อนันดาฉีกแนวผุดหลักสูตรปั้นนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล

อนันดาฉีกแนวผุดหลักสูตรปั้นนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล

อนันดา ฉีกแนวผุด xLab Digital บริษัทในกลุ่ม อนันดาฯ และ บอทน้อย กรุ๊ป จับมือ จุฬาฯ เปิดหลักสูตร The Data Master ปั้นนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลสร้างรายได้ 6 หลักต่อเดือน สอนตั้งแต่ต้นจนหางานให้เติมเต็มการขาดแคลนบุคลากรในประเทศไทย

xLab Digital บริษัทในกลุ่ม บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) และ iBOTNOI ร่วมมือกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดหลักสูตร "The Data Master" ให้เป็นคอร์สนำร่องของ The Master Academy

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเร่งผลิตมาสเตอร์ในทุกๆ ศาสตร์แห่งอนาคต เป็นหลักสูตรที่ถูกดีไซน์ให้เป็นการเรียนการสอนแบบบูรณาการ ที่รวบรวมจุดแข็งในเชิงวิชาการของจุฬาฯ ผสานเข้ากับประสบการณ์จริงจากผู้เชี่ยวชาญในสาขาอาชีพจากทีม iBOTNOI ผนวกกับความเชี่ยวชาญภาคธุรกิจจาก xLab Digital

โดยสำนักสถิติแรงงานสหรัฐ คาดว่าจำนวนนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลมีแนวโน้มที่จะโตถึง 31% ในช่วงทศวรรษนี้ และจะมีการเติบโตมากกว่าสาขาอาชีพอื่นๆ ในช่วงปี 2565-2572 ซึ่งภาครัฐและเอกชนในประเทศไทยคาดว่าจะมีบุคลากรด้านนี้เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 30,000 คน ภายในปี 2570 ในขณะที่ปัจจุบันมีนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลรองรับในตลาดจำนวนไม่ถึง 10% ของความต้องการ ซึ่งถือว่าเป็นอาชีพที่ตลาดต้องการสูงสุดอาชีพหนึ่งในประเทศไทย
 

นายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  xLab Digital Company Limited บริษัทในกลุ่ม บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา อนันดาฯ มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ควบคู่ไปกับการนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้ เพื่อส่งมอบความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้นของผู้คนอย่างไม่หยุดยั้ง

ดังนั้น เราจึงเปิดบริษัทในกลุ่ม คือ xLab Digital เพื่อช่วยขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยี AI, บล็อกเชน, Web 3 ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน โดยการเปิดหลักสูตร "The Data Master" ในครั้งนี้ บริษัทได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของบุคลากรด้านนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล หรือ Data Scientist ที่มีบทบาทสำคัญมากต่อภาคธุรกิจ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพิจารณาและการตัดสินใจ เพื่อสร้างข้อได้เปรียบในการพัฒนาธุรกิจ สินค้า และการบริการต่างๆ รวมทั้ง การแสดงแนวโน้มและการคาดการณ์ต่างๆ  โดยการสรุปข้อมูลที่มีประโยชน์เหล่านั้นจะสามารถช่วยให้ผู้ประกอบนำผลลัพธ์ไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ในปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลกำลังเป็นที่ต้องการในตลาดโลก แต่ในขณะที่หลายๆ ภาคอุตสาหกรรมไทยยังประสบปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในด้านนี้เป็นอย่างมาก ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศไทย

 

ดร.วินน์ วรวุฒิคุณชัย ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BOTNOI Group กล่าวว่า บอทน้อย กรุ๊ป เป็นบริษัทเทคโนโลยีสัญชาติไทย ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล เป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีไปจนถึงระบบเอไอให้กับองค์กรระดับใหญ่ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนบนฐานของวิทยาศาสตร์ข้อมูล

เรารู้สึกตื่นเต้นที่ได้ร่วมมือในครั้งนี้กับหลักสูตร The Data Master นับเป็นภารกิจระดับประเทศที่จะช่วยปลูกต้นกล้าให้เป็นนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ การเรียนรู้ในแต่ละคอร์สเป็นการเรียนรู้แบบบูรณาการที่ครบวงจรที่ออกแบบการสอนให้ผู้เรียนสามารถทำความเข้าใจตั้งแต่พื้นฐานวิทยาศาสตร์ข้อมูล ทำให้ผู้เรียนไม่จำเป็นต้องมีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลมาก่อน

นอกจากนี้ การเรียนรู้จากการฝึกงานในภาคเอกชนจริงๆ จะทำให้ผู้เรียนได้ฝึกฝน และสามารถนำทักษะดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ได้จริง หลักสูตรนี้เหมาะสำหรับนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่หรือจบการศึกษาแล้ว โปรแกรมเมอร์ และผู้ที่ทำงานในสาขาอาชีพต่างๆ ที่อยากพัฒนาทักษะเพื่อเพิ่มค่าตอบแทนในการทำงานหรือมองหาโอกาสการทำงานหรือย้ายสายงานที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์เชิงข้อมูล รวมถึงเพื่อการสร้างโอกาสทางธุรกิจในอนาคต

สำหรับรูปแบบการเรียนจะเน้นการสร้างส่วนร่วมระหว่างผู้สอน และผู้เรียนผ่านการทำโปรเจกต์ และเวิร์คช็อปทั้งออฟไลน์และออนไลน์ และจุดเด่นของหลักสูตรนี้คือ ผู้เรียนมีโอกาสได้รับเข้าทำงานในฐานะนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลในบริษัทชั้นนำผ่านเครือข่ายของทีม BOTNOI อีกด้วย

ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาฯ ยินดีสนับสนุนและพร้อมที่จะร่วมมือกับทั้ง 2 พันธมิตรชั้นนำในเมืองไทยในการเปิดหลักสูตร "The Data Master" ครั้งนี้  ด้วยการทำงานภายใต้ CU NEX ซึ่งเป็นโครงการที่ตั้งใจผลักดันให้จุฬาฯ เป็น Digital University ที่มีเป้าชัดในการนำเทคโนโลยีมาใช้จริงให้เกิดประโยชน์กับนิสิตและบุคลากร

ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การร่วมมือกับพันธมิตรในภาคเอกชนจะช่วยเอาประสบการณ์จริงในโลกธุรกิจมาเชื่อมกับความรู้ทางวิชาการจากจุฬาฯ แล้วพัฒนาเป็นหลักสูตรเพื่อผลิต Data Scientists ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและรองรับความต้องการของตลาดไทย และตลาดโลกได้จริง ในอนาคตจุฬาฯ จะเปิดโอกาสให้ทุกคนที่สนใจเพิ่มพูนความรู้-ทักษะ ได้โอกาสเรียนรู้ร่วมกับอาจารย์จุฬาฯ พร้อมทั้งได้เข้ามาใช้ประโยชน์จากหลักสูตรและแพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่จะพัฒนาออกมาอย่างต่อเนื่อง"

ทั้งนี้ หลักสูตร "The Data Master" จะเปิดโอกาสให้ผู้เรียนในทุกระดับได้เก็บเกี่ยวความรู้ตั้งแต่ขั้นพื้นฐานจนกระทั่งการนำไปประยุกต์ใช้ในธุรกิจต่างๆ ด้วยหลักสูตรที่เข้มข้นจำนวน 14 สัปดาห์ และความโดดเด่นของหลักสูตรนี้ คือ ผู้เรียนจะได้เข้าฝึกงานกับภาคเอกชน 3 เดือน ได้เรียนรู้ภายใต้คำแนะนำจากนักวิทยาศาสตร์เชิงข้อมูลมืออาชีพ และได้รับเงินเดือนเป็นค่าตอบแทน

พร้อมรับโอกาสในการเข้าทำงานกับบริษัทเอกชนชั้นนำของประเทศอีกด้วย โดยมีโอกาสรับเงินเดือนทะลุหลักแสนได้แม้ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งผู้จัดการหรือผู้บริหาร คาดว่าจะมีผู้สมัครในปีแรกนี้กว่า 2,000 คน และจะสามารถผลิตนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลได้ปีละ 100 คน โดยจะเปิดรับสมัครครั้งแรก 1 ต.ค. ปิดรับสมัคร 31 ต.ค.นี้ และคลาสแรกจะเริ่ม 19 พ.ย. 2565 - 3 มี.ค. 2566

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์