ใครรอ เตรียมฉีดวัคซีนโควิด19 ชนิดโปรตีนซับยูนิต รับบริจาคมาแล้ว 2 แสนโดส

ใครรอ เตรียมฉีดวัคซีนโควิด19 ชนิดโปรตีนซับยูนิต รับบริจาคมาแล้ว 2 แสนโดส

สธ.รับมอบวัคซีนโควิด19 “โคโวแวกซ์” 2 แสนโดส บริจาคจาก 4 ประเทศ เป็นชนิดใหม่ใช้เทคโนโลยีโปรตีนซับยูนิตตัวแรกที่ไทยได้ใช้ เล็งกระจายใช้ในกลุ่มยังไม่เคยได้รับวัคซีน

เมื่อวันที่  21 เม.ย.2565  ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีรับมอบวัคซีนโควิด 19 ที่ได้รับบริจาคจากประเทศอินเดีย โดยมีนางสุจิตรา ทุไร เอกอัครราชทูตอินเดีย ประจำประเทศไทย เป็นผู้แทนส่งมอบ พร้อมด้วย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และผู้แทนสถานเอกอัครราชทูต 4 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา เข้าร่วม
      นายอนุทิน กล่าวด้วยว่า  สธ.ได้รับการประสานจากสถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย ผ่านกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อบริจาควัคซีนโควิด 19  หรือ โคโวแวกซ์(COVOVAX)  จำนวน 2 หมื่นขวด รวม 2 แสนโดส  มูลค่า 60 ล้านรูปี หรือกว่า 26 ล้านบาท  ภายใต้การสนับสนุนของจตุภาคีด้านความมั่นคง หรือ QUAD (Quadrilateral Security Dialogue) ประกอบด้วย ออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมระบบสาธารณสุขของประเทศไทย ในการเร่งรัดสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ประชาชนด้วยวัคซีน เพื่อลดผลกระทบจากวิกฤตโควิด 19 ทั้งนี้ วัคซีนดังกล่าวได้จัดส่งเข้ามาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา กรมควบคุมโรคได้ดำเนินการตรวจรับวัคซีนเรียบร้อยแล้วขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์อยู่ระหว่างการตรวจรับรองรุ่นการผลิต เมื่อแล้วเสร็จจะดำเนินการกระจายและนำไปใช้ต่อไป

  วัคซีนนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)อนุมัติให้ใช้ในภาวะฉุกเฉน และให้ใช้ในอายุ  18 ปีขึ้นไป และอยู่ระหว่างการส่งเอกสารเพิ่มเติมเพื่อขอขยายอายุการใช้ให้ครอบคลุมถึงอายุ  12 ปี  ในส่วนของการนำวัคซีนโคโวแวกซ์มาใช้จะเป็นวัคซีนเข็ม 1 และ2ก่อน ยังไม่ใช้เป็นเข็มกระตุ้นหรือบูสเตอร์โดส   แต่การจะใช้เป็นเข็มกระตุ้นก็มีช่องทางทำได้คือการนำเข้าสู่การทดสอบสถาบันทางการแพทย์ และเข้าสู่การพิจารณาของอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน  หลังจากผ่านการตรวจสอบโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้ว กรมควบคุมโรค(คร.)จะนำไปกระจาย และในอนาคตอาจมีการสั่งซื้อถ้าจำเป็น  ซึ่งการรับบริจาคครั้งนี้แสดงถึงความสัมพันธ์และความสำคัญของประเทศไทยที่มีร่วมกับมิตรประเทศ

            นายอนุทิน กล่าวด้วยว่า ยังต้องรณรงค์เร่งรัดการฉีดวัคซีนโควิด 19 อย่างต่อเนื่อง ทั้งเข็มปกติและเข็มกระตุ้น โดยผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนเข็มแรกมาก่อน สามารถเข้ารับการฉีดแบบวอล์กอินได้ ส่วนเด็กวัยเรียนอายุ 5-17 ปี ก็จะต้องเร่งรัดฉีดวัคซีนเพื่อรองรับการเปิดภาคเรียนที่ 1/2565 ซึ่งในกลุ่มอายุ 5-11 ปี จำนวน 5.1 ล้านคน เพิ่งฉีดเข็มแรกได้เพียง 49.5% และเข็มสองเพียง 4% จึงยังต้องเร่งให้มาฉีดทั้งเข็มแรกและเข็มสอง ซึ่งจะดำเนินการฉีดวัคซีนผ่านระบบสถานศึกษา ส่วนกลุ่มอายุ 12-17 ปี จำนวน 4.7 ล้านคน ฉีดเข็มแรกแล้ว 87% เข็มสอง 74.3% และเข็มสามฉีดเพียง 1.6% กรณีที่ไม่ได้มารับวัคซีนเข็มที่ 2 ตามนัด ให้รับวัคซีนผ่านระบบสถานพยาบาล ส่วนการฉีดเข็มกระตุ้นจะฉีดผ่านระบบสถานศึกษา ซึ่งในช่วงพฤษภาคมนี้มีการเตรียมวัคซีนไว้รองรับการฉีดกว่า 7 ล้านโดส
ใครรอ เตรียมฉีดวัคซีนโควิด19 ชนิดโปรตีนซับยูนิต รับบริจาคมาแล้ว 2 แสนโดส

    ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วัคซีน COVOVAX เป็นวัคซีนชนิดโปรตีนซับยูนิต ทั่วโลกยังมีการใช้วัคซีนชนิดนี้ไม่มาก คณะกรรมการวิชาการจึงมีความเห็นให้ใช้ตามฉลาก คือ ฉีด 2 เข็มห่างกัน 3 สัปดาห์ และแนะนำให้ฉีดในกลุ่มที่ยังไม่เคยรับวัคซีนมาก่อนหรือแพ้วัคซีนชนิดอื่น ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ ส่วนการใช้เป็นเข็มกระตุ้นยังต้องรอการศึกษา
       วัคซีนโปรตีนซับยูนิต เป็นเทคโนโลยีใช้มานาน จึงค่อนข้างปลอดภัยพอๆกับเชื้อตาย ในบางคนที่ห่วงความปลอดภัยของ mRNA หรือคนมีผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนอื่นๆ ทั้งเชื้อตาย ไวรัลแวกเตอร์ หรือ mRNA สามารถมาฉีดตรงนี้ได้ ยกตัวอย่าง คนที่ฉีดmRNA ที่บางคนมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เราไม่ได้แนะนำให้ฉีดเข็มต่อไป ก็ให้มาฉีดตัวนี้ โดยจะมีการกระจายไปตามจุดฉีดจังหวัดต่างๆ แต่ข้อบ่งชี้คือใช้ในอายุ 18 ปีขึ้นไป และใช้เข็ม 1 และเข็ม 2 ซึ่งหาคนฉีดค่อนข้างยาก แต่จะมีการประชุมอีโอซี และกระจายเป็นพื้นฐานให้ทางจังหวัด เพื่อให้คนที่แพ้วัคซีนหรือฉีดวัคซีนตัวอื่นไม่ได้ ส่วนบูสเตอร์โดสได้หรือไม่ จะประสานกับผู้วิจัยที่เกี่ยวข้องในการศึกษาการฉีดบูสเตอร์โดสต่อไป
      “ขั้นตอนต่อไปคือ รอกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบ จากนั้นสอบถามทางจังหวัดว่าต้องการวัคซีนจำนวนเท่าไหร่ เพื่อกระจายต่อไป โดยวัคซีนนี้เก็บไม่ได้ยุ่งยาก 1 ขวด ฉีดได้ 10 คน ฉีดเข้ากล้ามเนื้อเหมือนเดิม วัคซีนโคโวแวกซ์มีอายุใช้งานถึงเดือนกันยายน 2565 โดยกรมควบคุมโรคยืนยันว่าสามารถใช้ทัน เบื้องต้นมี 2 แสนโดส และจะมีการพิจารณาในอนาคตว่าจะสั่งซื้อต่อไปอย่างไร” นพ.โอภาส กล่าว

     เมื่อถามว่าคนที่แพ้วัคซีนตัวอื่นแล้วหากฉีดโคโวแวกซ์ จะมีความเสี่ยงแพ้อีกหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า วัคซีนโคโวแวกซ์ถือว่ามีปลอดภัย  อาการข้างเคียงก็ไม่ได้แตกต่างจากวัคซีนอื่นๆ
       นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า วัคซีนโคโวแวกซ์เป็นแพลตฟอร์มซับยูนิตโปรตีน  เป็นการใช้กระบวนการผลิตเพื่อสร้างสไปก์โปรตีนขึ้นมา ต่างจากวัคซีนแพลตฟอร์มmRNAที่สร้างยีนส์ไปผลิตสไปก์โปรตีนในร่างกาย ซึ่งซับยูนิตโปรตีนเป็นแพลตฟอร์มที่เคยใช้มาก่อนในวัคซีนป้องกันโรคอื่นๆ จึงไม่ถึงกับเป็นเทคโนโลยีใหม่เอี่ยม แต่เป็นทคโนโลยีใหม่กว่าเทคโนโลยีเชื้อตาย ประสิทธิผลจากการทดสอบของผู้ผลิตมากกว่า 90 % แต่เป็นในช่วงที่สายพันธุ์อู่ฮั่น อัลฟา และเดลตา ส่วนการใช้ก็เพิ่งเริ่มใช้ในฝั่งตะวันตก ทั้งอเมริกา และยุโรปก็เพิ่งเริ่มใช้ เพราะว่าวัคซีนเพิ่งผลิตได้จึงค่อยๆทยอยออกมา

     “วัคซีนโคโวแวกซ์ก็คือวัคซีนโนวาแวกซ์ แต่บริษัทขายสิทธิให้กับบริษัทผู้ผลิตในอินเดียที่ชื่อว่า สถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย (Serum Institute of India--SII) ไปผลิตวัคซีนชนิดดเยวกันแต่ใช้อีกชื่อว่าโคโวแวกซ์ เป็นรูปแบบดัยวกับที่แอสตราเซนเนห้าขายสิทธิให้สถาบันซีรั่ม ซึ่งวัคซีนนี้สามารถใช้ได้ทั้งในผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อนเลยหรือเป็นเข็มกระตุ้นได้ แต่วัคซีนนี้ได้มา 2 แสนโดส จึงต้องอยู่ที่แผนการกระจายของกรมควบคุมโรค”นพ.นครกล่าว