‘ประเทศไทย’ ชาติแรกอาเซียน ชูวาระสู้ ‘ขยะทะเล’

‘ประเทศไทย’ ชาติแรกอาเซียน ชูวาระสู้ ‘ขยะทะเล’

 

ประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียน ตระหนักถึงปัญหา “ขยะทะเล” ที่ส่งผลกระทบต่อมหาสมุทรทั่วภูมิภาค และเป็นชาติแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เสนอประเด็นนี้ต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียน

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้สัมภาษณ์พิเศษเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อปัญหาขยะทะเล และเป็นประเทศแรกที่เสนอประเด็นนี้เป็นวาระสำคัญทั้งในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 ที่กรุงเทพฯ เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา และการประชุมรัฐมนตรีอาเซียน สมัยพิเศษด้านขยะทะเลที่ จ.ภูเก็ต เมื่อเดือน มี.ค.

‘ประเทศไทย’ ชาติแรกอาเซียน ชูวาระสู้ ‘ขยะทะเล’

“นอกจากประเทศไทยเป็นผู้ริเริ่มการจัดประชุมประเด็นขยะทะเลในฐานะประธานอาเซียนปี 2562 แล้ว ยังทำให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของไทยที่จะแสดงบทบาทนำในภูมิภาคเพื่อจัดการและแก้ไขปัญหาขยะทะเล”  อธิบดีจตุพรเผย และกล่าวว่า ความเคลื่อนไหวนี้ทำให้ไทยได้รับเสียงชื่นชมจากนานาประเทศ

อธิบดี ทช. ระบุว่า เหตุที่การประชุมอาเซียนจำเป็นต้องมีการหารือเรื่องความร่วมมือลดขยะทะเล เพราะมีข้อมูลวิชาการว่า ไทยทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดอันดับ 6 ของโลก และใน 10 อันดับแรก ครึ่งหนึ่งยังมาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม ไทย และมาเลเซีย สะท้อนให้เห็นว่าอาเซียนเป็นต้นตอใหญ่ของปัญหานี้

เมื่อปีที่แล้ว กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รายงานอ้างผลการสำรวจของ เจนนา อาร์. แจมเบ็ก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยจอร์เจียของสหรัฐ พบว่า จีน ปล่อยขยะพลาสติกลงมหาสมุทรมากที่สุด 8.82 ล้านตันต่อปี รองลงมาเป็นอินโดนีเซีย 3.22 ล้านตันต่อปี อันดับ 3 ฟิลิปปินส์ 1.88 ล้านตันต่อปี อันดับ 4 เวียดนาม 1.83 ล้านตันต่อปี อันดับ 5 ศรีลังกา 1.59 ล้านตันต่อปี

‘ประเทศไทย’ ชาติแรกอาเซียน ชูวาระสู้ ‘ขยะทะเล’

ส่วนไทยรั้งอันดับ 6 ปล่อยขยะพลาสติกลงมหาสมุทร 1.03 ล้านตันต่อปี อันดับ 7 อียิปต์ 0.97 ล้านตันต่อปี อันดับ 8 มาเลเซีย 0.94 ล้านตันต่อปี อันดับ 9 ไนจีเรีย 0.85 ล้านตันต่อปี และอันดับ 10 บังกลาเทศ 0.79 ล้านตันต่อปี

ในด้านการรณรงค์ อธิบดีจตุพร กล่าวว่า รัฐบาลและ ทช.ได้ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำ (แคปซีล) งดใช้กล่องโฟมและถุงพลาสติกหูหิ้วในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติ รณรงค์ให้เลิกใช้หลอดพลาสติก ใช้ถุงผ้า และพกแก้วน้ำมาเอง

นอกจากนั้น รัฐบาลยังจับมือกับภาคธุรกิจงดแจกถุงพลาสติกใส่สินค้าเพื่อลดปริมาณขยะพลาสติก เช่น ร่วมมือกับ “เซเว่น อีเลฟเว่น” จัดแคมเปญรณรงค์ให้ลูกค้าปฏิเสธรับถุงพลาสติกเพื่อสมทบทุนซื้ออุปกรณ์การแพทย์

ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้นำผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนสมัยพิเศษด้านขยะทะเล ซึ่งประกอบด้วยปฏิญญากรุงเทพว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียน และกรอบปฏิบัติงานอาเซียนว่าด้วยขยะทะเล เข้าสู่การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 ซึ่งผู้นำได้รับรองปฏิญญากรุงเทพฯ เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาขยะทะเลให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวหลังจากที่ประชุมรับรองปฏิญญากรุงเทพฯ ว่า ปฏิญญานี้แสดงถึงเจตนารมณ์ของอาเซียนที่มุ่งมั่นจะแก้ไขปัญหาขยะทะเลอย่างจริงจังและยั่งยืน โดยอาเซียนจะสนับสนุนนวัตกรรม งานวิจัย ตลอดจนการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ

‘ประเทศไทย’ ชาติแรกอาเซียน ชูวาระสู้ ‘ขยะทะเล’

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาขยะทะเลอาเซียน ซึ่งประเทศไทยมีโรดแมปการจัดการขยะพลาสติกระหว่างปี 2561-2573 เช่น ตั้งเป้าการเลิกใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง และยกเลิกการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ 200% ภายในปี 2570 เนื่องจากพลาสติกเป็นขยะที่ย่อยสลายยาก

อธิบดีจตุพร เสริมว่า มาตรการเลิกใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกอื่น ๆ ที่พบมากในประเทศไทยและส่งผลกระทบเลวร้ายต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ ยังรวมไปถึงการตั้งเป้าเลิกใช้ไมโครบีดจากพลาสติกภายในปีนี้ การเลิกใช้กล่องโฟมบรรจุอาหารภายในปี 2565 และการเลิกใช้แก้วน้ำพลาสติก (ใช้ครั้งเดียว) และหลอดพลาสติกภายในปี 2568

ขณะเดียวกันยังตั้งเป้าจัดการขยะไหลลงทะเล ด้วยการติดตั้งทุ่นกักขยะ (บูม) ตามปากแม่น้ำต่าง ๆ ซึ่งปริมาณขยะ 80% ที่ไหลลงสู่ทะเลมาจากแม่น้ำลำคลองต่าง ๆ ที่มาจากการชะล้างของฝน

“สำหรับปีงบประมาณ 2562 เราได้รับงบประมาณในการจัดหาบูมจำนวน 10 ชุดเพื่อติดตั้งในพื้นที่ปากแม่น้ำบริเวณทะเลอ่าวไทยและทะเลอันดามัน โดยร่วมมือกับชุมชนเครือข่ายและหน่วยงานท้องถิ่นเพื่อการจัดการที่ยั่งยืนและดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นรูปธรรม” อธิบดี ทช. เผย

‘ประเทศไทย’ ชาติแรกอาเซียน ชูวาระสู้ ‘ขยะทะเล’

ในเดือนนี้ ทช. ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กรมเจ้าท่า องค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำผึ้ง จ.สมุทรปราการ และเอกชน ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) โครงการจัดการขยะลอยน้ำด้วยทุ่นกักขยะ บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ในพื้นที่ ต.บางน้ำผึ้ง

ส่วนแนวทางในการแก้ปัญหาขยะทะเลอย่างเป็นรูปธรรมหลังการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 34 อธิบดีจตุพรระบุว่า ไทยในฐานะประธานอาเซียนจะเร่งผลักดันโครงการต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่สมาชิกอาเซียนได้แสดงเจตนารมย์ร่วมกันในปฏิญญากรุงเทพฯ

“เมื่อต้นปีนี้ ไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพในการดำเนินงานจัดการมลภาวะทางทะเล รวมถึงขยะทะเล และได้สมัครเป็นประธานคณะทำงานอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งในปีหน้าด้วย ซึ่งคาดว่าชาติสมาชิกจะเห็นชอบในฐานะที่เราเป็นผู้ริเริ่มการแก้ปัญหาขยะทะเล”

‘ประเทศไทย’ ชาติแรกอาเซียน ชูวาระสู้ ‘ขยะทะเล’

นอกจากนั้น อธิบดี ทช. เผยว่า รัฐบาลยังแสวงหาความร่วมมือจากหน่วยงานและแหล่งทุนต่าง ๆ เพื่อช่วยขับเคลื่อนการแก้ปัญหานี้ด้วย

“ณ ปัจจุบัน เราในฐานะประธานอาเซียนได้รับการสนับสนุนสำหรับโครงการแก้ปัญหาขยะทะเลทั้งจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก ธนาคารโลก และรัฐบาลญี่ปุ่น”

ทั้งนี้ ไทยตั้งเป้าที่จะลดปริมาณขยะลงทะเล 50% ภายในปี 2570 ซึ่งความร่วมมือจากประชาชนถือเป็นกลไกสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายนี้

“การแก้ไขปัญหาขยะที่ได้ผลที่สุดต้องมาจากความร่วมมือของประชาชน ควรตระหนักในการลดใช้พลาสติกเกินความจำเป็น การใช้ซ้ำ และการคัดแยกเพื่อรีไซเคิล รวมถึงทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทาง” อธิบดีจตุพรกล่าว พร้อมกับชื่นชมภาคประชาชนและธุรกิจที่พยายามปรับตัวเพื่อลดการสร้างขยะพลาสติก ซึ่ง ณ ขณะนี้ผลลัพธ์ถือว่าน่าพอใจมาก แต่ขอให้ทุกฝ่ายพยายามกันต่อไป