกเลิกการตรวจหาเชื้อก่อนเดินทางและเมื่อเดินทางมาถึง สำหรับนักเดินทางที่ฉีดวัคซีนครบแล้ว คนที่หายจากโควิด 6-60 วันก่อนออกเดินทางและนักเดินทางที่อายุไม่เกิน 12 ปี ยกเลิกประกันการเดินทางสำหรับชาวต่างชาติที่จะเข้าประเทศ แต่คนที่ฉีดวัคซีนไม่ครบยังต้องตรวจโควิด และบังคับกักตัวห้าวัน ส่วนที่ “กัมพูชา” ได้ยกเลิกการบังคับสวมหน้ากากนอกอาคารมีผลทันที ส่วนในอาคาร เช่น ห้องประชุม โรงภาพยนตร์ยังคงบังคับสวมหน้ากาก

ในประเทศไทยเอง กำลังพยายามปรับให้ “โควิด-19” เป็นโรคประจำถิ่นซึ่งแนวทางของ กระทรวงสาธารณสุขนั้น ต้องการให้มีการปรับเป็นโรคประจำถิ่นทั้งประเทศ ซึ่งการจะทำเช่นนี้ได้ ยอดติดเชื้อในประเทศจะต้องมีแนวโน้มที่ลดลงต่อเนื่อง ขณะที่ ยอดเสียชีวิต 60-70% จะต้องไม่ใช่การเสียชีวิตจากโควิด รวมไปถึงจำนวนคนฉีดวัคซีนต้องมีสัดส่วนที่มากพอ และที่สำคัญระบบสาธารณสุขต่างๆ ต้องเตรียมความพร้อมไว้อย่างเต็มที่ด้วย 

การผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น เรามองว่า เป็นผลดีมากกว่าผลเสีย เพราะเศรษฐกิจในห้วงเวลานี้ ต้องการการพลิกฟื้นอย่างเร่งด่วน ประเทศไทยมีวิกฤติมากมายทับซ้อนกันอยู่ โดยเฉพาะวิกฤติจากราคาพลังงานที่ยังเป็นหนามใหญ่ ทิ่มแทงระบบเศรษฐกิจให้ยิ่งทรุดลง ดังนั้น รัฐต้องเร่งหายาแรงอัดฉีดเม็ดเงินเข้ามาในระบบเศรษฐกิจให้เร็วที่สุด หามาตรการอุดหนุนผู้ประกอบการ ให้ลุกขึ้นเดินหน้าได้ต่อ โดยเฉพาะเร่งกระตุ้นเครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวหลักอย่าง ภาคท่องเที่ยว ส่งออก ให้กลับมาพร้อมเป็นขุมทรัพย์ที่เราพร้อมกอบโกยเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าประเทศ เป็นบทพิสูจน์ฝีมือทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าจะฝ่าด่านหินครั้งนี้ไปได้สวยงามเพียงใด