‘เจนวาย’จ่อค้างชำระหนี้บ้านเฉียด2.5แสนล้าน

‘เจนวาย’จ่อค้างชำระหนี้บ้านเฉียด2.5แสนล้าน

“เครดิตบูโร” เผยหนี้เสีย 1.09 ล้านล้าน เป็นหนี้เสียบ้าน 2 แสนล้าน “เจนวาย” แชมป์ ส่อทะยาน 2.5 แสนล้าน ชี้สถานการณ์ ‘น่าห่วง’มีหนี้เสียจากบ้านสัดส่วน 20% ของพอร์ตรวม เติบโตถึง 18% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

รายงานของ “เครดิตบูโร” หรือบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ พบหนี้เสียโดยรวมของครัวเรือนไทยพุ่งขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.09 ล้านล้านบาท เกือบเทียบเท่าระดับสูงสุดของวิกฤติโควิด-19 ที่หนี้เสียทะลุ 1.1 ล้านล้านบาท หนึ่งในนั้นคือ “หนี้บ้าน” แม้เป็นหนี้ที่ได้มาจากการกู้เพื่อใช้จ่ายฟุ่มเฟือยแต่เป็นปัจจัย 4 ที่ลูกหนี้พึงอยากจะมีในชีวิตเป็นอันดับต้นๆ ด้วยภาระหนี้ครัวเรือนดังกล่าว

ขณะที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัวกลับมา ประกอบต้นทุนทางการเงิน ค่าใช้จ่ายต่างๆ ปรับสูงขึ้น กระทบต่อการชำระหนี้อย่างมาก ทำให้สถาบันการเงินยิ่งเพิ่มความเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย ส่งผลให้ยอดการปฏิเสธสินเชื่อ (Reject Rate) พุ่งสูงระดับ 60-70% โดยเฉพาะเซ็กเมนต์ราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทต่อยูนิต

นายสุรพล โอภาสเสถียรผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) เปิดเผยข้อมูลสินเชื่อบ้านไตรมาสแรกที่ผ่านมาว่า “ค่อนข้างน่าห่วง” หากดูจากหนี้เสียครัวเรือนไทย 1.09 ล้านล้านบาท มีหนี้เสียจากบ้านสัดส่วน 20% ของพอร์ตรวม เติบโตถึง 18% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 

“ยังมีหนี้ค้างชำระแต่ไม่เกิน 90% หรือที่รู้จักกันดี คือ กลุ่ม SM ที่มียอดค้างชำระถึง 120,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% จากปีก่อน และไม่น่าแปลกใจว่าเกินกว่าครึ่งเป็นหนี้ค้างชำระจากลูกหนี้แบงก์รัฐที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มรายได้ต่ำ มีความสามารถซื้อบ้านไม่เกิน 3 ล้านบาท ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงความเปราะบางของกลุ่มฐานรากเปราะบางขึ้นไปอีก”

 

นอกจากนี้ กลุ่มที่น่าห่วงสุด คือกลุ่ม เจนวาย (Gen Y) ที่กำลังสร้างตัว หรือกลุ่มเริ่มทำงาน พบว่าเป็นหนี้เสียถึง 83,281 สัญญา คิดเป็นวงเงิน 124,000 ล้านบาท และมีลูกหนี้ที่ค้างชำระหนี้ แต่ไม่เกิน 90 วัน อีก 76,276 สัญญา อีก 118,000 ล้านบาท

“หากคิดเร็วๆ เจนวาย กลุ่มเดียวเป็นหนี้เสียและหนี้ค้างชำระ สัดส่วนเกินกว่า 50% ของหนี้เสียทั้งหมด หรือยอดค้างชำระทั้งหมด คนเจนวายเป็นหนี้เสียแล้ว 124,000 ล้านบาท ของหนี้เสียบ้านทั้งหมด 200,000 ล้านบาท และเป็นหนี้ค้างชำระที่กำลังจะเป็นหนี้เสียอีก 118,000 ล้านบาท ของยอดค้างชำระหนี้รวมที่ 180,000 ล้านบาท”

“หนี้เสีย-หนี้กำลังจะเสีย”เจนวายพุ่ง 2.5 แสนล้าน

หากรวมทั้งสองกลุ่ม ทั้งหนี้เสียและหนี้ค้างชำระ “เจนวาย” เป็นหนี้เสียทั้งสิ้นเกือบ 242,000 ล้านบาท หรือมียอดสัญญาค้างชำระเกือบ 160,000 สัญญา หรือเทียบเป็นบ้านเท่ากับค้างชำระหนี้เกือบ 160,000 หลัง สอดคล้องกับสถานการณ์ยื่นขอสินเชื่อบ้าน พบว่ามีแนวโน้มถูกปฎิเสธสูง หรือ ​ 100 ใบสมัครผ่านการพิจารณา​เบื้องต้น​เพียง 50 ใบ จากการตรวจประเมินรายได้ที่เข้มข้น​ เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ขอกู้มีศักยภาพ ซึ่งหมายถึงมีรายได้แน่นอน​ มั่นคง​ เพียงพอ​ สม่ำเสมอ ตามเกณฑ์​ความสามารถ​ในการชำระหนี้ตามตารางการชำระหนี้ได้ตลอด​รอดฝั่ง

“​ตรวจรายได้เสร็จก็ไปตรวจเครดิตบูโร​ต่อว่า​ มีหนี้มากแค่ไหน​ มีประวัติการค้างชำระหรือไม่​ เพื่อประเมินความตั้งใจในการชำระหนี้​เป็นไปตามกฎว่ากรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา”

หากพิจารณาบัญชีที่เปิดใหม่ของสินเชื่อบ้าน พบว่าเจนวายมี​สัดส่วนสูงขึ้นทุกปี​ โดยมี​วงเงินสินเชื่อบ้านระดับไม่เกิน​ 3 ล้านบาทเป็นกลุ่มหลัก ทั้งนี้ ปี​ 2561 มีจำนวนเกินกว่า​ 430,000 บัญชี​ ปีก่อนโควิดอยู่ที่ระดับ​ 370,000 บัญชี​ ปี 2565 อยู่ที่​ 330,000 บัญชี​ ไตรมาสแรก ปี 2567 มี 59,000 บัญชี​ ค่อนข้างแผ่วตัวลง

“ฝั่งผู้ประกอบการต่างก็บ่นกันมากในเรื่องขายได้ยาก​ กู้ไม่ผ่าน​ ของเหลือมากขึ้น ​จึงนำมาสู่ข้อเสนอที่อยากให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่อนปรนเงื่อนไข เช่น​ LTV ​หลังที่ 2 หลังที่ 3 ​แต่ยังไม่มีเสียงตอบรับที่ปลายสาย”

แบงก์หันเจาะกลุ่มรายได้สูง

สอดคล้องกับข้อมูลของ ธปท.ล่าสุดที่มีการเปิดรายงานสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ พบว่าปรับตัวลดลง สะท้อนการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อบ้านของสถาบันการเงินซึ่งหันไปเจาะกลุ่มที่มีศักยภาพมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มบนเพื่อลดความเสี่ยงด้านคุณภาพหนี้จากการปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มซื้อบ้านต่ำกว่า 3 ล้านบาท

นายภัทรพงศ์ รักตะบุตร ประธานสายธุรกิจสินเชื่อรายย่อย และประธานสายเครือข่ายสาขา ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) (KKP) กล่าวว่า สินเชื่อของธนาคารที่ปรับลดลง ส่วนหนึ่งมาจากการแข่งขันของดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าระดับบน โดยปกติสินเชื่อบ้านของ KKP อยู่ในกลุ่มลูกค้าระดับบน (Mass Affluent) ขณะที่กลุ่มบ้านราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ธนาคารไม่ได้ลงไปแข่งขันปล่อยสินเชื่อ จึงไม่ได้รับกระทบจากสถานการณ์หนี้เสีย

เช่นเดียวกับ นายเอกสิทธิ์ พฤฒิพลากร ผู้บริหารผลิตภัณฑ์ธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMB) กล่าวว่า ยอดปฏิเสธสินเชื่อบ้านราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทเพิ่มขึ้น เป็น 70% จากเดิม 50-60% เนื่องจากคุณภาพผู้กู้ด้อยลงมาก ทำให้ทิศทางหนี้เสียเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ภาระค่าใช้จ่ายของผู้กู้เพิ่มสูงขึ้น