ผ่ายุทธศาสตร์สร้างเมืองย่าน"ปทุมวัน"เคลื่อนประเทศสู่SMART ECO-DISTRICT

ผ่ายุทธศาสตร์สร้างเมืองย่าน"ปทุมวัน"เคลื่อนประเทศสู่SMART ECO-DISTRICT

ปฏิบัติการวางยุทธศาสตร์ย่าน"ปทุมวัน"เพื่อเป็นต้นแบบในการสร้างเมืองเคลื่อนประเทศของสยามพิวรรธน์ ร่วมกับจุฬาฯ ภายใต้แนวคิด SMART ECO-DISTRICT ถือเป็นความท้าทายในการปรับตัวเพื่อตอบโจทย์โลกที่เปลี่ยนไปเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศในรูปแบบใหม่

นราทิพย์ รัตตประดิษฐ์ ประธานบริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทปักหมุดในการทำธุรกิจย่านปทุมวันมากกว่า 60 ปี ได้พัฒนาย่านปทุมวันและสยามในเชิงพาณิชย์เริ่มตั้งแต่ โรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัล ในปี2509 ต่อมาได้พัฒนาศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ในปี2516 ถัดมาในปี2540 ได้พัฒนาสยามดิสคัฟเวอรี่ และล่าสุดในปี2548 เปิดตัว สยามพารากอน  ศูนย์การค้าระดับลักชัวรี ปัจจุบันสยามพิวรรธน์ พยายามยกระดับเรื่องของความยั่งยืนเพื่อพัฒนาธุรกิจไปสู่มาตรฐานสากล(Global Standard)พร้อมกับการพัฒนาสยามให้เป็นย่านของคนรุ่นใหม่ตลอดเวลา 
             

"ท่ามกลางสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปที่เกิดขึ้น เราต้องผนึกกำลังทั้งกับภาครัฐและเอกชนด้วยกันในการพัฒนาย่านปทุมวันและสยาม ในฐานะเจ้าของย่านเพื่อทำให้ย่านนี้กลายเป็นย่านค้าปลีกระดับโลก เพื่อพร้อมรับกับความท้าทายทางด้านการแข่งขัน ปัญหาสิ่งแวดล้อมและเทรนด์การใช้ชีวิตและความต้องการของคนเมืองที่เปลี่ยนไป"

ก่อนหน้านี้ได้พัฒนาลาน "ONESIAM"เพื่อเชื่อมแยกปทุมวันให้เข้าถึงสะดวก ตอบโจทย์การใช้ชีวิตคนในย่านนี้ที่เป็นศูนย์การค้าระดับโลกด้วยการอาสาจัดทำผังยุทธศาสตร์ย่าน "ปทุมวัน" สู่ย่านต้นแบบอัจฉริยะภายใต้แนวคิด SMART ECO-DISTRICT และมีกรอบทิศทางในการพัฒนาร่วมกับภาคส่วนต่างๆในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้เมืองที่ยั่งยืนเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น และปัญหาสิ่งแวดล้อมก็รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ  จึงมีโรดแมปร่วมกับจุฬาฯในการศึกษาและพัฒนาย่านปทุมวัน สยามเพื่อทำเป็นผังยุทธศาสตร์ออกมา

โดยสยามพิวรรธน์มีโรดแมปที่ร่วมกับจุฬาฯในการศึกษาและพัฒนาย่านปทุมวัน ให้เป็น Gatewayที่สำคัญของประเทศไทย โดยมีการทำเป็นผังยุทธศาสตร์ออกมาในไตรมาส1 ปี2567 หลังจากนั้นในไตรมาส2-4 จะดำเนินการขยายผลออกมาให้เห็นความเปลี่ยนแปลงเป็นรูปธรรมจับต้องได้

ขณะเดียวกันในปีนี้สยามพิวรรธน์ยังมีความมุ่งมั่นที่จะใช้ศักยภาพและเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจ ร่วมขับเคลื่อนเมืองต้นแบบมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางที่ใส่ใจฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมใจกลางเมือง ผลักดันเรื่องพลังงานหมุนเวียน บริหารจัดการขยะแบบ 360 องศา และเตรียมพร้อมประกาศลงนามความร่วมมือเรื่องความยั่งยืนกับแบรนด์ระดับโลกในต้นปี 2024 เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายในปี 2050 
         

นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UddC-CEUS)  เผยว่า การขับเคลื่อนย่านปทุมวัน ภายใต้โครงการ PATUMWAN SMART ECO-DISTRICTเพื่อพัฒนาย่านนี้ให้มีศักยภาพ มีขีดความสามารถในการแข่งขัน

 เพราะปัจจุบัน " เมือง" ถือเป็นเครื่องจักรสำคัญในการพัฒนาประเทศ  ดังนั้นการพัฒนาย่าน ในแต่ย่าน จึงมีความสำคัญในการ “ซินเนอร์จี้” เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของเมือง 

ย่านสยาม ถือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ หัวใจของกรุงเทพฯ ถือเป็นสัญลักษณ์ความก้าวหน้าแห่งยุคสมัย หรือ Trend setter ในด้านแฟชั่น ศูนย์การค้า มีการจัดกิจกรรมสำคัญๆอย่างต่อเนื่อง สะท้อนเห็น ความคิดสร้างสรรค์ 

ภาพอนาคตของย่านที่ฝันอยากให้ย่านสยามเป็น คือ  "เมืองอัจฉริยะ " หรือ SMART CITY เพื่อยกขีดความสามารถในการแข่งขันพร้อมรักษาบทบาทการเป็น”ผู้นำ”ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ เสมือนเป็น"หัวใจ"ในการสูบฉีดความคิดสร้างสรรค์ในย่านนี้ต่อไป 

“แม้ว่าย่านนี้จะได้รับการพัฒนาไปมากแล้ว แต่เต็มศักยภาพของสยามแล้วหรือยัง ? หรือได้ใช้ข้อได้เปรียบที่มีอยู่เต็มที่แล้วหรือยัง เพราะที่ผ่านมาภาคภาคีที่เกี่ยวข้อง ยังไม่ได้มาพูดถึงภาพอนาคต”

ทางศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จึงได้เสนอคอนเซ็ปต์ SMART CITY เพื่อช่วยให้ย่านสยาม ได้อภิวัฒน์และยกระดับความสามารถในการแข่งขัน 

สำหรับ “จุดแข็ง”ของย่านสยามเรื่องแรก คือ เป็นย่านที่เข้าถึงได้สะดวกที่สุดในกรุงเทพฯ ในทุกช่องทางทั้งรถ ราง เรือ  ค่าคะแนนการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะสูงถึง95% ถัดมาเป็นเป็นย่านที่มีความหลากหลายของกิจกรรมที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯทั้งกลางวัน กลางคืน เป็นย่านที่มีพลวัตสูงสุด100%

นอกจากนี้ยังเป็นย่านที่มีสาธารณูปการทางปัญญาสูง และหนาแน่นที่สุดกรุงเทพฯ 95% และเป็นย่านที่ค่าคะแนนการเดินได้สูงสุดในกรุงเทพฯ 82% เป็นย่านที่มีระบบนิเวศน์ส่งเสริมนวัตกรรมสมบูรณ์ที่่สุดในกรุงเทพฯตอบโจทย์"นิว อีโคโนมี"

 ทว่า “เหรียญมี 2 ด้านเสมอ”เมื่อมีจุดแข็งในการเข้าถึงง่าย กลายเป็น”จุดอ่อน”เช่นกัน เมื่อ”ขาด”การวางแผนและการจัดการร่วมกัน ทำให้เกิดปัญหา รถติด  คุณภาพอากาศ มลพิษ ฝุ่นควัน   ท่ามกลางการแข่งขันในสมรภูมิการค้าปลีกของกรุงเทพฯ และในเขตชานเมืองมีศูนย์การค้าที่เป็นแฟลกชิป ถึงเวลาที่” สยาม”ต้องกลับมาดูที่ข้อได้เปรียบและศักยภาพที่มีอยู่แต่ยังไม่ได้นำออกมาใช้ประโยชน์ เพราะขาดการพัฒนาและเชื่อมต่อ

 นิรมล  ระบุว่า  หากเปรียบสยามเป็นเสมือน”หัวใจ”ย่านสยาม แบ่งออกเป็น 4 ห้อง  ห้องที่แอคทีฟมากคือห้องขวาบน (สยามดิสคัฟเวอรี่ ,สยามเซ็นเตอร์ ,สยามพารากอน)กับห้องขวาล่าง (สยามสแควร์ ,จุฬาฯ) ส่วนห้องซ้ายบน (ชุมชนบ้านครัว,จิมทอมป์สัน,หอศิลป์)กับห้องซ้ายล่าง (สนามกีฬาฯ,จุฬาฯ)ที่ยังไม่ค่อยแอคทีฟ 

ภาพจำของย่านสยามที่ผ่านมาถูกรวบไว้ว่า เป็นย่าน “ศูนย์การค้า” ทั้งที่จริงๆแล้วยังมีศักยภาพต่างๆมากมายยกตัวอย่างเฉพาะจุฬาฯ มีมิวเซียม 19แห่งแล้ว  ฉะนั้นการผนึกพลังผสาน(Synergize) ศักยภาพทั้งหมด เข้ามาจึงมีความสำคัญเพื่อทำให้ย่านนี้ ใช้หัวใจทั้ง4ห้องสูบฉีดเพื่อให้มีแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มศักยภาพ

ด้วยการผสานทั้ง4ทำเลให้"เชื่อมโยง"กันอย่างมียุทธศาสตร์เพื่อแก้ปัญหาแตกส่วน-แบ่งซีก ทำให้เกิดการสร้างสรรค์จาก "เมืองวิถี"(URBANISM)ที่แตกต่างกัน โดยการสร้างทางเชื่อมต่อให้สามารถเดินได้ ภายใต้กลยุทธ์ ACTIVE "ALL" FLOOR ให้เหมือนกับฮ่องกงที่มีทางเชื่อมกัน หรือในย่านเกษมสันต์ ชุมชนบ้านครัว มีจุดเปลี่ยนถ่ายในการสัญจรที่เชื่อมรถ -ราง-เรือ  

คีย์เวิร์ดสำคัญในการพัฒนาย่านสยามให้เป็น SMART ECO-DISTRICT เพื่อส่งเสริมการสร้างระบบนิเวศอย่างยั่งยืน (Sustainability),ผู้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงพื้นที่และกิจกรรมได้(Accessibility ) เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมกับการพัฒนาย่าน   ,เกิดการเชื่อมโยงและเชื่อมต่อผู้คน(Interconnectivity)ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้, ส่งเสริมให้เกิดความหลากหลายของผู้คนและการเรียนรู้ บูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน(Multiplicity) เมื่อนำมารวมกันจะกลายเป็น "ONESIAM" ที่ถูกบายพาสใหม่เพื่อเป็นต้นแบบในการสูบฉีดและสร้างโอกาสให้กับย่านให้มีเศรษฐกิจที่มีความแข็งแรงขึ้น 

นอกจากนี้ยังมี 5 เทรนด์สำคัญในการใช้ชีวิตและความต้องการของคนเมือง ประกอบด้วย 1.การเดินทางที่ต่อเนื่องแบบไร้รอยต่อ สามารถคาดการณ์ได้และใช้พลังงานสะอาด  2.คุณค่า ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมความหลากหลายทางชีวภาพ เส้นแบ่งอายุลดลง สามารถทำกิจกรรมเหมือนกันเกิดความเท่าเทียม3. สุขภาพ ให้ความสำคัญกับสุขภาพกายใจอย่างสมดุล เน้นการป้องกันก่อนเกิดโรค  4.การเรียนรู้ตลอดชีวิต การเพิ่มทักษะนำไปใช้ได้จริงสร้างรายได้และการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ 5.การบริโภค สินค้าและบริการรักษ์โลก