“สุข” แค่ไหน...ถามใจคนตรัง

“สุข” แค่ไหน...ถามใจคนตรัง

จากพื้นที่สีแดงและขึ้นชื่อว่ามีภาษีสรรพสามิตมากที่สุด กลายเป็นพื้นที่คนงดเหล้ามากที่สุดในจังหวัด จากปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงที่กำลังสร้างสถิติลดลงแต่ละปี และจากปัญหาสุขภาพเพราะบุหรี่สู่มิติใหม่ของมัสยิดปลอดควัน

สะท้อนว่า คน “ตรัง” กำลังลุกมาปรับเปลี่ยนตัวเอง เป็นประชาชนสุขภาวะที่ห่างไกลปัจจัยเสี่ยง ปลอดควัน ปลอดแอลกอฮอล์ และปลอดอุบัติเหตุ ที่สำคัญพวกเขาใช้พลังจากมวลชนท้องถิ่นแก้ปัญหาให้กับตัวเอง ด้วยตัวเอง

นาข้าวเสียกับตำนาน “สาวพักตับ” ช่วยคนสู้เหล้า

ต.นาข้าวเสีย ถือเป็นหนึ่งใน 892 ชุมชนทั่วประเทศที่ร่วมโครงการงดเหล้าเข้าพรรษาของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และประสบความสำเร็จในการกระตุ้นให้ชุมชนลุกขึ้นมาจัดการแก้ปัญหาประเด็นเหล้า โดยสร้างแกนนำในชุมชนเป็นพี่เลี้ยง ชี้ชวนให้ตระหนักถึงผลกระทบของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อชีวิตของตนและครอบครัว โดยใช้พลังของสตรีขับเคลื่อนผ่านขบวนการ "สาวพักตับ ช่วย ชม เชียร์ คนสู้เหล้า" ภายใต้โครงการงดเหล้าเข้าพรรษา ที่สสส. ให้การสนับสนุน ซึ่งสามารถเข้าถึงคนในครอบครัวได้เป็นอย่างดี จนได้รับการยอมรับให้เป็นต้นแบบของตำบลปลอดเหล้าเข้าพรรษา ปัจจุบันสาวพักตับฯ มีสมาชิก 110 คน โดยปี 2562 นี้ ได้ชักชวนคนเลิกเหล้ารวม 66 คน สามารถเลิกเหล้าตลอดพรรษาเป็นคนหัวใจหิน 56 คน และสามารถเลิกเหล้าตลอดชีวิตเป็นคนหัวใจเพชร 10 คน จากการได้ติดตามผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมพบว่าครอบครัวประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 2,000-3,000 บาทต่อเดือน

“สุข” แค่ไหน...ถามใจคนตรัง

ญาณี  สงสุวรรณ  และณรงค์ สงสุวรรณ คือคู่รักพักตับที่เป็นตัวอย่างความสำเร็จดังกล่าว เผยเรื่องราวของเธอว่า

“เมื่อก่อนวีรกรรมสามีเยอะมาก เมาแล้วขับรถตกคูคลอง เมาแล้วหาเรื่องทะเลาะ หึงหวง เราเองก็ใจร้อน ปากร้ายจุกจิก ขี้บ่น เรื่องเลยยิ่งไปกันใหญ่ จนครอบครัวมีปัญหาต้องเลิกรากันช่วงหนึ่ง ลูกสามคนร้องห่มร้องไห้เป็นประจำ เราชวนเขาเลิกเหล้าก็ไม่ยอม เราก็มาปรึกษากับทีมสาวพักตับทำอย่างไรดี” ญาณีเริ่มเล่าเรื่อง

เวลาเราไปชวนคนอื่นเขาก็บอกให้ไปชวนสามีตัวเองก่อน พี่ไพรัชก็บอกให้เราดึงเขามาร่วมกิจกรรมด้วย เขาจะได้รู้ว่าเราทำอะไช่วงแรกเขาต่อต้านเราขาไม่ยอมหยุดดื่ม”

แต่ด้วย “พลังเมีย” และ “พลังแม่” ของทีมสาวพักตับ ที่ไม่ย่อท้อ ญาณีหมั่นชวนสามีเลิกเหล้าหลายรอบ จนใจอ่อนสัมฤทธิ์ผล

“เราขอเขาแค่งดเหล้าช่วงเข้าพรรษา เขาเลือกหักดิบ ตอนแรกเขาบอกจะเลิกแค่ 3 เดือน แต่ตั้งแต่วันนั้นที่เลิก เขาก็ไม่ดื่มอีกเลย จนได้รับรางวัลคนใจเพชรเมื่อปี 2560 ไม่คิดว่าเขาจะหยุดได้ ซึ่งวันนี้เราเหมือนได้ครอบครัวใหม่ สามีใหม่ เราเองก็ปรับตัวให้ดีขึ้น ทุกคนมีความสุข ลูกก็มาร่วมเป็นเครือข่ายเยาวชนงดเหล้า” เธอกล่าวพร้อมรอยยิ้ม

สมัยก่อนในชุมชนมีร้านขายเหล้าเยอะ ตกเย็นเลิกงานก็ตั้งวงดื่มเกือบทุกบ้าน แต่หลังทำกิจกรรมรณรงค์เหลือร้านเหล้าแค่ร้านเดียวจากเป็นสิบร้าน พยอม หนูนุ่ม หนึ่งในสมาชิกสาวพักตับผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของการดำเนินงานขบวนการช่วยเล่าเสริม ซึ่งเธอยังบอกว่าเพราะความสำเร็จโครงการทำให้ชุมชนมีรายได้ภาษีสรรพสามิตลดลงเหลือเพียงปีละ 3 แสนบาท (จากเดิมปีละ 6 แสนบาท)

ถามว่ารายได้เยอะๆ เราอยากได้ไหม ยอมรับว่าอยากได้นะแต่ถ้าแลกกับคนในชุมชนที่เลิกเหล้ามีสุขภาพดีขึ้น เรายอม” พยอม เอ่ย

“สุข” แค่ไหน...ถามใจคนตรัง  

ถอดรหัส “นาโยงบูรณาการปลอดภัยทางถนน

ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนเป็นปัญหาสำคัญระดับชาติที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันลดความสูญเสียให้น้อยที่สุด ซึ่งที่นาโยง มีพื้นที่ประมาณ 165 ตารางเมตร มีประชากรสี่พันคน มีถนนเชื่อมต่อระหว่างตำบล หมู่บ้าน 62 สาย ถนนสายรองสองสาย และทางหลวงแผ่นดิน 3 สาย โดยมีเพชรเกษม หมายเลข 4 เป็นสายหลักที่มียานพาหนะสัญจรผ่านไปมาสองหมื่นคัน ไม่รวมนักท่องเที่ยวประเทศเพื่อนบ้าน

ร.ต.อ.ปรีชา ศรีเมือง สารวัตรจราจร สภ.นาโยง กล่าวว่า ปัจจัยดังกล่าวทำให้นาโยงมีสถิติอุบัติเหตุทางถนนสูงต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับจำนวนประชากร

แต่นาโยงได้ขับเคลื่อนสร้างความปลอดภัยในพื้นที่ ด้วยการบูรณาการการทำงาน ได้ร่วมกันขับเคลื่อนแก้ไขร่วมกับภาคประชาสังคม แก้ไขจุดเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ การตั้งด่านจุดตรวจ จุดสกัดของทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีการประชุมปรึกษาหารือกันโดยตลอด มีการวิเคราะห์ถึงสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ ไปจนถึงส่งเสริมให้ผู้ใช้รถใช้ถนน หมวกนิรภัย เมาไม่ขับ ทั้งยังวางมาตรการการดูแลหลังเกิดเหตุอย่างรวดเร็วทันการณ์

อีกทั้งทาง อบต.ละมอ ร่วมกับ อ.นาโยง จัดทำโครงการรณรงค์ให้ความรู้และส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัยกับ เด็ก ครู ผู้ปกครอง ซึ่ง อบต.ละมอ ได้ให้ความสำคัญ และสามารถทำให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแห่งนี้สวมหมวกกันน็อกได้ 100% ซึ่ง อ.นาโยง เตรียมขยายผลให้ครบทุกศูนย์เด็กเล็ก และเร่งสนับสนุนให้ทุกท้องถิ่นเป็นเจ้าภาพหลักในการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขอุบัติเหตุทางถนนต่อไป

“สุข” แค่ไหน...ถามใจคนตรัง

“พหุวัฒนธรรมฯ คนใต้” ผลักดัน “มัสยิดปลอดบุหรี่”

การดึงศักยภาพของคนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงาน ทำให้เกิดโมเดลการทำงานใหม่ที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่เรียกว่า "ละหมาดสร้างปัญญา" เป็นการปรับใช้หลักศาสนามาใช้เป็นมาตรการของชุมชน เน้นการผสมผสานวิถีวัฒนธรรม และหลักคำสอนศาสนา เพื่อทำให้ชาวมุสลิมมีสุขภาวะที่ดีขึ้น โดยการสร้างความตระหนักถึงผลกระทบจากการสูบบุหรี่ ทำให้เกิด “มัสยิดปลอดบุหรี่ต้นแบบ” เช่นที่ มัสยิดนูรุลยากีนบ้านดุหุน ได้นำแนวคิดมัสยิดปลอดบุหรี่มาใช้ โดยการจัดการสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างสุขภาวะใช้หลัก “ฮะรอม” หรือ กฎบัญญัติห้ามที่มุสลิมทุกคนต้องละเว้นเมื่อเข้ามาละหมาดหรือมาเรียนศาสนาในมัสยิดต้องห้ามสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่เป็นของไม่ดีต่อสุขภาพ และได้เพิ่มการสอนศาสนาให้มีวันเรียนเต็มทั้งสัปดาห์

ซึ่งปัจจุบันขยายมัสยิดปลอดบุหรี่ไปถึง 50 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ และสนับสนุนให้เด็กเยาวชนเข้ามัสยิดแทนที่การเฉลิมฉลองนอกมัสยิด ทำให้อัตราการเกิดอุบัติเหตุลดลง งหมดนี้คือผลจากการขับเคลื่อนโครงการ “พหุวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาวะคนใต้”

อาหมัด นาแว บุคคลต้นแบบที่สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้ จากที่ไม่เคยคิดจะเลิกสูบมาก่อนตลอดยี่สิบกว่าปี เล่าว่า “เมื่อก่อนผมสูบทุกที่ แม้แต่ในบ้าน ใครว่าไม่เคยฟัง พอดีโครงการของ สสส.เขามารณรงค์ ที่มัสยิดที่ชุมชนเลิกสูบเยอะเข้า เพื่อนรุ่นราวคราวเดียวเขาก็เลิกหมดแล้ว  เรามาสูบคนเดียว เริ่มรู้สึกแปลก เวลาสูบเราต้องแอบสูบ ต้องหนีไปนั่งอีกฝั่ง เหมือนเป็นคนนอก เวลาเราขับรถไปไหนก็เห็นคนสูบน้อยลง กลับมาคิดว่าเราเองก็อายุเยอะแล้ว เลยตัดใจหักดิบเลย ตอนนี้เลิกมาได้เจ็ดเดือนกว่าแล้ว”

“สุข” แค่ไหน...ถามใจคนตรัง

ตรัง สุขเพราะห่างไกลปัจจัยเสี่ยง

นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงโครงการ หลังการศึกษาดูงานพื้นที่ต้นแบบด้านการจัดการความปลอดภัยเชิงบูรณาการประเด็นแอลกอฮอล์และอุบัติเหตุในพื้นที่ จ.ตรัง ว่า ตรังเป็นพื้นที่ที่มีความน่าสนใจเพราะเป็นการเปลี่ยนมุมการทำงานด้านการป้องกันและดูแลสุขภาพ โดยใช้พลังชุมชนมาขับเคลื่อนการทำงาน ไม่ว่าจะเป็น พลังผู้หญิง ที่มีบทบาทในการรณรงค์งดเหล้า หรือมีภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนน สนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนกลไกการจัดการความปลอดภัยทางถนน

ทำให้เราต้องคิดว่าการที่ท้องถิ่นมีการกระจายอำนาจ มีการจัดการปัญหาชุมชนโดยชุมชนเอง เป็นปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จ และชี้วัดว่าการรวมตัวกันช่วยกันแก้ปัญหาต่างๆ สสส.มีหน้าที่ให้เพียงการสนับสนุนเล็กๆ น้อยๆ แต่หากชุมชนมีความเข้มแข็งน่าจะเป็นทางออกของการแก้ปัญหาทุกเรื่อง นพ.คำนวณ กล่าว

“สุข” แค่ไหน...ถามใจคนตรัง

ด้าน ทัศนีย์ ศิลปบุตร คณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สสส.กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการ “พหุวัฒนธรรมร่วมลดปัจจัยเสี่ยงหลักต่อสุขภาพและสังคมเพื่อสุขภาวะคนใต้” เป็นความร่วมมือระหว่าง สสส. กับเครือข่ายคนเห็นคน มูลนิธิเครือข่ายพลังสังคม และเครือข่ายงดเหล้าจังหวัดตรัง จัดเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงและสร้างเสริมสุขภาวะในกลุ่มชาวมุสลิม

เพราะ สสส.เองคงไม่สามารถปูพรมทั้ง 14 จังหวัดครบทุกพื้นที่ ดังนั้นเราต้องอาศัยการสร้างโมเดลต้นแบบ ผู้นำชุมชนจะเป็นคนสำคัญที่จุดประกายและขับเคลื่อนงานนี้ ลำดับต่อไปเราจะต้องพึ่งองค์กรศาสนาและผู้นำในท้องถิ่น โดย สสส.ทำหน้าที่แค่ชี้นำแนะแนวทางเป็นกองเสริมเล็กน้อยที่เหลือชุมชนเขาลงมือทำเอง แต่พิสูจน์แล้วว่ากระบวนการดังกล่าวส่งผลให้คลื่นของชุมชนลุกโหมจนกลายเป็นอีกแรงหนุนที่ทำให้การดำเนินงานประสบความสำเร็จ” ทัศนีย์ เอ่ย