สงครามการค้า แรงส่งธุรกิจคลังสินค้าเร่งปักหมุดอาเซียน

สงครามการค้า แรงส่งธุรกิจ ‘โรงงาน คลังสินค้า’ โตต่อเนื่อง ผู้ประการเร่งปักหมุดอาเซียนดึง 'FDI' หนุนอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรมไทย
แม้ว่าเศรษฐกิจโลกถูกบดบังด้วยเมฆหมอกของความขัดแย้งทางการค้าและมาตรการภาษีนำเข้าที่ไม่แน่นอน ตลาดคลังสินค้าและโรงงานอุตสาหกรรมในไทยกลับฉายแสง จากการวางเกมเชิงกลยุทธ์ของผู้เล่นหลักที่ไม่เพียงแค่รับมือ หากแต่ใช้สถานการณ์เป็น “แรงส่ง” ขยายการลงทุนเชื่อมโยงอาเซียน รับมือความปั่นป่วนของโลกด้วยความยืดหยุ่นและเฉียบคม
ในโลกที่สายพานการค้าโลกกำลังสั่นสะเทือน จากภาษีนำเข้าที่กลายเป็นเครื่องมือเชิงการเมืองระหว่างมหาอำนาจ หลายประเทศต่างรับผลกระทบไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่ในมุมหนึ่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลาดคลังสินค้าและอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรมของไทยกลับได้รับ “อานิสงส์ทางอ้อม” อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
จากวิกฤติสู่โอกาส…อาเซียนกลายเป็น‘คำตอบใหม่’
“ภาษีการค้าคือความท้าทาย แต่เรามองเห็นโอกาสในการโยกย้ายฐานผลิตเข้ามาในอาเซียน” เสียงสะท้อนจาก พีระพัฒน์ ศรีสุคนธ์ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรม บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ FPT สะท้อนภาพการวางยุทธศาสตร์ที่มองไกลเกินเพียงการรับมือ
เฟรเซอร์สฯ จึงเดินหน้าขยายฐานธุรกิจสู่ภูมิภาคอาเซียนอย่างต่อเนื่อง พร้อมตั้งเป้ารายได้ในปีงบประมาณ 2568 (ต.ค. 2567 - ก.ย. 2568) ที่ กว่า 4,000 ล้านบาท เติบโต 19% จากปีก่อนหน้า ด้วยความเชื่อมั่นในจุดแข็งของภูมิภาคนี้ ทั้งในด้านภูมิรัฐศาสตร์ ความพร้อมของแรงงาน และตลาดบริโภคในประเทศที่กำลังเติบโต
มากกว่าพื้นที่คือ “พันธมิตรธุรกิจ”
FPT ไม่ได้เพียงให้บริการพื้นที่ แต่กำลังแปลงตัวเป็น “พันธมิตรธุรกิจเชิงกลยุทธ์” ด้วยพื้นที่โรงงานและคลังสินค้าภายใต้การบริหารกว่า 3.77 ล้านตารางเมตร ครอบคลุม ไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม พร้อมแลนด์แบงก์รองรับการพัฒนาเฉพาะทางเพื่อสนองตอบความต้องการของลูกค้าในแต่ละประเทศ
“ลูกค้าที่ต้องการขยายหรือลดความเสี่ยงจากสงครามการค้า เรามีโครงสร้างรองรับการโยกย้ายฐานผลิตแบบไร้รอยต่อในภูมิภาค” พีระพัฒน์กล่าว
‘พรอสเพค รีท’ลดเสี่ยงด้วยความหลากหลาย
อรอนงค์ ชัยธง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ด้าน บริษัท พรอสเพค รีท แมเนจเมนท์ จำกัด บริหาร โครงการ Bangna Trad Free Zone (BFTZ) ศูนย์กลางของคลังสินค้าและโรงงานขนาดใหญ่ในภาคตะวันออก ระบุว่า แม้รายได้ในไตรมาสแรกปี 2568 จะปรับลดเล็กน้อยจากการที่ผู้เช่าบางกลุ่มที่ย้ายออก เช่น ธุรกิจ Solar Cell แต่ก็มีผู้เช่ารายใหม่เข้ามาแทนที่ทันที และจะรับรู้รายได้ในไตรมาสถัดไป
“ความหลากหลายของผู้เช่า ทั้งด้านอุตสาหกรรมและสัญชาติ คือเกราะป้องกันความเสี่ยงที่ดีที่สุดในยุคนี้” อรอนงค์กล่าว พร้อมชี้ว่า ทิศทาง FDI ไตรมาสแรกปี 2568 ที่สูงถึง 267,664 ล้านบาท คือหลักฐานของความเชื่อมั่นที่นักลงทุนต่างชาติมีต่อศักยภาพของไทย
ไทยยังยืนหยัด แม้ถูกบีบจากภาษีนำเข้า
แม้มาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐ จะเริ่มส่งผลกระทบในหลายพื้นที่ของโลก แต่จากการสำรวจผู้เช่าในโครงการ BFTZ กลับพบว่า กลุ่มผู้เช่าที่ส่งออกไปยังสหรัฐ มีสัดส่วนน้อย และยังไม่มีการย้ายฐานผลิตในช่วงใกล้นี้
“ไทยยังเป็นศูนย์กลางทางเลือกที่ยืดหยุ่นมากกว่าเวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ทั้งในเชิงโครงสร้างพื้นฐานและระบบซัพพลายเชน” อรอนงค์ย้ำ
ทั้งนี้ผู้เช่าในพื้นที่กว่า 80% เป็นโรงงานอุตสาหกรรมในกลุ่มผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล, เวชภัณฑ์, ปิโตรเคมี, ยานยนต์ และเหล็ก ซึ่งมีอัตราการต่อสัญญาสูงอย่างต่อเนื่อง สะท้อนถึง “ความมั่นใจระยะยาว”
คลังสินค้าไทยกำลังกลายเป็น ‘ทรัพย์สินเชิงกลยุทธ์’ในสนามแข่งขันที่ไม่แน่นอน ความสามารถในการ “เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส” กำลังกลายเป็นปัจจัยชี้วัดความอยู่รอด ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรมอย่าง FPT และ PROSPECT ไม่เพียงตอบโจทย์ปัจจุบัน แต่กำลังวางหมากรองรับอนาคต “คลังสินค้า” จึงไม่ใช่แค่สถานที่เก็บสินค้าอีกต่อไป แต่คือ “ทรัพย์สินเชิงกลยุทธ์” ที่ช่วยยึดโยงการลงทุน ท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลงทุกวินาที
และประเทศไทย ก็กำลังเป็นศูนย์กลางแห่งความยืดหยุ่นนี้ในอาเซียน