สมาคมอสังหาขอต่ออายุลดค่าโอนจดจำนอง ปลดล็อกLTVงานบ้านและคอนโด

สมาคมอสังหาขอต่ออายุลดค่าโอนจดจำนอง ปลดล็อกLTVงานบ้านและคอนโด

3สมาคมอสังหา ชี้มหกรรมบ้านและคอนโดครั้งที่47เสมือนเป็นปรอทวัดไข้อสังหาฯปี68 ระบุขอยาแรง-ยาเร็วต้องการ2มาตรการต่ออายุมาตรการลดค่าโอจดจำนองและปลดล็อกมาตรการLTV

ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อาจจะต้องยอมรับว่ากำลังเผชิญกับสัญญาณที่ไม่ดีนัก ท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจและความไม่แน่นอนทางการเงิน ถึงแม้ว่าภาคเอกชนจะมีการพยายามช่วยเหลือตัวเอง ด้วยการลงทุนจัดงานใหญ่ “มหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 47” ซึ่งเป็นการระบายสต็อกและกระตุ้นความเชื่อมั่นของตลาด แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ความหวังใหญ่ตอนนี้ยังคงอยู่ที่ภาครัฐ ที่จะออกมาตรการ ‘ยาเร็ว-ยาแรง’ มาเติมพลังการฟื้นตัวให้กับภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องการการกระตุ้นเร่งด่วน

ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย ได้เปรียบเทียบสถานการณ์ในปัจจุบันว่า งานมหกรรมบ้านและคอนโดครั้งนี้ เหมือนกับการวัดไข้ตลาดอสังหาฯ ซึ่งยังไม่สามารถกลับมาฟื้นตัวได้เต็มที่ มาตรการที่จำเป็นตอนนี้ไม่ใช่แค่การกระตุ้นเท่านั้น แต่ต้องเป็นมาตรการ ‘ยาแรง’ ที่สามารถรักษาอาการป่วยของตลาดให้ได้ผลในระยะสั้น
 

“ยาเร็ว” ต่ออายุมาตรการลดค่าโอนและจดจำนอง


หนึ่งในมาตรการสำคัญที่ภาคเอกชนต้องการจากภาครัฐ คือการต่ออายุการลดค่าโอนและจดจำนอง ซึ่งจากเดิมที่มีอัตรา 3% ถูกลดลงมาเหลือแค่ 0.01% หรือราวๆ 300 บาท ต่อการซื้อขายที่อยู่อาศัยไม่เกิน 7 ล้านบาท ที่หมดอายุลงในปี 2567ที่ผ่านมา แต่เพื่อให้กำลังซื้อจากกลุ่มคนที่อยู่ในตลาดกลาง-ล่างยังคงมีการเคลื่อนไหวและช่วยผลักดันให้ตลาดไม่ชะลอตัวลงไปจนเกินไป จึงมีการเรียกร้องให้ขยายเวลามาตรการนี้ออกไปอีก 1 ปีจนถึงปี 2568 ซึ่งสามารถช่วยกระตุ้นกำลังซื้อของกลุ่มผู้บริโภคที่มีขนาดตลาดใหญ่ที่สุดประมาณ 50-60%

 

“ยาแรง”  ปลดล็อก LTV กระตุ้นตลาด


อีกหนึ่งข้อเสนอที่สะท้อนถึงความต้องการเร่งด่วน คือการผ่อนปรนข้อกำหนด Loan-to-Value (LTV) เพื่อปลดล็อกให้สามารถยืมเงินได้เต็ม 100% ไม่ว่าจะเป็นในระดับราคาที่อยู่อาศัยใดก็ตาม ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้ตลาดที่กำลังชะลอตัว ท่ามกลางแรงกดดันจากความไม่แน่นอนในเรื่องของดอกเบี้ยและเงินเฟ้อ การอนุญาตให้มี LTV 100% นั้นจะช่วยให้ผู้ซื้อบ้านหรือคอนโดสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้นในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี ก่อนที่จะพิจารณาทบทวนการใช้นโยบายนี้อีกครั้ง

ซอฟต์โลนอุ้มคนรายได้น้อย

นอกจากมาตรการ "ยาเร็ว" และ "ยาแรง" ที่มีผลต่อการซื้อขายที่อยู่อาศัยแล้ว การขยายวงเงินซอฟต์โลนเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง ก็ยังเป็นอีกส่วนสำคัญที่ภาคเอกชนต้องการให้ภาครัฐช่วยผลักดันอย่างต่อเนื่อง

สุนทร สถาพร นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ชี้ให้เห็นว่า วงเงินซอฟต์โลนที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ได้จัดสรรไว้แล้ว ซึ่งเต็มวงเงินอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับขนาดตลาด แต่ยังถือว่ายังไม่เพียงพอในการตอบโจทย์ความต้องการในกลุ่มผู้ซื้อบ้านที่มีรายได้น้อยและปานกลาง ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการกระตุ้นตลาดในระยะยาว

ทั้งนี้ มหกรรมบ้านและคอนโดฯ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 20-23 มีนาคมนี้ จะเป็นตัวชี้วัดสำคัญถึงความหวังในการฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ไทย จากการที่ภาครัฐและเอกชนได้มีการหารือร่วมกัน มีสัญญาณที่ดีออกมา ว่าอาจจะได้รับข่าวดีเกี่ยวกับการขยายมาตรการต่างๆ ในเร็วๆ นี้

พรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า แม้ว่าภาคเอกชนจะพยายามช่วยตัวเองด้วยการจัดงานมหกรรมใหญ่เพื่อระบายสต็อกและสร้างความเชื่อมั่นในตลาด แต่หาก"ไม่มี"มาตรการที่เหมาะสมจากภาครัฐ อาจทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังคงอยู่ในภาวะชะลอตัวต่อไป ซึ่ง"ไม่ใช่"แค่ผลกระทบระยะสั้นเท่านั้น แต่ยังอาจส่งผลต่อการชำระหนี้ในภาพรวมของผู้ประกอบการได้เช่นกัน