“เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน” กระจกสะท้อนความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

“เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน” กระจกสะท้อนความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

 

“บนผืนแผ่นดินไทยยังมี “พวกเรา” ที่มีความหลากหลาย แตกต่าง พวกเราถูกมองข้าม ไร้เสียง ไร้ตัวตน ไร้คุณค่า ถูกกีดกัน หลงลืมทิ้งไว้ข้างหลัง และกลายเป็น “คนอื่น”

พวกเรายังมีตัวตน และใช้ชีวิตอยู่ในสังคม แต่อาจไม่มีใคร...เคยสังเกตเห็น และมองข้ามไป..”

ข้อความตอนหนึ่งของการประกาศเจตนารมณ์ “ก้าวย่างต่อไปในการสร้างเสริมสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะและความเป็นธรรมทางสุขภาพ” ที่คือเสียงสะท้อนจากคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งแทบไม่เคยมีสิทธิ์มีเสียงมานานหลายสิบปี

แต่วันนี้ กว่า 2,400 เสียงต่างมารวมตัวกัน และเสียงที่ไม่เคยมีใครได้ยินเหล่านั้น ได้มารวมพลังกันครั้งแรกเพื่อเปล่งเสียงดังที่สุดในชีวิต เพียงเพื่อจะบอกว่า “พวกเขายังอยู่ตรงนี้”

“เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน” กระจกสะท้อนความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

หลังเดินทางมากว่าสิบปี  สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงจูงมือภาคีเครือข่าย มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และเรียนรู้ผลลัพธ์เพื่อเรียนรู้ Best Practice ต่างๆ  ต่อยอดกระบวนการทำงานเพื่อเสริมพลังการขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะให้เกิดความเท่าเทียมทางสังคม ผ่านเวทีการจัดงานประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน : ประชากรกลุ่มเฉพาะ “ Voice of the voiceless: the vulnerable populations”

เสียงของคนสองพันคนคือตัวแทนเพื่อนๆ ชาวกลุ่มเฉพาะในประเทศไทยอีกกว่า 91 ล้านคน ไม่ว่าจะเป็น คนพิการ คนไร้บ้าน คนไร้สถานะ ผู้สูงอายุ แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ มุสลิม ผู้หญิง และผู้ต้องขัง ที่ถูกผลักให้ออกไปยืนอยู่ชายขอบมาเนิ่นนาน

“เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน” กระจกสะท้อนความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

บุคคลเปราะบางกลุ่มนี้ ต่างมีข้อจำกัดในการดำเนินชีวิต และต้องเผชิญสถานการณ์หลายอย่างที่แทบไม่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น  1. ไร้ตัวตน ถูกมองข้าม 2. ถูกผลักภาระ 3. มีความเสี่ยงสูง 4.ถูกกีดกันออกจากนโยบาย และ 5. มีจิตสำนึกจำยอม หรือยอมจำนน ที่สำคัญประชากรกลุ่มเฉพาะเหล่านี้มักเป็นคนสุดท้ายที่ได้เข้าถึงทรัพยากรและโอกาส

“ดิฉันเป็นผู้หญิง ก็ถือเป็นประชากรกลุ่มเฉพาะกลุ่มหนึ่ง  เพราะจากประสบการณ์เราเคยถูกมองว่าต่ำกว่าคนอื่น เหล่านี้คือประสบการณ์ร่วม ซึ่งมันเป็นพลังที่ทำให้เราเห็นความสำคัญเรื่องความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคมว่าไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เกิดขึ้นได้กับทุกคน” ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส.ร่วมแชร์ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง

เธอเอ่ยต่อว่า โลกนี้ไม่ว่าใครๆ ก็อยากมีสังคมที่อยู่ร่วมกันโดยไม่แบ่งแยก เคารพคุณค่าในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน แต่ที่ผ่านมา สิ่งที่ยังคงอยู่คือ การมองเห็นความเหลื่อมล้ำในสังคม

“เราเห็นการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เห็นความคนที่มีน้อยกว่ามีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรน้อยกว่าคนที่รวย เห็นระบบที่ไม่ตอบสนองหรือไม่เอื้อ ไม่เป็นมิตรกับประชาชน  และเราได้เห็นคนที่ต่อสู้กับคนที่เรียกร้องสิทธิและเสรีภาพของตัวเองมาตลอด นั่นเป็นที่มาของการจัดตั้งสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ เพื่อเป็นสื่อกลางในการส่งเสียงของคนที่ไม่ยอมจำนนต่อการกดขี่ และความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น”

“เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน” กระจกสะท้อนความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

ภรณีกล่าวต่อว่าตลอด 10 ปีที่ผ่านมา สสส. ได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย มุ่งเน้นการลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมทางสุขภาพใน 8 กลุ่ม ได้แก่ คนพิการ 2.04 ล้านคน คนไร้บ้าน 1,518 คน ผู้สูงอายุ 13.3 ล้านคน ผู้หญิง 37.7 ล้านคน ผู้ต้องขังหญิง 1.5 แสนคน แรงงานนอกระบบ 21.19 ล้านคน ผู้มีปัญหาสถานะบุคคล/ประชากรข้ามชาติ 3.1 ล้านคน และมุสลิม 3.2 ล้านคน ซึ่งได้รับผลกระทบจากความไม่เป็นธรรมทางสุขภาพและแม้ว่าวันนี้สังคมจะเริ่มหันมาสนใจและยอมรับการมีอยู่ของพวกเขาในสังคม แต่ก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่พวกเขาอยากส่งเสียงออกมา

“มีหลายเรื่องที่พวกเขาพยายามส่งเสียมาหลายรอบ แต่กลับไม่มีใครได้ยิน อาจเป็นเพราะเสียงพวกเขา เป็นเสียงของคนเล็กคนน้อยงั้นหรือ?” ภรณี ตั้งคำถาม

ด้าน นพ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพคนที่ 2 ประธานในพิธี กล่าวว่า สสส. ให้ความสำคัญกับการทำงานสร้างเสริมสุขภาวะ ซึ่งภายใต้ วิสัยทัศน์  สสส. ระบุว่า ทุกคนบนแผ่นดินไทยมีขีดความสามารถ สังคม สิ่งแวดล้อม ที่เอื้อต่อสุขภาวะ

“นโยบายสำคัญ สสส.เพื่อสร้างเสริมสุขภาพ คือการจุดประกาย กระตุ้น สานและเสริมพลังบุคคลและองค์กรทุกภาคส่วนให้มีขีดสามารถสร้างสรรค์ระบบสังคมที่เอื้อต่อสุขภาวะที่ดี และคำนึงถึงปัญหาของการเหลื่อมล้ำ แต่ตราบใดที่เงื่อนไขการดำรงชีวิตของ “ประชากรกลุ่มเฉพาะ” เหล่านี้ยังมีข้อจำกัด การแก้ปัญหาลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและสุขภาพ จะไม่สามารถทำได้สำเร็จ การทำงานเพื่อลดช่องว่างของปัญหาเหล่านี้ สสส. ต้องหากลไกที่แตกต่างที่สอดคล้องกับวิถีการดำรงชีวิต ถือเป็นความท้าทายของการทำงานให้บรรลุความเป็นธรรมทางสุขภาพ ด้วยการลดความเหลื่อมล้ำผ่านปัจจัยทางสังคม สร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับวิธีคิดและเชิงโครงสร้างโดยอาศัยยุทธศาสตร์การสร้างแนวร่วมสนับสนุนจากทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งภาคประชาสัมคม ภาครัฐ และภาคเอกชน

ซึ่งที่ผ่านมา ความสำเร็จจากการมีแนวร่วมเพื่อคนกลุ่มน้อยเหล่านี้ ได้ผลิดอกออกผลให้เห็นเป็นรูปธรรมที่ประสบความสำเร็จมาแล้วหลายเรื่อง ไมว่าจะเป็น การขับเคลื่อนสนับสนุนนวัตกรรมการจ้างงานพิการตั้งแต่ปี 2558 ที่สามารถทำให้คนพิการมีงานทำแล้วถึง 15,000 อัตรา การเกิดต้นแบบศูนย์บริการคนพิการแบบครบวงจร  2 แห่ง คือ มูลนิธิพิทักษ์ดวงตาลำปาง และ ศูนย์บริการคนพิการ จ.สระบุรี การแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศ ผ่านแคมเปญ ถึงเวลา “เผือก” เพื่อเปลี่ยนพลังเงียบให้ลุกขึ้นมาจัดการและไม่นิ่งเฉยต่อความรุนแรงทางเพศ พัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายและขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุภายใต้ระเบียบวาระแห่งชาติ เรื่องสังคมผู้สูงอายุ เป็นต้น

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การสร้างสุขภาพ ไม่ใช่การเพิ่มพละกำลังหรือขีดความสามารถอย่างเดียวเท่านั้น เพราะปัจจัยกำหนดสุขภาพ ไม่ได้อยู่ที่ตัวเรา แต่ยังมีอยู่ในสังคม สิ่งแวดล้อมอื่นๆ อีกมากหมาย      ซึ่งประเทศไทยและนานาประเทศให้ความสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals–SDGs) ที่มีเป้าหมายร่วมกันคือการสร้างความเป็นธรรมทางสุขภาพและสังคมให้ปรากฏขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในทุกมิติ

“สสส. ได้สร้างพื้นที่ต้นแบบการทำงานลดความเหลื่อมล้ำของประชากรกลุ่มเปราะบาง 4 ด้าน คือ 1.พัฒนาสิทธิและการพิสูจน์สิทธิของประชากรเพื่อการเข้าถึงบริการทางสุขภาพ หรือสวัสดิการสังคมตามสิทธิที่พึงมีพึงได้ 2.พัฒนากลไกการสร้างเสริมสุขภาพ สิทธิประโยชน์ ระบบบริการที่เหมาะสมกับบริบทที่แตกต่างกันของแต่ละกลุ่มประชากร 3.พัฒนากลไกเสริมเพื่อการเข้าถึงความเป็นธรรมทางสุขภาพ 4.สื่อสารเพื่อการสร้างความเข้าใจการสร้างเสริมสุขภาวะของประชากรกลุ่มเฉพาะ”

มาฟังหนึ่งเสียงที่เปล่งออกมาในวันนี้ ของ ประศม สุขแสวง ผู้พิการที่เป็นเหยี่อจากอุบัติเหตุเมาแล้วขับ ปัจจุบันยังทำงานอยู่กับมูลนิธิเมาแล้วขับ เผยความรู้สึกว่า ยินดีที่มีการจัดงานแบบนี้และมองว่าน่าจะเกิดขึ้นนานแล้ว เขาบอกว่าข้อดีของงานนี้ คือได้รับรู้สภาพปัญหากลุ่มอื่นด้วย ได้แชร์ประสบการณ์ “เราเห็นคนแย่กว่าเราเยอะ เช่นตาบอด พิการซ้ำซ้อน น่าจะได้รับการช่วยเหลือจากสังคมมาก ก็รู้สึกดีใจที่สังคมมีการพัฒนาดีขึ้นเรื่อยๆ และมีฝ่ายที่ร่วมกันเพื่อหาวิธีการแก้ปัญหา และสะท้อนให้สังคมถึงเสียงของเรา มันอาจทำให้สังคมได้เข้าใจพวกเรามากขึ้น และรับรู้ว่าปัญหานี้มันมีอยู่ในสังคมนะ

ผมรู้อยู่แล้วว่าเราพิการ และไม่มีสิทธิ์เท่าเทียมคนอื่น เราคงไม่เอามาตรฐานคนปกติมาเทียบ แต่สิ่งที่เราต้องการคือ “แต้มต่อ” ในการที่จะดำรงชีวิตต่อไปได้ ทั้งเรื่องสิทธิและการยอมรับ  ถ้าถามถึงสิ่งที่อยากได้ตอบเลยว่า คือ โอกาส อยากให้สังคมหยิบยี่น แบบไหนก็ได้ สร้างรายได้ มีกฎหมายมาตราที่ให้ผู้พิการได้รับจ้างงานหรือครอบครัวจ้างงานทำให้เรามีกิน ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยก็มีกฎหมายเพื่อคนพิการดีแล้วพอๆ กับประเทศญี่ปุ่นด้วยซ้ำ แต่ผมมองว่าการบังคับใช้หรือภาคปฏิบัติยังอ่อนแออยู่อยากให้ปรับตรงนี้” ประศม กล่าวถึงความปรารถนาในใจ ก่อนที่ฝากฝังให้คนในสังคมช่วยส่งเสียงแทนเขาด้วย

ด้าน นาตยา คณโฑทอง ตัวแทนที่น้องมุสลิมจากมัสยิดกลาง จ.ลพบุรี กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้มาร่วมงานว่า ดีใจที่มีโอกาสได้มาเห็น รับฟังเรื่องราว  และแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากคนหัวอกเดียวกันมากมาย

“คิดว่าตัวเองเป็นประชากรกลุ่มน้อยในสังคมมาโดยตลอด ซึ่งการเป็นคนส่วนน้อย ทำให้หลายครั้งแทบจะไม่มีสิทธิ์มีเสียงในสังคม แม้แต่สิทธิ์ในการเลือกที่ดูแลชุมชนของตัวเอง ยิ่งกลุ่มพี่น้องมุสลิมภาคใต้ลำบากกว่าเรามาก เพราะต้องรอคำสั่งจากส่วนกลางเท่านั้น ทั้งที่คนในพื้นที่เองเขาก็มีความรู้ความสามารถไม่ต่างกัน ดังนั้นเราอยากส่งเสียง ว่าเราอยากได้ สิทธิที่เท่าเทียมกับคนไทยคนอื่นทุกๆ คน”

โดยก่อนปิดงาน ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ ยังส่งต่อสาร ตอกย้ำเจตนารมย์การทำงานสร้างสุขภาวะเพื่อประชากรกลุ่มเฉพาะว่า

“ในอนาคต เป้าหมายการทำงานของ สสส.จะไม่กำหนดโดย สสส. ฝ่ายเดียว แต่เราเปิดรับทุกเสียงของภาคีเครือข่ายและพี่น้องกลุ่มเฉพาะ ที่จะบอกว่าอะไรที่ยังเป็นช่องว่างของเรื่องนี้อยู่ อะไรที่ควรทำหรือไม่มีหน่วยงานต่างๆ ทำ เราพร้อมจะเข้าไปเสริมโอกาส เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงสำคัญ 2 เรื่อง คือการสร้างคุณค่าในตัวเองให้กับพี่น้องประชากรกลุ่มเฉพาะ ทั้งกาย  ใจ สังคมและปัญญา รวมถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้เขามีที่ยืนและภาคภูมิใจในตัวเอง สอง เราจะส่งเสริมการสร้างสังคมแห่งความห่วงใย สสส. ต้องการให้สังคมเคารพและเห็นคุณค่าของความหลากหลายของผู้คนที่อยู่รวมกัน และเปิดรับให้พวกเราเข้าไปอยู่ในสังคมนี้ด้วย” ภรณีกล่าวทิ้งท้าย

“เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน” กระจกสะท้อนความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

“เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน” กระจกสะท้อนความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

“เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน” กระจกสะท้อนความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย