อานิสงส์จากภูมิรัฐศาสตร์โลก หนุนโรงงาน-คลังสินค้าโตต่อ

อานิสงส์จากภูมิรัฐศาสตร์โลก หนุนโรงงาน-คลังสินค้าโตต่อ

REDPAPER ชี้อนาคตธุรกิจโรงงาน-คลังสินค้าโตต่อเนื่อง อานิสงส์จากภูมิรัฐศาสตร์โลก นโยบาย China Plus Oneหนุนเอกชนกระจายฐานผลิตจากจีนเข้าอาเซียน โดยเฉพาะอุตสาหกรรม"นิว เอสเคิร์ฟ" รถยนต์ไฟฟ้า เซมิคอนดักเตอร์

จากรายงาน REDPAPER เรื่อง เจาะลึกอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรมแห่งอนาคตของประเทศไทย ระบุว่า อสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรมมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง หลังเติบโตอย่างก้าวกระโดดใน 2-3 ปีที่ผ่านมาด้วยแรงผลักดันของธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่ขยายตัวอย่างมาก โดยปัจจัยทางเศรษฐกิจ ความตึงเครียดของภูมิรัฐศาสตร์โลก

ประกอบกับนโยบายกระจายฐานลงทุนนอกประเทศจีนของบริษัทต่างชาติ รวมถึงความพร้อมของประเทศไทยทั้งนโยบายส่งเสริมการลงทุน ทำเลที่ตั้งยุทธศาสตร์ โครงสร้างพื้นฐาน และแรงงานมีฝีมือ ทำให้ประเทศไทยเป็นหมุดหมายการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่รัฐบาลมุ่งยกระดับขีดความสามารถให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น 

ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตนับเป็นภาคธุรกิจที่สำคัญของไทย สะท้อนจากสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 4 ของ GDP โดยปัจจุบันภายใต้ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านอุตสาหกรรมแห่งอนาคต หรือ New S-Curve ทำให้ทั้งอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (Electronics and Electrical Appliances: E&E) โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการผลิตและเชื่อมโยงกับหลายภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ไฟฟ้า โรบอติกส์ โครงข่ายการสื่อสาร ฯลฯ เป็นที่น่าจับตามอง 

อานิสงส์จากภูมิรัฐศาสตร์โลก หนุนโรงงาน-คลังสินค้าโตต่อ
 

โดยในปี2566 อุตสาหกรรมการผลิตรถ EV เติบโต 380% และอุตสาหกรรม E&E เติบโต 256% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า  สะท้อนถึงการลงทุนที่ขยายตัวเป็นอย่างมากการเติบโตของอุตสาหกรรมข้างต้นส่งผลให้ดีมานด์พื้นที่เช่าโรงงาน-คลังสินค้าเพิ่มขึ้น และมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาแข่งขันในตลาด

 


 

โดยระหว่างปี2561 – 2566 มีซัพพลายใหม่ของอาคารโรงงานให้เช่า 25,000 ตร.ม.ต่อปี และอาคารคลังสินค้าให้เช่า 282,000 ตร.ม.ต่อปี ด้วยดีมานด์ที่หลากหลายของตลาด ประกอบกับผู้ให้บริการรายหลักมีความสามารถในการพัฒนาโรงงาน-คลังสินค้าคุณภาพสูง ทำให้เกิดนวัตกรรมการพัฒนาอาคารอุตสาหกรรมรูปแบบใหม่ที่ผสมผสานระหว่างแบบมาตรฐานพร้อมใช้ (Ready-Built) และแบบสร้างความต้องการ (Built-to-Suit) ภายใต้ชื่อเรียก “แบบสร้างตามฟังก์ชันพร้อมใช้ (Built-to-Function)” 

อานิสงส์จากภูมิรัฐศาสตร์โลก หนุนโรงงาน-คลังสินค้าโตต่อ

ซึ่งจะตอบโจทย์นักลงทุนด้วยการส่งมอบอาคารพร้อมใช้งานที่เสริมฟีเจอร์ใช้งานเฉพาะทางในอาคารแบบมาตรฐาน เหมาะสำหรับลูกค้ากลุ่มผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ (3PL) ที่เชี่ยวชาญสินค้า/บริการเฉพาะทาง และลูกค้าองค์กรทั่วไปที่ต้องการใช้อาคารเฉพาะทางพร้อมใช้ นอกจากนี้ อาคารอุตสาหกรรมแบบ Built-to-Function ยังช่วยผู้ให้บริการลดความเสี่ยงของอัตราพื้นที่ว่างจากอาคารที่สร้างจากการคาดการณ์ดีมานด์ตามปกติ เสริมความได้เปรียบให้กับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรมที่มีการพัฒนาอาคารแบบ Ready-Built  และ Built-to-Suit อยู่แล้ว ด้วยการเติมเต็มช่องว่างทางการตลาดผ่านการต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ 

ด้านเทรนด์สำคัญที่ส่งผลต่อการพัฒนาอาคารเพื่ออุตสาหกรรมในช่วงที่ผ่านมา คือ ความสนใจของกลุ่มนักลงทุนระดับสากลต่อด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, Social, Governance: ESG) โดยจะมองหาผู้พัฒนา-ผู้ให้บริการที่สามารถส่งมอบอาคารคุณภาพสูงที่ได้มาตรฐานด้านความยั่งยืน โดยมาตรฐานอาคารเขียวระดับสากลอย่าง LEED (Leadership  in  Energy and Environmental Design) ได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านความยั่งยืนในอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ

REDPAPER พบว่า ด้วยความพร้อมที่ครบครันในด้านต่าง ๆ ของประเทศไทย รวมถึงการขยายตัวด้านการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ ประกอบกับการมีผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรมชั้นนำในประเทศ ได้ตอกย้ำให้เห็นถึงความพร้อมต่อการเติบโตของประเทศไทยในการเป็นฐานที่ตั้งการผลิตและกระจายสินค้าที่สำคัญ