The Broken Violin เมื่อดนตรี ศิลปะ และกีฬาสอดผสานจึงช่วยเปลี่ยน “รอยร้าว” ให้เป็นพลัง

The Broken Violin  เมื่อดนตรี ศิลปะ และกีฬาสอดผสานจึงช่วยเปลี่ยน “รอยร้าว” ให้เป็นพลัง

คงจะดี ถ้า “ศิลปะ”สามารถช่วยเปลี่ยนชีวิตของใครที่เคยก้าวพลาดให้กลับมามีความหมายอีกครั้ง

องก์ที่ 1 ขังตัว ไม่ขังใจ

“ผมอยู่กับพ่อแม่ก็จริงแต่วันๆ ไม่ค่อยได้เจอกันหรอก เขาก็ทำงาน เราเองออกไปเที่ยวเตร่ตอนดึก ไม่เคยเจอหน้ากัน คุยกัน รู้แค่ว่าเป็นพ่อแม่ แต่ไม่ได้รู้สึกผูกพันอะไร”โอ กำลังถ่ายทอดชีวิตของเขา

“โอ” ในวัย 21ปี เล่าว่าพ่อแม่แยกทางกันตั้งแต่เด็ก ต่อมาแม่มีสามีใหม่เป็นชนวนสำคัญที่ทำให้รอยร้าวในครอบครัวมีมากขึ้น

“ตอนแรกผมตั้งใจเรียนนะ แต่ตอนประถมผมโดนบุลลี่บ่อย พอโตย้ายมาเรียน ม.1 เราเลยเริ่มอยากสร้างตัวตน เพื่อไม่ให้ใครแกล้ง เพื่อนๆ ในโรงเรียนต่างกลัวผม ตอนนั้นเราคิดว่าตัวเองเท่มาก”

“พอตอนสิบห้าเราออกจากโรงเรียน ก็ไม่มีเงินใช้ ได้ไปรู้จักรุ่นพี่คนหนึ่ง เขาขายยา เราเห็นเขามีเพื่อนฝูงเยอะ  มีลูกน้อง มีผู้หญิง มีเงิน ไปไหนมีแต่คนกลัว เขาเลยกลายเป็นไอดอลผม เขาชวนผมขายยา เพราะแถวบ้านผมขายยาทุกคน ยืนเรียงแถวริมถนนเลย ผมนี่แหละเป็นหนึ่งในนั้น”

ขายยาได้ โอก็นำเงินไปเล่นสนุกพนัน แต่งรถบ้าง เริ่มซื้ออาวุธไปยิงคนอื่น ชีวิตไม่ได้คิดอะไร

“เราคิดแต่สนุก แต่ผมไม่เสพย์นะ ไม่ชอบ เราขายอย่างเดียว ใช้ชีวิตวนๆ ไปเรื่อยๆ จนอายุ 17 ก็โดนจับเข้าคุกพอเข้าไปเขาก็ไม่ได้ให้ทำอะไร ให้นอนไปวันๆพอพ่อแม่มาประกันตัวออกไป ผมก็ถลำลึกเข้าสู่วงจรยิ่งกว่าเดิม ผมได้รู้แหล่งที่ใหญ่ขึ้น เลยตัดสินใจทำเอง ไม่ต้องมีรุ่นพี่มาสั่งแล้ว สุดท้ายก็โดนจับอีกรอบ  แต่ผมว่าคุกแค่ทำให้ผมเข็ด ไม่ได้ทำให้ผมอยากเปลี่ยนแปลงความคิดอะไรเลย ผมแค่รู้สึกว่าต้องทนอยู่ในกรงขัง เพื่อรอวันออกมาทำแบบเดิมๆ”

The Broken Violin  เมื่อดนตรี ศิลปะ และกีฬาสอดผสานจึงช่วยเปลี่ยน “รอยร้าว” ให้เป็นพลัง

แต่หลังย้ายมาอยู่ที่บ้านกาญจนาภิเษา จากความตั้งใจแรกของคือโอคือพยายามหนี แต่เขากลับต้องประหลาดใจเมื่อเจอกับวิธีต้อนรับขับสู้ของ “ป้ามล” ทิชา ณ นคร ที่ปฏิบัติกับเด็กๆ ในบ้านแตกต่างออกไป

“พอเข้าไปป้ามลแกเข้ามากอดผม เรานึกในใจว่า “ป้าแกเฟคป่าววะ”อยู่ดีๆ ก็มากอด แต่วันต่อมาเขาทำผมแปลกใจยิ่งขึ้น ป้ามลพาเด็กๆ ไปกินหมูกะทะ เราเริ่มงงว่า เฮ้ย! ป้าเขาไม่กลัวเด็กหนีหรือ เพราะที่นี่ไม่มีลูกกรงอะไรเลย

สุดท้ายที่นี่เขาก็ดึงครอบครัวผมกลับมา ทำให้ผมได้คุยกับแม่และครอบครัวมากขึ้น  ผมได้กอดแม่ครั้งแรกที่นี่ ได้ยินคำที่เราไม่เคยได้ยิน เขาให้เราเรียนหลายอย่าง ขับรถ ทำขนม เล่นคอมพิวเตอร์ เล่นดนตรี ตอนนี้ผมเป็นนักร้องนำวงดนตรีในบ้านด้วย พอครูเล็กเข้ามา ก็เอาพี่เก่ง จักรินทร์ มาสอนสเก็ตบอร์ด

พี่เขาเห็นพวกผมเล่นดนตรี เขาบอกว่าคนอย่างพวกเราพรสวรรค์ก็มีเยอะทำไมไม่ลองหาทำอะไรที่เป็นประโยชน์บ้าง พอดีผมเห็นมีข่าวน้องแพรวที่โดนแม่ทำร้าย เลยบอกป้ามลกับครูเล็กผมอยากไปเปิดหมวกร้องเพลงได้เงินมาสองหมื่นเอาไปให้น้องที่นครสวรรค์ ครูเล็กเลยพาพวกผมไปเล่นที่งานลิโด้คอนเน็คท์ เราเริ่มทำงานกับครูเล็กเรื่อยๆ ฝึกฝีมือเก็บเกี่ยวประสบการณ์ไปเรื่อยผมอยากพัฒนาตัวเอง ตอนนี้เราได้ทำอะไรหลายอย่าง รู้สึกเรามีคุณค่ามากขึ้น ถามว่าเข็ดไหม ผมบอกแม่ไม่เข็ดหรอก แต่ไม่อยากทำแล้ว”

The Broken Violin  เมื่อดนตรี ศิลปะ และกีฬาสอดผสานจึงช่วยเปลี่ยน “รอยร้าว” ให้เป็นพลัง

 

องก์ที่ อยากซิ่ง (สเก็ต) ต้องได้ซิ่ง!

“มันเป็นสิ่งที่เราชอบและอยากเล่นมาตั้งแต่เด็ก แต่ไม่มีโอกาสได้เล่น เพราะราคาแพงตั้ง 4,000-5,000 บาทตอนนั้นเลยตัดสินใจซื้อมาเริ่มเล่น ครั้งแรกมีกัน10 กว่าคน แต่สเก็ตบอร์ดมีแค่ 3 ตัว ก็สลับกันเล่น บางทีก็เล่นใต้ทางด่วน บางทียามก็มาไล่ เพราะเขาว่าเราทำเสียงดัง ทำพื้นแตก”

“ตอนที่ผมกำลังเล่นสเก็ตบอร์ดอยู่ที่ใต้สะพานแถวพระประแดง ครูเล็กมาเห็นพวกเราเล่นกันแบบเก้ๆ กังๆ  ก็เลยพาพี่เก่ง จักรินทร์ แชมป์สเก็ตบอร์ด มาสอนพวกเรา ต่อมาครูเล็กส่งเสริมถึงขนาดมาสร้างสนามให้ที่บ้าน แล้วยังส่งผมไปเรียนตัดผม พาไปทำงานที่อู่ต่อเรือ”

เพชร”เยาวชนวัย 26 ปี เป็นอีกคนที่กำลังพยายามก้าวผ่านอดีตที่มีเคยรอยปริแยกของตัวเองเขาเป็นเด็กที่เคยถูกทิ้งไว้บ้านคนเดียวในพื้นที่เสี่ยงที่ชุมชนพระประแดง แน่นอนว่า เขาสั่งสมประสบการณ์มาครบสูตร  “เกเร ไม่เรียนหนังสือ ใช้สารเสพติด มั่วสุม เป็นเด็กแวนซ์แข่งรถซิ่ง” คือบทสรุปชีวิตในวัยรุ่นของเพชร

แต่หลังจากเพชรคิดอยากเลิกยาและออกจากวังวนเดิมๆ เขามองหากิจกรรมทำเพื่อหันเหความสนใจ จึงเลือกเริ่มเล่นสเก็ตบอร์ดกีฬาที่เขาเคยใฝ่ฝันอยากเล่นมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งวันนี้นอกจากเพชรเปลี่ยนชีวิตตัวเองใหม่ เขายังเผื่อแผ่โอกาสให้น้องๆ โดยเปิดพื้นที่บ้านตัวเอง เรียนรู้ สอนทำอาหารและเป็นลานสเก็ตให้เด็กๆ ในชุมชนมาเล่น

“ ติดยาตั้งแต่อายุ 14 มาเลิกได้ตอน 24 ปี เข้าเรือนจำมาแล้ว 3 ครั้งตอนนั้นผมรู้สึกว่าตัวเองคงเกิดมาเพื่ออยู่ในจุดๆ นั้นจริงๆ แต่พอเริ่มเล่นสเก็ตมันสอนผมหลายอย่าง ทำให้มีสมาธิคิดอะไรได้มากขึ้น

สเก็ตมันสอนผมว่าต่อให้เก่งแค่ไหนก็ต้องมีพลาด มีล้มอยู่แล้ว แต่ถ้าเราเล่นฝึกไปบ่อยๆ เราจะเริ่มรู้ว่าเวลาเราล้มเราจะล้มท่าไหน ยังไงไม่ให้มันเจ็บตัวมากที่สุดที่สำคัญ มันบอกเราว่า เราต้องรู้ว่าเราชอบ เรารักอะไร การได้ทำในสิ่งที่เรารักมันทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองนั้นมีค่า”เพชรเอ่ย

The Broken Violin  เมื่อดนตรี ศิลปะ และกีฬาสอดผสานจึงช่วยเปลี่ยน “รอยร้าว” ให้เป็นพลัง

 

องก์ที่พื้นที่สีขาวกับเหล่า Broken Violin

“ดิฉันไปเจอเด็กๆ พวกนี้ที่พระประแดง กำลังเล่นสเก็ตอยู่ที่ริมถนน ใต้สะพาน ก็ถามเขาว่าทำไมไม่ไปหาที่อื่นเล่น เขาบอกผู้ใหญ่ไม่ให้เล่น” ครูเล็กย้อนอดีตในวันนั้น

“ดิฉันมองว่าเรากำลังขาด “พื้นที่สีขาว” ในสังคม  ผู้ใหญ่ไม่มีพื้นที่ให้เด็กเล่น หรือมีก็ไม่ให้เล่นในสิ่งที่เขาอยากเล่น ท่านมีสวนสาธารณะ แต่ท่านบังคับให้เด็กเล่นสิ่งที่เขาไม่อยากเล่น”

ไม่ว่าจะในฐานะศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดงผู้ก่อตั้งมูลนิธิละครธรรมะในพระสังฆราชูปถัมภ์ หรือผู้สูงวัยที่ยังคงมีพลังไม่เสื่อมคลาย ครูเล็กภัทราวดี มีชูธนเป็นอีกหนึ่งผู้ใหญ่ที่ไม่ยอมนิ่งดูดาย แต่กลับมีความหวังเต็มเปี่ยมที่จะดึงเด็กๆ ที่เคยก้าวพลาดเหล่านี้ และ “ผสาน” รอยร้าวในใจ

เพราะการมองเห็นว่า ปัญหาเด็กและเยาวชนในปัจจุบันมีพื้นฐานมาจากสถาบันครอบครัวที่ไม่แข็งแรง ทำให้เยาวชนต้องหาสิ่งอื่นมาเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไปอีกทั้งยังขาด “พื้นที่สีขาว”ในสังคม

“เสน่ห์... รอยร้าว : โครงการศิลปะสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาเด็ก เยาวชน และชุมชน” จึงเป็นไอเดียที่ครูเล็กริเริ่มขึ้นเมื่อต้นปี 2562ที่มีเป้าหมายสำคัญคือการพัฒนาสุขภาวะทางปัญญาด้วยแนวทางในการใช้ศิลปะสร้างสรรค์เพื่อการบำบัดนั่นคือการใช้ศิลปะ ดนตรี และกีฬา มาเป็นเครื่องมือสร้างกระบวนการ “เปลี่ยนแปลงจากข้างใน” ให้แก่เด็กกลุ่มเสี่ยงและเยาวชนที่เคยก้าวพลาดได้พัฒนาศักยภาพเชิงบวกผ่านการใช้ศิลปะสร้างสรรค์ เพื่อการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ

“ครั้งหนึ่งครูมลที่บ้านกาญนาภิเษกบอกดิฉันว่า เมื่อไหร่ที่ประตูโรงเรียนปิด ประตูคุกจะเปิดทันที เพราะเป็นโอกาสให้เด็กถูกชักจูงไปในทางไม่ดีได้ง่าย”ครูเล็กเอ่ยถึงเหตุจูงใจส่วนการนำกีฬาสเก็ตบอร์ดมาสอนเด็กๆ นั้นเป็นเพราะเป็นกีฬาที่เด็กๆ กลุ่มนี้ชื่นชอบ

The Broken Violin  เมื่อดนตรี ศิลปะ และกีฬาสอดผสานจึงช่วยเปลี่ยน “รอยร้าว” ให้เป็นพลัง

องก์ที่ 4 ดูละครแล้วย้อนดูครอบครัว

เมื่อเร็วๆ นี้ครูเล็กมูลนิธิละครธรรมะในพระสังฆราชูปถัมภ์ และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ยังได้เปิดวิกหัวหิน และหัวหินสเก็ตพาร์ค พื้นที่สีขาวแห่งใหม่  เพื่อเปิดเวทีให้เยาวชนจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก และชุมชนพระประแดงได้แสดงออกอย่างสร้างสรรค์กับการจัดแสดง “เสน่ห์...รอยร้าว คอนเสิร์ตออนทัวร์” การแสดงสดที่ผสมผสานศิลปะหลากหลายแขนง อาทิ ศิลปะการแสดง ดนตรี และสเก็ตบอร์ดขึ้น

“เรื่องมันเริ่มจากว่า ดิฉันได้มีโอกาสทำงานร่วมกับนักไวโอลินชื่อดังจากสหรัฐอเมริกา ไคล์ ดิลลิงแฮม (Kyle Dillingham) เมื่อช่วงเดือนมกราคม 2562 โดยได้รับเชิญมาร่วมแสดงในละคร ลิลิตพระลอ 2019 คุณไคล์เรียนหนังสือและเล่นไวโอลินได้ดีเพราะการฝึกสเก็ตบอร์ด ซึ่งเป็นการฝึกสมาธิทำให้มีความจำดีเยี่ยม วันหนึ่งคุณไคล์ได้นำไวโอลินที่แตกหักมาลองบรรเลงเป็นบทเพลงต่างๆ เกิดเป็นเพลงที่ไพเราะและเกิดคุณค่าใหม่ที่น่าประทับใจ  The Broken Violin… เปรียบเสมือนชีวิตที่ก้าวพลาดที่สร้างบาดแผลและรอยร้าวในหัวใจ หากเมื่อเปิดโอกาสให้ได้เห็นคุณค่าในตนเอง ย่อมเยียวยาจิตใจให้ก้าวผ่านอุปสรรคใดๆ ไปได้อีกครั้ง เช่นเดียวกับไวโอลินที่แตกหัก ถ้านำมาบรรเลงย่อมได้ท่วงทำนองใหม่ที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร” ครูเล็ก บอกเล่า

The Broken Violin  เมื่อดนตรี ศิลปะ และกีฬาสอดผสานจึงช่วยเปลี่ยน “รอยร้าว” ให้เป็นพลัง

ด้านญาณี รัชต์บริรักษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. เล่าถึงเหตุผลที่ สสส. เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่เข้ามาให้การสนับสนุนโครงการศิลปะสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาเด็ก เยาวชน และชุมชน “เสน่ห์... รอยร้าว” นี้ว่า

“เรามองว่าผลลัพธ์ที่เกิดจากโครงการนี้ ไม่ใช่การแสดง แต่คือกระบวนการที่ทำให้เด็กเกิดการเปลี่ยนแปลง เราได้เห็นว่ามันมีการทรานสฟอร์มมาจากข้างใน ผ่านการที่เขาได้ฝึกซ้อม สังสรรค์ เปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ ได้เรียนรู้ซึ่งกันและผ่านการแสดง”ญาณีเอ่ยต่อว่า  สสส. อยากบ่มเพาะเด็กและเยาวชนเหล่านี้ให้เป็นนักสื่อสารสุขภาวะ และช่วยให้เขามีการเปลี่ยนแปลงตัวเองกลายเป็นนักสื่อสารที่สะท้อนปัญหาและประเด็นสังคมได้ในอนาคต

“ขณะเดียวกันการแสดงนี้เราอยากให้พ่อแม่เข้ามาดูจะได้เข้าใจและค้นพบแก้ปัญหาในครอบครัว ซึ่งการแสดงชุดนี้จะมีโซลูชันที่สอดแทรกอยู่ด้วย”ญาณีเอ่ยทิ้งท้าย

“เสน่ห์...รอยร้าว คอนเสิร์ตออนทัวร์” จะจัดแสดงรอบแรกในวันที่ 7-9 กุมภาพันธ์ 2563 ณ หัวหินสเก็ตพาร์ค และต่างจังหวัดตลอดปี 2563

The Broken Violin  เมื่อดนตรี ศิลปะ และกีฬาสอดผสานจึงช่วยเปลี่ยน “รอยร้าว” ให้เป็นพลัง

บัตรชมการแสดง บริจาคตามศรัทธา สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร 032-827814, 089-404-6868 หรือ เวบไซต์ www.thebrokenviolin.com Facebook :  The Broken Violin Project เสน่ห์.. รอยร้าว หรือ ติดต่อทาง Line ID : @vichuahin