Together Fight Diabetes ชวนคนไทยเปลี่ยน Mind Set พิชิต “เบาหวาน”

Together Fight Diabetes ชวนคนไทยเปลี่ยน Mind Set พิชิต “เบาหวาน”

 

ในระดับโลก “เบาหวาน” เป็นอีกหนึ่งในโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่เป็นต้นเหตุสำคัญที่คร่าชีวิตคนทั่วโลกมากที่สุด

เช่นเดียวกันกับประเทศไทย ที่วันนี้เบาหวานยังกลายเป็น “ของขม” ที่คนไทยต้องแบกรับชนิดหวานอมขมกลืน

เพราะปัจจุบันพบคนไทยเป็นเบาหวานพุ่งสูงแตะ 4.8 ล้านคนแล้ว ทั้งมีการคาดการณ์ว่าความชุกของโรคเบาหวานจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 5.3 ล้านคนภายในปี 2583 และเรายังพบคนไทยที่เสียชีวิตจากเบาหวานยังมีมากถึง 200 รายต่อวัน

ไม่เพียงสถานการณ์เบาหวานในไทยไม่กระเตื้องขึ้นอย่างที่คิด อีกหนึ่งประเด็นที่กำลังร้อนสุดใจยิ่งกว่า เมื่อผลสถิติพบว่า เบาหวานไม่ใช่เรื่องของคนสูงวัยอีกต่อไป แต่เรากำลังมีผู้ป่วยเบาหวาน ทั้งในกลุ่มเด็กและวัยทำงาน “เพิ่มขึ้น”

เนื่องในวันเบาหวานโลก 2562  ที่เพิ่งผ่านพ้นไปไม่ถึง 24 ชั่วโมง ได้ถูกจุดชนวนเพื่อเป็น “จุดเปลี่ยน” และ “จุดเริ่มต้น” สำคัญของการประกาศรวมพลังทุกภาคส่วนที่ร่วมกันตั้งเป้าหมายร่วมกันที่จะต่อสู้กับภัยเบาหวานที่คุกคามประชากรไทย

Together Fight Diabetes ชวนคนไทยเปลี่ยน Mind Set พิชิต “เบาหวาน”  

จากความร่วมมือระหว่างสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย และเครือข่ายคนไทยไร้พุง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ร่วมกับสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ประกาศจัดกิจกรรม World Diabetes Day Thailand 2019 Together Fight Diabetes

ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการเครือข่ายคนไทยไร้พุง เอ่ยต่อถึงสถานการณ์ โรคเบาหวานในไทยว่า ปัจจุบันคนไทยมีภาวะอ้วนมากขึ้น โรคเบาหวานทำให้มีผู้เสียชีวิตโดยตรงเพียง 4% แต่ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน 1 ใน 3 มักเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจขาดเลือด สอง ติดเชื้อ สามเป็นมะเร็ง และสี่เป็นไตวาย ที่ส่วนใหญ่มีสาเหตุสำคัญมาจากโรคเบาหวาน

นอกจากนี้ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยและดูแลรักษามีเพียงร้อยละ 35.6 หรือเพียง 2.6 ล้านคน แต่มีสถิติเพียง 0.9 คนเท่านั้นที่บรรลุเป้าหมายในการรักษา หรือจะแปลได้ง่ายๆ ว่าบ้านเรามีคนที่ประสบความสำเร็จเอาชนะโรคเบาหวานได้ไม่ถึง 1 คน!

“อีกเหตุผลที่พบสถิติคนเป็นเบาหวานสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่เราสามารถตรวจคัดกรองหาผู้ที่เป็นเบาหวานได้มีประสิทธิภาพขึ้น เพราะผู้ป่วยบางคนอาจไม่เคยทราบมาก่อนว่าเขาเป็นเบาหวาน แต่เหตุผลหลักๆ ยังคงมาจากปัญหาที่สังคมไทยเราเริ่มมีคนอ้วนมากขึ้นจริงๆ รวมถึงการมีพฤติกรรมที่ส่งผลให้มีเบาหวานสะสมเพิ่มขึ้น” นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยให้ข้อมูล

“สิ่งที่เราพยายามจะทำคือ การไม่ให้มีรายใหม่เพิ่มขึ้นเลย เพราะองค์การอนามัยโลกตั้งเป้าจำนวนผู้เป็นโรคเบาหวานเป็นศูนย์ แต่ในความเป็นจริง เป็นเรื่องที่ยากมาก เรายังไม่สามารถทำได้ไปถึงจุดนั้น”

การที่ประชากรไทยวัยผู้ใหญ่ป่วยเป็นโรคเบาหวานมากขึ้น ผลพวงที่ตามมาคือมักเกิดภาวะแทรกซ้อนเมื่ออายุเพิ่มขึ้น ซึ่งหากดูแลรักษาได้ไม่ดีอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคไต และการถูกตัดเท้าหรือขา ไปจนถึงตาบอดได้

ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี กล่าวแนะนำว่าการคัดกรองเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากผู้ป่วยตรวจเจอโรคเร็วจะยิ่งให้การรักษาได้ดีกว่า 

“สำหรับคนที่อายุ 35 ปีขึ้นไปควรตรวจคัดกรองทุกปี ส่วนใครที่มีคนในครอบครัวเป็นยิ่งต้องควรตรวจตั้งแต่เนิ่นๆ คนที่เป็นแล้วไม่ต้องท้อใจ การปฏิบัติตน ปรับพฤติกรรมทั้งวิถีชีวิตและการกินอยู่จะทำให้โรคลดลงได้ แต่หากคนที่เป็นเบาหวานแล้วก็ยังมีพฤติกรรมเดิม จะทำให้เบาหวานควบคุมได้ยาก เพราะฉะนั้นครอบครัวและคนใกล้ตัวจึงมีบทบาทอย่างมากในการดูแลคนในครอบครัว”

Together Fight Diabetes ชวนคนไทยเปลี่ยน Mind Set พิชิต “เบาหวาน”

เบาหวานในคนรุ่นใหม่

อีกปัญหาสำคัญที่น่าห่วงใย เมื่อเบาหวานวันนี้กำลังคุกคามคนวัยหนุ่มสาวมากขึ้น โดยสถิติที่ชี้ชัดว่า พบทั้งกลุ่มวัยรุ่น วัยหนุ่มสาว และผู้ใหญ่วัยต้น  ที่สำคัญข้อมูลยังชี้ให้เห็นว่าเบาหวานในคนรุ่นใหม่โรคมีความรุนแรงกว่าเบาหวานที่เกิดในวัยกลางคนและผู้สูงอายุเสียอีก รวมถึงตอบสนองต่อการรักษาได้น้อยกว่า แน่นอนว่าข่าวร้ายนี้ ส่งผลกระทบระดับประเทศ เพราะสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นกลุ่มประชากรในวัยทำงาน

“เยาวชนที่เป็นเบาหวานตั้งแต่วัยเด็กเล็กและวัยเรียน จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้ แต่อุปกรณ์ดังกล่าวไม่ครอบคลุมอยู่ในรายการของสำนักง่านหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และมีค่าใช้จ่ายอยู่ราว 13,000 ต่อปี ทำให้ครอบครัวของผู้ป่วยที่มีฐานะยากจน ไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์นี้ได้ หลายหน่วยงานจึงได้ร่วมมือจัดกิจกรรมระดมทุนช่วยเหลือเยาวชนกลุ่มนี้ที่มีอยู่ราว 100,000 คน ในประเทศไทย”ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี กล่าว

ด้าน ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า

“เมื่อก่อนเด็กเป็นกลุ่มสุขภาพดีในบ้านเราเพราะได้วิ่งเล่นขยับเขยื้อนร่างกายมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง รวมทั้งอาหารการกิน วัยทำงานก็อ้วนเยอะขึ้น เราเห็นโรค NCDs ตั้งแต่วัยยี่สิบต้นๆ ส่วนผู้สูงวัยแม้จะอายุยืนขึ้นแต่จะทำอย่างไรให้อายุยืนแล้วมีสุขภาวะดี ซึ่งในครอบครัวพ่อแม่มีบทบาทมากที่จะป้องกันลูกน้อยไม่ให้เสี่ยงเป็นเบาหวานด้วยการดูแลใส่ใจสุขภาพลูกน้อย โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน ลดหวาน จัดอาหาร ส่งเสริมให้ออกกำลังกาย”

Together Fight Diabetes ชวนคนไทยเปลี่ยน Mind Set พิชิต “เบาหวาน”

 

สร้างพลัง “ตื่นรู้” เท่าทันเบาหวาน

เมื่อเบาหวานสะท้อนตัวเลขทางเศรษฐกิจของประเทศ เพราะแต่ละประเทศต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วยโรคนี้ทั้งการรักษาและคนดูแลในแต่ละปีเป็นงบประมาณที่สูง ในเรื่องนี้ ดร.นพ.ไพโรจน์ให้ข้อมูลว่า ทั้งโลกมีผู้เสียชีวิตจากโรค NCDs ปีละมากกว่า 40 ล้านคน คิดเป็น 71% ของการเสียชีวิตทั้งหมด ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา สามารถคำนวณมูลค่าความสูญเสียถึง 47 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในปี 2573 หากไม่มีการดำเนินการแก้ไข ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตประมาณ 400,000 คนต่อปี คิดเป็นร้อยละ 76 ของการเสียชีวิตทั้งหมด และครึ่งหนึ่งเสียชีวิตก่อนวัยอันควร คิดเป็นมูลค่าความสูญเสียร้อยละ 2.2 ของ GDP ต่อปี

จากสถานการณ์ดังกล่าว สสส. จึงพยายามเน้นการป้องกันตั้งแต่ต้นเพื่อไม่ให้คนไทยเป็นโรคเหล่านี้ หรือชะลอไม่ให้เป็นโรคยิ่งมากขึ้น ด้วยการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตการกินและการขับเขยื้อนร่างกายเคลื่อนไหวให้มาก สสส.จึงสนับสนุนให้คนไทยหันมามีกิจกรรมเพื่อส่งเสริมสุขภาพและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของประชาชนในทุกช่วงวัยมากขึ้น ไปจนถึงสนับสนุนให้เกิดการจัดสิ่งแวดล้อมทางกฎหมายและทางสังคม ทั้งใช้การสื่อสารการตลาดเพื่อรณรงค์ปรับเปลี่ยนค่านิยมวัฒนธรรม โดยเน้นขยายแนวคิดความรอบรู้ด้านสุขภาพให้เหมาะสมตามกลุ่มวัย

“เราคงบุกไปสถานที่ต่างๆ ที่แต่คนอยู่หรือใช้ชีวิต ทั้งครอบครัว โรงเรียน หรือที่ทำงาน อย่างมนุษย์ทำงานเองใช้เวลาส่วนใหญ่ในที่ทำงานอย่างน้อยคนละไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมง เราจะส่งเสริมการให้ทุกคนหันมาเปลี่ยนเป็น 8 ชั่วโมงที่มีสุขภาพดีได้ คือแทนที่จะนั่ง เนือย นิ่ง เราควรเปลี่ยนอิริยาบถทุกหนึ่งชั่วโมง การเลือกบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ  รวมถึงสิ่งแวดล้อมมีผลอย่างมากเช่นกัน เราควรจัดสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราให้เอื้อต่อการมีสุขภาพดีได้”

Together Fight Diabetes ชวนคนไทยเปลี่ยน Mind Set พิชิต “เบาหวาน”

Together Fight Diabet

“แนวคิดนี้เกิดจากเรามองว่าการทำงานเรื่องสุขภาพไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง หรือเราจะทำงานเรื่องนี้คนเดียวไม่ได้ แต่ต้องร่วมมือกันสร้างเครือข่าย ซึ่งในภาคราชการ สสส.อยากกระตุ้นให้ทุกคนตระหนัก เรายังมองไปถึงหน่วยงานรัฐและกระทรวงอื่นๆ ที่แม้ไม่ได้มีบทบาทโดยตรงด้านสุขภาพ แต่ก็ควรปลูกจิตสำนึกเกี่ยวกับสุขภาพ เพราะจริงๆ แล้ว ทุกคนต่างช่วยกันดูแลชีวิตคนไทย เขาจึงต้องหันมาห่วงใยเรื่องสุขภาพ เช่น กระทรวงศึกษา กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นต้น ทุกคนควรออกมาแสดงบทบาท”ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. ชี้แจง

Together Fight Diabet จึงเป็นจุดเริ่มต้นและสัญลักษณ์ของการผนึกพลังและสร้างการมีส่วนร่วมในทุกคนให้หันมาเห็นความสำคัญเรื่องสุขภาพของคนไทยในทุกมิติ

สำหรับการปักหลักยุทธศาสตร์ “พิชิต” โรคเบาหวานในสังคมไทย ดร.นพ.ไพรจน์ ยังอธิบายว่าจะเริ่มตั้งแต่ ระดับองค์กร ผ่านแนวคิด Healthy Organization ซึ่งจากการที่ปัจจุบันเทรนด์ของการบริหารจัดการองค์กร ให้ความสำคัญต่อพนักงาน ผู้บริหารส่วนใหญ่ให้ความสำคัญทำให้แนวคิดดังกล่าวนี้มีแนวโน้มได้รับการตอบรับเชิงบวกจากหลายองค์กร

“ที่ผ่านมาเขาอาจไม่รู้จะเริ่มหรือทำอย่างไร นอกจากจะมีข้อมูล คู่มือเอกสาร เรายังต้องมีเครือช่ายทุกกลุ่มเครือข่ายที่เป็นกลไกเข้าไปกระตุ้นและเป็นพี่เลี้ยงให้องค์กรเหล่านี้ เราจะต้องพัฒนาระบบให้ฝังอยู่ในแต่ละที่ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ในองค์กร ฝังวิธีคิดและวิธีการทำงานให้กับทุกภาคส่วน โดยเริ่มตั้งแต่การเปลี่ยน mind set ในผู้บริหาร ส่งเสริมให้ทุกองค์กรมีระบบและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดี “

 

หนุนกิจกรรมสร้างสุข สร้าง Active Lifestyle

สำหรับกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพที่จะเกิดขึ้น ใน World Diabetes Day Thailand 2019 Together Fight Diabetes ตลอดปีนี้ ประกอบด้วย 1.Fight Diabetes Run วิ่งสู้เบาหวาน  กิจกรรมเดินสะสมระยะ (Virtual Run) วิ่งส่งเสริมสุขภาพ และระดมทุนช่วยกองทุนเบาหวานเด็ก  สามารถสมัครเป็นทีมทีมละอย่างน้อย 3 คน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ที่ Line @FightDiabetesRun  หรือสามารถซื้อเสื้อและเหรียญที่ระลึก ได้ในราคารวม 450 บาท เริ่มส่งผลเดินวิ่ง ได้ตั้งแต่ 14 พ.ย. 2562 – 15 ม.ค. 2563 โดยทีมที่สามารถสะสมระยะทางได้มากที่สุดจะได้รับโล่เชิดชูเกียรติ เป็นองค์กรหรือครอบครัวตัวอย่างห่างไกลเบาหวาน นอกจากนี้จำนวนระยะทางรวมที่ผู้เข้าร่วมทั้งหมดเดิน-วิ่งได้ จะแปลงเป็นเงินบริจาคช่วยผู้ป่วยเด็กเบาหวาน โดย 1 กิโลเมตร มีค่าเท่ากับ 1 บาท โดยเงินจำนวน 13,000 บาท สามารถช่วยเด็กเบาหวาน 1 คนให้มีชีวิตที่ดีขึ้นได้เป็นเวลา 1 ปี

ส่วน Active Meeting Challenge ภารกิจท้าคุณขยับ เป็นการประกวดคลิปออกกำลังกายระหว่างพักการประชุมหรือการปฏิบัติงาน เพื่อกระตุ้นให้คนในองค์กรให้ความสำคัญกับการเพิ่มการขยับร่างกายในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาองค์กรไปสู่การเป็น Healthy Organization หรือองค์กรสุขภาพพดี ทุกองค์กรสามารถส่งผลงานเข้าประกวดได้ตั้งแต่วันนี้จนถึง 31 .ค. 2563

นอกจากนี้ยังมี กิจกรรม Healthy Family Workshop เชิญชวนสมาชิกในครอบครัวมาร่วมเวิร์กชอปปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินและออกกำลังกาย ในรูปแบบกิจกรรมเรียนรู้ที่สนุกสนาน สามารถนำไปใช้กับสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน  ผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดและประกาศรับสมัครได้ผ่านทางแฟนเพจเครือข่ายคนไทยไร้พุง และอีกกิจกรรมTogether Fight Diabetes Fair  กิจกรรมวันรวมพลังสู้เบาหวานและโรค NCDs ที่จะจัดขึ้นในช่วงเดือน ก.พ. 2563 นี้