รายงาน "แนวคิดอินโด-แปซิฟิก" สร้างทัศนียภาพความร่วมมือมิติใหม่ในอาเซียน

รายงาน "แนวคิดอินโด-แปซิฟิก"  สร้างทัศนียภาพความร่วมมือมิติใหม่ในอาเซียน

 

การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 เมื่อวันที่ 22 - 23 มิ.ย. ที่ผ่านมา ที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีประเทศไทยทำหน้าที่เป็นประธานอาเซียนจัดการประชุม ภายใต้แนวคิดหลัก "ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน" (Advancing Partnership for Sustainability) ซึ่งได้ปิดฉากไปพร้อมกับการประกาศความสำเร็จในความร่วมมือหลายด้าน โดยเฉพาะการที่ผู้นำ 10 ชาติสมาชิกอาเซียนได้ให้การรับรองเอกสารมุมมองของอาเซียนต่อแนวคิดอินโด-แปซิฟิก เพื่อต้องการคงไว้ซึ่งความเป็นแกนกลางของอาเซียน และรักษาบทบาทนำอาเซียนในการเสริมสร้างความสัมพันธ์กับภูมิภาคอื่น ๆ รวมทั้งการรับมือกับผลกระทบจากการแข่งขันทางอิทธิพลระหว่างประเทศมหาอำนาจในด้านการเมือง การทหาร และเศรษฐกิจ

รายงาน \"แนวคิดอินโด-แปซิฟิก\"  สร้างทัศนียภาพความร่วมมือมิติใหม่ในอาเซียน

สุริยา จินดาวงษ์ อธิบดีกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ อาเซียนสามารถบรรจุท่าทีร่วมกันต่อแนวคิดอินโด-แปซิฟิกได้ ด้วยการจัดทำเอกสารมุมมองของอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on the Indo-Pacific) ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อข้อเสนอของประเทศมหาอำนาจหรือประเทศอื่น ๆ แต่เป็นความคิดของอาเซียนที่ว่า ภูมิภาคอาเซียนตั้งอยู่ตรงกลางระหว่าง 2 มหาสมุทรที่สำคัญ ได้แก่ มหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งควรให้เกิดการเชื่อมโยง เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันทุกคน และก้าวไปข้างหน้าร่วมกัน

รายงาน \"แนวคิดอินโด-แปซิฟิก\"  สร้างทัศนียภาพความร่วมมือมิติใหม่ในอาเซียน

"เอกสารมุมมองของอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก เป็นอีกข้อเสนอหนึ่งที่มีไว้ในภูมิภาค และข้อเสนอของอาเซียนในเรื่องนี้จะช่วยส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม บนพื้นฐานของความเป็นแกนกลางอาเซียนในโครงสร้างสถาปัตยกรรมในภูมิภาค นี่เป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดนี้ ไม่ใช่ว่า ประเทศมหาอำนาจเสนออะไรมา อาเซียนจะต้องมีท่าทีตอบรับเสมอไป หากแต่อาเซียนได้คิดมานานแล้ว เพื่อพัฒนามุมมองที่ตั้งบนพื้นฐานของผลประโยชน์ของอาเซียน ปัจจุบันเริ่มมีความเชื่อมโยงมากขึ้นระหว่างมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก โดยเราจะใช้กลไกที่มีอยู่แล้วพัฒนาความร่วมมือให้เกิดผลประโยชน์ให้มากขึ้น" อธิบดีกรมอาเซียนกล่าว

รายงาน \"แนวคิดอินโด-แปซิฟิก\"  สร้างทัศนียภาพความร่วมมือมิติใหม่ในอาเซียน

อธิบดีกรมอาเซียนยังระบุด้วยว่า เมื่อย้อนไปในการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (EAS Summit) เมื่อเดือน พ.ย. 2560 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งในครั้งนั้นมี 4 ประเทศได้เสนอแนวคิดต่อยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกที่แตกต่างกันไป โดยในช่วงนั้น พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้กล่าวแสดงความคิดเห็นในมุมมองของประเทศไทยว่า "อาเซียนควรมีแนวคิดในการเชื่อมโยงมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก โดยเฉพาะจะดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไร" ซึ่งเป็นจุดริเริ่มที่ทำให้หลังจากนั้น 10 ชาติสมาชิกอาเซียนได้หารือพูดคุยกัน โดยมอบอินโดนีเซียในฐานะเป็นประเทศที่สนใจในเรื่องนี้ ได้พิจารณาโครงสร้างและศึกษาแนวทางอย่างรอบด้าน โดยเมื่อสามารถสรุปได้แล้ว อินโดนีเซียจึงได้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นหารือกับไทยในฐานะไทยเป็นประธานอาเซียนและประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ เพื่อหาทางช่วยกันขับเคลื่อนร่วมกัน จนในที่สุดสามารถออกเป็นเอกสารมุมมองของอาเซียนต่อแนวคิดอินโด-แปซิฟิกได้สำเร็จ

รายงาน \"แนวคิดอินโด-แปซิฟิก\"  สร้างทัศนียภาพความร่วมมือมิติใหม่ในอาเซียน

เอกสารมุมมองของอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิกยังประกอบด้วยหลายหลักการที่สำคัญ ได้แก่ การมีส่วนร่วม (Inclusiveness) กับความเกื้อกูลซึ่งกันและกัน (Complementarity) รวมไปถึงเน้นหลักการ 3 M ได้แก่ การไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน (Mutual trust) ผลประโยชน์ร่วมกัน (Mutual benefit) และความเคารพซึ่งกันและกัน (Mutual respect) ซึ่งในส่วนนี้มีดีเอ็นเอของไทยใส่เข้าไปค่อนข้างมาก ในแง่ของการส่งเสริมความร่วมมือให้ทุกฝ่ายได้รับอย่างเท่าเทียมกัน นอกจากนี้ ยังยึดหลักการสำคัญของความเป็นแกนกลาง (Centrality) ของอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบุหลักการทั้งหมดที่มาจากสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia - TAC) เพื่อเป็นพื้นฐานหลักในการขับเคลื่อนของอาเซียน

"เอกสารฉบับนี้ไม่ใช่ยุทธศาสตร์ แต่เป็นมากกว่ามุมมอง (Outlook) โดยได้สะท้อนความเป็น ASEAN Vista หรือวิถีทัศน์ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นทัศนะของอาเซียน ที่มีความยืดหยุ่นและปรับตามพัฒนาการใหม่ ๆ ในภูมิภาค"

รายงาน \"แนวคิดอินโด-แปซิฟิก\"  สร้างทัศนียภาพความร่วมมือมิติใหม่ในอาเซียน

นอกจากนี้ อธิบดีกรมอาเซียน กล่าวด้วยว่า สิ่งสำคัญในเอกสารมุมมองของอาเซียนต่อแนวคิดอินโด-แปซิฟิก ยังระบุถึงความร่วมมือรูปธรรมใน 4 สาขา ได้แก่ 1.) ความร่วมมือทางทะเล 2.) การเชื่อมโยง 3.) เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของยูเอ็นปี 2573 และ 4.) ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ โดยที่ไทยให้ความสำคัญกับ "การเชื่อมโยง และการพัฒนาที่ยั่งยืน" เป็นพิเศษ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดหลักของไทยที่เป็นประธานอาเซียน ต่อจากนี้ไปอาเซียนจะเชิญชวนบรรดาประเทศนอกภูมิภาคให้เข้ามาร่วมกับอาเซียน บนพื้นฐานของเอกสารฉบับนี้

"ขอยืนยันว่า เอกสารฉบับนี้มีแนวคิดไม่ได้กีดกันใคร ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดหลักของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง หากประเทศใดมีไอเดียดีในเรื่องต่าง ๆ เช่น ความเชื่อมโยงก็สามารถเสนอโครงการเป็นรูปธรรมเพื่อทำร่วมกันได้ ประเทศคู่เจรจาทุกประเทศสามารถมีส่วนร่วมได้ โดยที่อาเซียนไม่จำเป็นต้องสร้างกลไกใหม่ขึ้นมารองรับ เนื่องจากอาเซียนสามารถใช้กลไกที่มีอยู่ เช่น อาเซียนบวกหนึ่ง อาเซียนบวก 3 (จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี) หรืออาเซียนบวก 8 (ประเทศสมาชิกในกลุ่ม East Asia Summit - EAS)” อธิบดีกรมอาเซียนชี้ พร้อมกับมองว่า เอกสารมุมมองของอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิกจะช่วยสร้างการเชื่อมโยงในหลายมิติ ทั้งการเชื่อมโยงระบบโครงสร้างพื้นฐาน เส้นทางคมนาคมตั้งแต่ถนน รถไฟ ท่าเรือ และเส้นทางการบิน รวมทั้งกฎระเบียบ ที่จะช่วยให้เกิดการค้าดิจิทัล และส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจร่วมกัน และส่งเสริมความยั่งยืนในมิติต่าง ๆ ในภูมิภาคได้ด้วย

รายงาน \"แนวคิดอินโด-แปซิฟิก\"  สร้างทัศนียภาพความร่วมมือมิติใหม่ในอาเซียน