"ยกเลิก Test and Go" เปิดประเทศเต็มรูปแบบ เสี่ยงจากภายนอกไม่มากกว่าภายใน

"ยกเลิก Test and Go" เปิดประเทศเต็มรูปแบบ เสี่ยงจากภายนอกไม่มากกว่าภายใน

 22 เม.ย.2565 ศบค. อนุมัติ “การปรับมาตรการเดินทางเข้าประเทศระยะ 2” จะทำให้ประเทศไทยก้าวไปอีกขั้นในการขยับเข้าใกล้ “เปิดประเทศเต็มสูบ”มากขึ้นพร้อมกับการก้าวสู่”โรคประจำถิ่น

     ข้อมูลผู้ติดเชื้อที่มาจากต่างประเทศปี 2565  เดือนก.พ. จำนวน  4,597 ราย จากผู้เดินทาง 203,970 คน คิดเป็น 2.25%  มี.ค.จำนวน 1,584 ราย จากผู้เดินทาง 273,133 คน คิดเป็น 0.58 % และเม.ย. จำนวน 1,364 ราย จากผู้เดินทาง 275,559 คน คิดเป็น 0.49 %
         นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข กล่าวถึงคำถามการพิจารณาแผนเปิดประเทศของ ศบค.จะเป็นแบบเต็มสูบเลยหรือไม่ว่า  สธ.ในฐานะที่จะต้องเป็นผู้นำเสนอการใช้มาตรการต่างๆ     ในเบื้องต้นๆได้พิสูจน์มาแล้วว่าจำนวนการติดเชื้อในประเทศและจำนวนเชื้อที่ผู้เดินทางเข้าประเทศนำเข้ามามีส่วนน้อยมากเทียบกันไม่ได้ ติดเชื้อในประเทศวันละ 2-3 หมื่นราย ไม่รวมจากการตรวจATK  ขณะที่ผู้เดินทางเข้าประเทศซึ่งมีการตรวจหาเชื้อโดยวิธี RT-PCR มีการกักตัวช่วง 2-3 ชั่วโมงแรกที่เดินทางมาถึง ก็พบผู้ติดเชื้อไม่เกินวันละ 100 รายและบางคนเป็นคนไทยที่ห้ามไม่ให้เข้าประเทศไม่ได้

 สัดส่วนเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศกับในประเทศไทย คิดว่าสามารถรับมือได้ จึงต้องการให้เศรษฐกิจได้เดินหน้าต่อไป ซึ่งเห็นแล้วว่าเมื่อเริ่มผ่อนคลายมาตรการ ให้มีการตรวจหาเชื้อด้วยวิธีRT-PCRเพียงครั้งเดียว ไม่ต้องกักตัว 5-7 วันเหมือนเมื่อก่อน ก็เริ่มมีผู้เดินทางทั้งนักท่องเที่ยวและทำธุรกิจเข้ามามากมาย  เป็นสิ่งที่ต้องเร่งทำให้เกิด และไม่ได้ทำอะไรที่สวนทางกับภูมิภาคหรือทั่วโลก อาจจะเดินตามด้วยในแง่ความเข้มงวดในการตรวจคัดกรองเชื้อ

       “ ถ้าคิดว่าอยู่ภายใต้การบริหารจัดการได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริหารจัดการไม่ให้เกิดกรณีป่วยหนักหรือเสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้น จนระบบสาธารณสุขรับไม่ไหว ก็มีความตั้งใจที่จะเปิดให้กว้างขึ้น ผ่อนคลายมากขึ้น เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ พี่น้องประชาชนสามารถสร้างรายได้ มีงานทำ มีกิตวัตครรประจำวันที่เป็นปกติได้  เป็นสิ่งที่สธ.ตั้งใจทำมาตลอดทุกครั้งที่มีโอกาส”นายอนุทิน

ในมุมด้านสาธารณสุขมองว่าเมื่อมีการผ่อนคลายมากขึ้นจะมีมีปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกประเทศหรือไม่  อย่างไร  นายอนุทิน บอกว่า  ทุกอย่างมีปัจจัยเสี่ยง แต่จะบริหารจัดการปัจจัยเสี่ยงอย่างไร  ประเมินความเสี่ยงและระมัดระวังอย่างไร  หลักเดียวกับกรณีโควิด19 มีความเสี่ยงแน่นอน เพราะถ้าไม่ต้องการให้มีความเสี่ยงเลยก็ต้อง “Total Lockdown” แต่แบบนั้นคงไม่ไหว และประเทศไทยไม่เคยพบวิกฤติการในการดำรงชีวิต มากเท่ากับประเทศอื่นๆ  
    
 “จึงต้องประเมินความเสี่ยงและบริหารความเสี่ยง เพราะฉะนั้น  ถ้ามองว่าเป็นสถานการณ์ที่เกิดมา 2-3 ปีและไม่ได้เลวร้ายเพิ่มมากขึ้น ก็ต้องหาวิธีอยู่ร่วมกับมันและทำลายมัน”นายอนุทินกล่าว     \"ยกเลิก Test and Go\" เปิดประเทศเต็มรูปแบบ เสี่ยงจากภายนอกไม่มากกว่าภายใน
       เช่นเดียวกับ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ มองว่า ผู้ที่เสียชีวิตหรือมีอาการรุนแรงเป็นผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนหรือได้รับเพียงแค่ 1 เข็ม ส่วนการป่วยพบมากขึ้นในคนที่ฉีดวัคซีนนานแล้ว แม้ได้รับ 2 เข็มแต่นานแล้ว แต่อาการอาจจะไม่รุนแรง  เพราะฉะนั้น ขอให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นทั้งกลุ่มคนทั่วไป ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคร่วม และหญิงตั้งครรภ์ ควรได้รับเข็มกระตุ้นทุกคน  จะได้ผ่านพ้นสถานการณ์โอมิครอนไปได้

        อัตราการฉีดวัคซีนของประเทศไทยสอดคล้องกับแผนเปิดประเทศแล้วหรือไม่  นพ.นคร กล่าวว่า   ตอนนี้ไม่ค่อยกลัวเชื้อที่มาจากต่างประเทศ เพราะมีคนติดเชื้อในประเทศมาก จึงไม่จำเป็นต้องไปสร้างมาตรการเรื่องการเดินทาง สิ่งสำคัญคือภายในประเทศ อย่าไปกังวลนักท่องเที่ยวต่างประเทศ เพราะคนที่จะเดินทางมาประเทศไทย ต้องดูแลตัวเองอย่างดี มีการฉีดวัคซีน ไม่จำเป็นต้องสร้างมาตรการมาก แต่ภายในประเทศต้องคงมาตรการป้องกันโรคให้ดีทั้งการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ และเว้นระยะห่าง  

         ในมุมส่วนตัว นพ.นคร มองว่า  การเดินทางเข้ามาไม่น่าจะมีอะไรที่จำเป็นต้องมีมาตรการจำกัดมากเป็นพิเศษ เพราะประเทศที่จะเดินทางมาไทย ต้นทางต้องดูแลประชาชน ฉีดวัคซีนให้ครบก่อนเดินทาง เช่นเดียวกัน หากคนไทยเดินทางไปประเทศที่ยังระบาดรุนแรง ก็ต้องแจ้งประชาชนไทยให้ฉีดวัคซีนให้ครบ กระตุ้นเข็ม 3 และดูแลรักษาตนเองอย่างไร  เป็นเรื่องที่ประเทศต้นทางต้องดูแลรักษาประชาชนอยู่แล้ว 
       ประเทศไทยในฐานะประเทศปลายทาง สิ่งสำคัญต้องดูแลประชาชนภายใน  คือ ฉีดวัคซีนให้ครบ พยายามลดการระบาดภายใน  ประเทศไทยจะน่าเที่ยว ไม่ใช่การกันนักท่องเที่ยว สถานการณ์ตอนนี้ทุกอย่างเอื้อหมดแล้ว  ซึ่งประเทศที่น่าเที่ยว คือมีการติดเชื้อน้อย  ระบบสาธารณสุขแข็งแรง คนมาเที่ยวแล้วป่วยมั่นใจได้ว่าจะได้รับการดูแลอย่างดี เฝ้าระวังอย่างดี การเข้าถึงยา การรักษา ทำได้โดยไม่ติดขัด แม้ว่าจะป่วยก็ไม่รุนแรง ก็จะเข้าสู่ภาวะที่เรียกว่าโรคประจำถิ่น หรือEndemic disease
      “สถานการณ์ตอนนี้ต่างจากตอนที่ยังไม่มีวัคซีนช่วงที่เกิดระบาดใหม่ๆ  ตอนนั้นต้องกลัว เพราะหากมีคนนำเชื้อเข้ามาในประเทศ  แล้วเกิดการระบาดภายในชุมชนของประเทศไทย ซึ่งยังไม่มีเครื่องมือในการป้องกัน  แต่ตอนนื้ต้องทำให้บ้านเราแข็งแรง ไม่ต้องกลัวเชื้อจากต่างประเทศ”นพ.นครกล่าว