Digital Healthcare

Digital Healthcare

Digital Healthcare เป็นหนึ่งใน Megatrends ที่หลายประเทศทั่วโลกตื่นตัวที่จะส่งเสริมและนำมาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับความสามารถทางการแพทย์และการให้บริการด้านสาธารณสุขของตน

เมื่อโลกก้าวสู่ยุคดิจิทัล เทคโนโลยีและนวัตกรรมก็ได้เข้ามามีบทบาทต่อการดำรงชีวิตและกลายเป็นกลไกสำคัญของการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม กระแสของ Digital Disruption ทำให้อุตสาหกรรมการแพทย์และการบริการด้านสาธารณสุขทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่แม้ว่าในที่สุดแล้วประชากรจำนวนมากจะสามารถสร้างภูมิต้านทานจนโรคระบาดลดความรุนแรงลงแต่ COVID-19 ก็จะยังคงอยู่เป็นโรคประจำถิ่นหรือโรคระบาดตามฤดูกาล รวมถึงการแพร่ระบาดในครั้งนี้ย่อมไม่ใช่สถานการณ์โรคระบาดครั้งสุดท้ายและจะส่งผลให้ Digital Healthcare ยิ่งทวีบทบาทและมีความสำคัญมากขึ้นไปอีกในอนาคต

Digital Healthcare เป็นหนึ่งใน Megatrends ที่หลายประเทศทั่วโลกตื่นตัวที่จะส่งเสริมและนำมาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับความสามารถทางการแพทย์และการให้บริการด้านสาธารณสุขของตน โดยกรณีศึกษาจากหลายประเทศได้รายงานถึงประโยชน์ของ Digital Healthcare อาทิ การแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ว่านอกจากจะก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการที่รวดเร็วแม่นยำและช่วยลดต้นทุนการให้บริการลงแล้วยังก่อให้เกิดประโยชน์ทางสังคมด้านการลดปัญหาความแออัดและความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพของประชาชนในประเทศอีกด้วย

Digital Healthcare

โดยรายงานของ Fortune Business Insights คาดการณ์มูลค่าตลาด Telemedicine ทั่วโลกว่าจะเติบโตจาก 42 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2019 เป็น 185 พันล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2026 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีกว่าร้อยละ 23.5 ทีเดียว ซึ่งตลาด Telemedicine ขนาดใหญ่ อาทิ ประเทศสหรัฐอเมริกาก็มีผู้ให้บริการหลักได้แก่ บริษัท Teladoc Health ที่เริ่มธุรกิจตั้งแต่ปี 2002 จากการให้คำปรึกษาผ่านระบบโทรศัพท์จนปัจจุบันพัฒนากลายเป็น Telehealth แพลตฟอร์มสำหรับพบแพทย์ผ่าน Video Conferencing หรือบริษัท Babylon Health จากประเทศอังกฤษและบริษัท Ada Health จากประเทศเยอรมนีที่ให้บริการตรวจรักษาแบบ Teleconference เช่นเดียวกัน

รวมถึงประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียที่ตอบรับกระแส Digital Healthcare ได้ดีไม่แพ้กัน ประเทศอินเดียมีบริษัทสตาร์ทอัพสาย HealthTech รวมเกือบ 5,000 บริษัท และมียอดการระดมทุนคิดเป็นกว่าร้อยละ 45 ของการระดมทุนในสตาร์ทอัพทั้งหมด หรือประเทศจีนเองที่รัฐบาลกำหนดยุทธศาสตร์ New Medical Reform มาตั้งแต่ปี 2009 เพื่อดำเนินโครงการสำคัญ อาทิ การตรวจรักษาโรคทางอินเตอร์เน็ต โรงพยาบาลอินเตอร์เน็ต บริการสั่งจ่ายยาอิเล็กทรอนิกส์ การซื้อขายเวชภัณฑ์ออนไลน์ ฯลฯ ที่สามารถผสมผสานเข้ากับงานบริการรักษาโรคและสาธารณสุขอื่นๆ เช่น การสร้างเครือข่ายข้อมูลสาธารณสุขดิจิทัล การประดิษฐ์คิดค้นอุปกรณ์การแพทย์และเวชภัณฑ์ นโยบายหลักประกันการจ่ายยา และบริการแพทย์ประจำครอบครัวได้อย่างลงตัว

เมื่อปีที่แล้วผู้เขียนเองก็มีโอกาสได้เดินทางไปดูงานและร่วมประชุมกับ Venture Capital ชั้นนำด้าน Digital Healthcare รวมถึง Ping An Good Doctor ผู้นำด้านการให้บริการสาธารณสุขออนไลน์ของจีน ซึ่งจากการประชุมผู้เขียนพบว่า การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ อาทิ Big Data ของข้อมูลการรักษาปริมาณมหาศาลมาประยุกต์ใช้ร่วมกับ Super Algorithms อย่าง Machine Learning ก็ส่งผลทำให้การแพทย์ปัญญาประดิษฐ์ หรือ แพทย์ AI ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนการตรวจรักษาของผู้รับบริการสาธารณสุขชาวจีนอย่างแพร่หลาย ตลอดจนผู้ประกอบการชาวจีนสามารถผสมผสานเทคโนโลยี อาทิ Cloud Healthcare, Blockchain, หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ฯลฯ เข้ากับการให้บริการด้านสาธารณสุขจนเกิดเป็น Business Model รูปแบบใหม่ได้เป็นอย่างดี เช่น การใช้ AI ช่วยวิเคราะห์อาการของผู้ป่วยในเบื้องต้นก่อนเข้าพบแพทย์จึงทำให้แพทย์ชาวจีนสามารถตรวจรักษาคนไข้ได้ถึงวันละ 500 คนเพิ่มขึ้น 10 เท่าจากเดิมที่ตรวจรักษาได้เพียง 50 คนต่อวัน การให้บริการอ่านฟิล์มเอกซเรย์ทางไกล (Tele-radiologist) ผ่านคลาวด์ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อการวินิจฉัยและรักษาเฉพาะบุคคลร่วมกับการตรวจ DNA เป็นต้น

Digital Healthcare

นอกจากนั้นผู้เขียนยังพบว่า ปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรม Digital Healthcare ของจีนสามารถเติบโตได้ถึงร้อยละ 30 ต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คือ การแก้ไขกฎระเบียบด้านสาธารณสุขของรัฐบาลจีน เช่น การออกใบอนุญาตประกอบกิจการ Internet Hospital ในปี 2014 ที่ช่วยปลดล็อกข้อจำกัดเดิมของการให้บริการสุขภาพออนไลน์โดยกำหนดให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มร่วมมือกับสถานพยาบาลออฟไลน์แบบดั้งเดิมอย่างน้อย 1 แห่ง หรือนโยบาย Healthcare Digitalization ที่กำหนดให้ทุกโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนต้องเปิดให้บริการช่องทางออนไลน์สำหรับบริการพื้นฐาน เช่น ระบบการจองคิว การรับและชำระค่าบริการ เป็นต้น

ซึ่งประเทศไทยก็สามารถถอดบทเรียนความสำเร็จของอุตสาหกรรม Digital Healthcare จากทั่วโลกทั้งด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงแนวทางการกำหนดนโยบายเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการแพทย์โดยการต่อยอดจากระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขเดิมของไทย อาทิ โรงพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ฯลฯ ที่เป็นจุดแข็งของประเทศไทยมาโดยตลอดดังที่ได้สะท้อนผ่านมาตรการรักษาควบคุม การป้องกัน ตลอดจนจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจาก COVID-19 ของไทยที่ต่ำกว่าหลายประเทศจนทำให้ประเทศไทยได้รับการยกย่องเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่มีความพร้อมในการบริหารจัดการกับโรคระบาดที่ดีที่สุด อย่างไรก็ตาม หากประเทศไทยต้องการก้าวไปสู่การเป็น Medical Hub ที่สำคัญของภูมิภาคนั้นก็จำเป็นจะต้องผลักดันให้เกิดการวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับไปสู่การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงในอุตสาหกรรมและบริการสาธารณสุขมากยิ่งขึ้น รวมถึงการกำหนดยุทธศาสตร์และกฎระเบียบของภาครัฐซึ่งกรณีศึกษาของรัฐบาลจีนก็แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของนโยบายและมาตรการส่งเสริมที่เปิดกว้างจนทำให้อุตสาหกรรม Digital Healthcare ของจีนมีความก้าวหน้าและเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด

สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 จึงเป็น game changer และโอกาสดีที่ทุกภาคส่วนของไทยจะได้ปรับเปลี่ยนมุมมองและหันกลับมาตระหนักถึงความสำคัญของ Digital Healthcare อีกครั้ง การส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มควบคู่ไปกับการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกจึงเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องเร่งผลักดันเพราะนอกจากจะเป็นการช่วยส่งเสริมให้คนไทยได้รับการดูแลด้านสุขภาพอย่างเหมาะสมทั่วถึงในระยะยาวแล้วยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการแพทย์และการบริการสาธารณสุขของไทยให้มีความโดดเด่นในระดับสากลอีกด้วย