"วัคซีนโควิด-19" ไวรัลเวคเตอร์ - mRNA ลดป่วยหนัก เสียชีวิตกว่า 90%

"วัคซีนโควิด-19" ไวรัลเวคเตอร์ - mRNA ลดป่วยหนัก เสียชีวิตกว่า 90%

"แอสตร้าเซนเนก้า" เผยผลศึกษา "วัคซีนโควิด-19" ชนิด "ไวรัลเวคเตอร์" และ วัคซีน "mRNA" ล้วนมีประสิทธิผลเท่ากัน ในการป้องกันการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล 91.3-92.5% และการเสียชีวิตจาก "โรคโควิด-19" 91.4 – 93.3% ชี้ ลดป่วยหนัก เสียชีวิต ตัวแปรสำคัญ บ่งบอกประสิทธิผลวัคซีน

2 ปีที่ผ่านมา ความเสียหายที่เกิดจากโรคระบาด โควิด-19 หนักหนากระทบผู้คนทั่วโลก รวมถึงภาคเศรษฐกิจ โควิด-19 ถือเป็นการทดสอบระบบสาธารณสุขทั่วโลก ซึ่งยังเป็นความท้าทายที่เราต้องจับตามองต่อไป

 

เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 65 รศ.ดร.นพ.ประตาป สิงหศิวานนท์ เลขาธิการเครือข่ายซีมีโอทรอปเมด และอดีตคณบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในงานแถลงข่าว “ประสิทธิผลของวัคซีนป้องกันโควิด-19” จัดโดย บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย โดยระบุว่า สิ่งสำคัญ คือ การสร้างภูมิคุ้มกัน เพื่อให้บริการทางการแพทย์พื้นฐาน เพื่อช่วยชีวิต และเป็นการลงทุนด้านสุขภาพ "วัคซีน" จึงเป็นเสาหลักสำคัญ ของความมั่นคงของสาธารณสุขในโลก และการต่อสู้กับการระบาดโควิด-19 และโรคระบาดใหม่ๆ ในอนาคต

 

ลดป่วยหนัก เสียชีวิต ตัวแปรสำคัญ บ่งบอกประสิทธิผลวัคซีน

 

"สิ่งที่เห็นได้ชัด คือ การให้วัคซีน ถือเป็นการป้องกันโดยเฉพาะในเรื่องของผลข้างเคียงรุนแรง เช่น อาการรุนแรง และเสียชีวิต ขณะเดียวกัน ประสิทธิผลของวัคซีน แต่เดิมเราใช้วิธีการวัดการสร้างแอนติบอดีข้างต้นได้ดี แต่ประสิทธิผลวัคซีนในโลกความเป็นจริง สะท้อนให้เห็นจากประสบการณ์ใช้งานจริง ปัจจุบัน สามารถวัดตัวแปรสำคัญ โดยเฉพาะการป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยรักษาตัวใน รพ. และ เสียชีวิต" รศ.ดร.นพ.ประตาป กล่าว 

ไวรัลเวคเตอร์ - mRNA ลดเข้ารพ. 91.3-92.5%

 

รายงานการวิเคราะห์ข้อมูลฉบับใหม่โดยผู้เชี่ยวชาญจากงานวิจัยที่มาจากกรณีศึกษากว่า 79 เรื่อง เผยว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ถูกใช้งานอย่างแพร่หลายทั่วโลก ต่างให้ประสิทธิผลที่เท่ากันในการการป้องกันการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 หลังการให้วัคซีนสองเข็ม

 

โดยรายงานฉบับดังกล่าวแสดงข้อมูลอย่างชัดเจนว่าทั้งวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของ แอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดไวรัล เวคเตอร์ (Viral Vector) และวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิด mRNA ต่างให้ประสิทธิผลในการป้องกันการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล อยู่ที่ระหว่าง 91.3-92.5% และการเสียชีวิต อยู่ที่ระหว่าง 91.4 – 93.3% ในระดับเดียวกัน โดยไม่มีความต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งครอบคลุมผู้ป่วยในทุกช่วงอายุ

 

แม้ว่าข้อมูลในขณะที่ทำรายงานการวิเคราะห์ฉบับนี้จะเป็นข้อมูลที่เกี่ยวกับสายพันธุ์เดลต้าและสายพันธุ์ก่อนหน้า แต่ข้อมูลจากการระบาดระลอกใหม่ได้บ่งชี้ให้เห็นถึงผลที่คล้ายคลึงกันเกี่ยวกับประสิทธิผลของวัคซีนต่อการป้องกันอาการรุนแรงจากโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน
 

ศาสตราจารย์กาย ทเวทส์ ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยทางคลินิกของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดในเวียดนาม เปิดเผยว่า วัคซีนโควิด-19 มีความสำคัญต่อการช่วยชีวิตและช่วยให้ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถกลับเข้าสู่สภาวะปกติได้ในปีที่ผ่านมา

 

ซึ่งผลการวิเคราะห์ข้อมูลโดยผู้เชี่ยวชาญของเราแสดงให้เห็นว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า และ วัคซีนชนิด mRNA ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันต่างให้ประสิทธิผลในการป้องกันโรคโควิด-19 ได้ในระดับสูง และเป็นข้อมูลที่สำคัญสำหรับภาครัฐและผู้กำหนดนโยบายในภูมิภาคนี้ เพื่อพิจารณานำวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไปใช้กับประชาชนอย่างเหมาะสมที่สุดในช่วง 12 เดือนข้างหน้า

ประสิทธิภาพวัคซีน ต้องดูผลระยะยาว

 

ด้าน พญ.สุเนตร ชื่นกิจมงคล รองผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า การศึกษาประสิทธิผลวัคซีนในประเทศไทย พบว่า แอนติบอดีจะสูงขึ้นในช่วงแรกหลังจากได้รับวัคซีน และ ปกป้องเราจากอาการไม่พึงประสงค์ต่างๆ เดิมทีเราใช้ตัวเลขแอนติบอดีเป็นเกณฑ์หลัก และพบว่า mRNA จะสูงมาก เมื่อเทียบกับ ไวรัลเวคเตอร์ และ เชื้อตาย รวมถึงการ บูสเตอร์โดส ด้วย mRNA และไวรัลเวคเตอร์ จะสูงกว่าเชื้อตายอย่างมาก

 

อย่างไรก็ตาม ควรพิจารณาหลายปัจจัยประกอบกัน ไม่ใช่เพียงแค่ระดับการตอบสนองของแอนติบอดีเบื้องต้น แต่ยังต้องดูประสิทธิผลของวัคซีนจากกรณีศึกษาจริง เพื่อพิสูจน์ว่าวัคซีนที่ใช้นั้นได้ผล โดยสามารถการป้องกันการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ได้อย่างดี

 

"จากการศึกษางานวิจัยกว่า 79 เรื่อง ที่ศึกษาเกี่ยวกับการใช้วัคซีนจริง และพบว่า วัคซีนชนิดไวรัลเวคเตอร์ และวัคซีน mRNA ที่ใช้กันอยู่อย่างแพร่หลาย ล้วนมีประสิทธิผลในการป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงได้ในระดับสูงไม่แตกต่างกัน”

 

โดยข้อมูลที่ถูกวิเคราะห์โดยผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อจากทั่วเอเชียนั้นมาจาก VIEW-hub ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มแบบอินเตอร์แอคทีฟที่แสดงข้อมูลระดับโลกพร้อมภาพประกอบเกี่ยวกับการใช้วัคซีนและผลกระทบ โดยถูกพัฒนาขึ้นจากความร่วมมือของวิทยาลัยสาธารณสุขจอห์น ฮอปกินส์ บลูมเบิร์ก (Johns Hopkins Bloomberg School of Public Health) และศูนย์การเข้าถึงวัคซีนนานาชาติ (International Vaccine Access Center)

 

จากข้อมูลของประเทศไทย ที่เป็นข้อมูลจากการปฏิบัติจริง สะท้อนให้เห็นว่า ไวรัลเวคเตอร์ ให้ความสามารปกป้องการเข้า รพ. และ เสียชีวิต โดยเฉาะความรุนแรงจากการติดเชื้อเทียบเท่า mRNA สามารถมั่นใจได้ว่า ประชาชนได้รับความคุ้มครองที่ดี โดยเฉพาะความรุนแรงจากเชื้อโควิด และได้รับการคุ้มครองจากวัคซีนที่ใช้ทั่วไป

 

"ดังนั้น การประเมินวัคซีนไม่ควรใช้ตัวแปรในประสิทธิผลระยะสั้น แต่ต้องดูระยะยาว โดยเฉาะการเข้า รักษาตัวใน รพ. และเสียชีวิตจากโควิด" พญ.สุเนตร กล่าว 

 

โอมิครอน กับการฉีดบูสเตอร์ 

 

ดร.บรูซ มุนกอลล์ ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ประจำภูมิภาคเอเชีย วัคซีนและโรคติดเชื้อ แอสตร้าเซนเนก้า กล่าวใน หัวข้อ “วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า : โอมิครอน และข้อมูลบูสเตอร์เข็มที่สาม” โดยระบุว่า โอมิครอนที่เกิดขึ้นเป็นสายพันธุ์ใหม่ ทำให้คนติดเชื้อทั่วโลก แม้จะได้รับวัคซีน หลายคนมองว่าวัคซีนไม่เวิร์คหรือเปล่า ? ดังนั้น ต้องเข้าใจว่าวัคซีนมีประสิทธิผลอย่างไร

 

ข้อมูลจาก สหราชอาณาจักร ซึ่งขณะนี้ มีวัคซีนที่ใช้หลัก คือ ไวรัลเวคเตอร์ และ mRNA เรื่องของการคุ้มครองการติดเชื้อกับการเจ็บป่วยเล็กน้อย พบว่า สามารถลดการเข้ารพ.และเจ็บป่วยรุนแรง จากโอมิครอนได้ดี รวมถึง เดลตาด้วยเช่นกัน

 

ไวรัลเวคเตอร์ - mRNA สองโดสป้องกันโอมิครอนได้หรือไม่ 

 

ขณะที่ ผลในเชิงประสิทธิภาพลดการเข้า รพ. เสียชีวิต ถือว่าน่าสนใจ ข้อมูลใน สหรราชอาณาจักร ระหว่างเดลตา และ โอมิครอน คนที่ได้รับ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 โดส หรือ ไฟเซอร์ 2 โดส เห็นได้ชัดว่าตัวเลขใกล้เคียงกัน ขณะเดียวกัน ทั้ง 2 ชนิด ต่อให้ได้รับ 2 โดส ก็ไม่สามารถป้องกันโอมิครอนได้ดีในระยะยาว

 

บูสเตอร์โดส สำคัญป้องกัน โอมิครอน

 

อย่างไรก็ตาม การป้องกันการเจ็บป่วย เข้ารพ. ประสิทธิภาพระยะยาวถือว่ารักษาระดับได้ดี ทั้งเดลต้า และ โอมิครอน แต่ประสิทธิภาพลดลงราว 30% หลังจาก 6 เดือน ดังนั้น บูสเตอร์โดส จึงมีความสำคัญ

 

เมื่อเทียบวัคซีน 2 โดส และหลังจากให้ "บูสเตอร์โดส" จากข้อมูลในราชอาณาจักร พบว่า อัตราการป้องกันการเข้า รพ. กระโดดขึ้นมากกว่า 90% หลังจากได้รับเข็มที่ 3 ในทั้งเดลตา และโอมิครอน

 

"การป้องกันการเข้า รพ. ประสิทธิผลของวัคซีนเหล่านี้ 3 โดส น่าจะไปในทิศทางเดียวกันทั้งวัคซีนสองประเภท ก่อนหน้านี้ต้องยอมรับว่า ความสามารถในการรองรับสายพันธุ์โอมิครอนอาจจะน้อยกว่าเมื่อเทียบสายพันธุ์อื่น แต่วัคซีนทั้ง 2 ชนิด ประชาชน มั่นใจได้ว่า จะสามารถป้องกันอาการหนัก และ เสียชีวิต จากโควิด-19 ได้"  ดร.บรูซ มุนกอลล์  กล่าว