‘ศุภาลัย’ชงรัฐแก้กฎหมาย‘ลดขนาดที่ดิน-ไซส์บ้าน’

‘ศุภาลัย’ชงรัฐแก้กฎหมาย‘ลดขนาดที่ดิน-ไซส์บ้าน’

ศุภาลัย ชี้ตลาดอสังหาฯ ปี 67 เหนื่อย สารพัดปัจจัยลบรุมเร้า ทั้งภาระหนี้-ดอกเบี้ยสูง เศรษฐกิจซึม ไร้เม็ดเงินจากภาครัฐ-โครงสร้างพื้นฐาน ทุบ ความเชื่อมั่น ชงรัฐหนุนมาตรการกระตุ้นยกเลิกแอลทีวี ลดขนาดที่ดิน-ลดไซส์บ้านเหมาะสมวิถีชีวิตและกำลังซื้อที่ลดลง

นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2567 หลังผ่านไตรมาสแรก พบว่า สถานการณ์ต่างๆ ทั้งอารมณ์และกำลังซื้อของลูกค้ายังไม่ดี  เชื่อว่าปีนี้ยังคงเป็นปีที่ผู้ประกอบการต้องเหน็ดเหนื่อยอีกปีหนึ่ง 

“แม้ว่างานมหกรรมบ้านและคอนโดครั้งนี้ ลูกค้าเข้ามาดูเยอะกว่าปีก่อน เป็นผลจากการโปรโมตค่อนข้างดี แต่ไม่ได้หมายความว่าลูกค้าจะกลับมาซื้อมากขึ้น จึงหวังว่ารัฐบาลปรับกฏหมายที่เข้ามาช่วยกระตุ้นให้คนอยากซื้อบ้านมากขึ้น”

หนึ่งในนั้นคือขอให้กระทรวงมหาดไทย และคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลาง ปรับแก้ประกาศคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลาง เรื่องกำหนดนโยบายการจัดสรรที่ดินเพื่ออยู่อาศัยและพาณิชยกรรม โดยลดขนาดที่ดินของโครงการจัดสรรที่ดินเพื่ออยู่อาศัย เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจขนาดของครอบครัวที่มีการเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยของประชาชน

โดยขอลดขนาดที่ดินพร้อมอาคาร ได้แก่ 1.ประเภทบ้านเดี่ยวจากเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 50 ตารางวา เป็นเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 35 ตารางวา 2.ลดขนาดที่ดินพร้อมอาคารประเภทบ้านแฝด จากเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 35 ตารางวา เป็นเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 28 ตารางวา 3.ลดขนาดที่ดินพร้อมอาคารประเภทบ้านแถว หรือทาวเฮ้าส์ จากเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 16 ตารางวา เป็นเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 14 ตารางวา
 

“เหมือนที่คุณประทีป ตั้งมติธรรม เคยเสนอให้ลดขนาดบ้านลงเพื่อให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ยกตัวอย่างห้องดูโทรทัศน์ไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่มาก เพราะคุณภาพโทรทัศน์ดีขึ้น ทำให้การออกแบบบ้านกระชับขึ้นได้ หมายความว่าไม่จำเป็นต้องมีขนาดที่ดินใหญ่เท่าเดิม เพราะปัจจุบันกำลังซื้อคนลดลง สังเกตได้ว่าบ้านแฝดขายดีขึ้น”

แนวทางดังกล่าวจะทำให้ขอสินเชื่อได้ง่ายขึ้น ยกตัวอย่าง ที่ดินรอบนอกเมืองราคา 40,000 บาทต่อตารางวา ถ้าลดไป 10 ตารางวา เท่ากับลดไป 400,000 บาท สามารถช่วยลูกค้ากู้ได้ง่ายขึ้น จะช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาฯ ดีขึ้นได้

นอกจากนี้ ผลกระทบจากราคาที่ดินปรับเพิ่มขึ้น รวมทั้งต้นทุนค่าก่อสร้างสูงขึ้นทำให้ราคาบ้านแพงขึ้น สวนทางกับรายได้ของลูกค้า หากสามารถลดขนาดที่ดินในการสร้างบ้านได้จะทำให้คนสามารถซื้อบ้านได้มากขึ้น ภาครัฐจัดเก็บภาษีได้  รวมทั้งหากสามารถยกเลิกมาตรการควบคุมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือ Loan-to-Value : LTV  จะเป็นการกระตุ้นกำลังซื้อได้

นายไตรเตชะ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันความรู้สึกของผู้คนไม่ดี เนื่องจากปัจจัยเรื่องของความเชื่อมั่นในสภาพเศรษฐกิจ ภาระหนี้ที่สูงขึ้น เม็ดเงินจากภาครัฐที่เข้ามาสนับสนุนยังไม่มี โครงสร้างพื้นฐานในประเทศยังไม่มีเข้ามา รวมทั้งดอกเบี้ยปรับขึ้นมาต่อเนื่อง 

“แต่ถ้าเปรียบเทียบดอกเบี้ยวันนี้กับ 5 ปีที่ผ่านมาใกล้เคียงกัน แต่ความรู้สึกของคนรู้สึกว่าดอกเบี้ยแพง รอให้ดอกเบี้ยลงถึงกลับมาจับจ่ายใช้สอย สะท้อนความเชื่อมั่น (sentiment ) ของผู้คน ปัจจัยเหล่านี้เป็นตัวกดดันตลาดอสังหาฯ  หากสามารถปลดล็อกได้จะเป็นข่าวดีให้กับภาคอสังหาฯ สามารถกระตุ้นตลาดกลับมาคึกคักได้”