การเมืองเขย่าแสนสิริ!เปิดใจ‘อภิชาติ จูตระกูล’รักษาการซีอีโอแสนสิริ

การเมืองเขย่าแสนสิริ!เปิดใจ‘อภิชาติ จูตระกูล’รักษาการซีอีโอแสนสิริ

การเมืองเขย่าแสนสิริ! ‘อภิชาติ จูตระกูล’ รักษาการซีอีโอ เปิดใจ ทำธุรกิจยากขึ้น! มั่นใจเคลื่อนองค์กร40ปียึดความถูกต้อง แจงซื้อที่ดินผ่านบริษัทตัวกลางไม่ได้ปล่อยกู้รปภ.

ซีรีย์จัดหนักแฉเพื่อชาติของ “นายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์” กรณีการซื้อขายที่ดินของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ “แสนสิริ” ในช่วง “เศรษฐา ทวีสิน” นั่งเก้าอี้ซีอีโอ ใช้นอมินีซื้อที่ดิน ปล่อยกู้ 1,000 ล้านบาทให้ รปภ. เป็นกระแสดราม่าสะเทือน บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)  ซึ่งที่ผ่านมาได้ออกแถลงการณ์ชี้แจง 2 ครั้ง และ “EP” ส่งท้ายวันจันทร์ที่ 21 ส.ค.  ก่อนที่ “ชูวิทย์” จะบินไปรักษาตัวที่ประเทศอังกฤษ และวันอังคารที่ 22 ส.ค. จะมีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีที่มี “เศรษฐา ทวีสิน” เป็นแคนดิเดต

แน่นอนว่าภาพ “เศรษฐกิจ ทวีสิน” เสมือนโลโก้ “แสนสิริ” ที่แยกจากกันไม่ออก! แม้จะประกาศวางมือเพื่อก้าวสู่ถนนการเมืองอย่างเต็มตัว หากแต่เกมการเมืองที่ร้อนระอุ ดุเดือด แสนสิริ หลีกเลี่ยงการตรวจสอบและ Side Effect ไม่ได้เช่นกัน  

 อภิชาติ จูตระกูล ประธานกรรมการ และ รักษาการประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่  บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวยอมรับว่า เวลานี้ธุรกิจยากขึ้นแน่นอน! โดยเฉพาะต้นทุนที่ดิน "ตอนนี้คนขายเกร็งไปหมด แล้วเพราะกลัวโดนขุด คนน่าจะขายที่ดินให้แสนสิริน้อยลง ราคาแพงขึ้น สุดท้ายส่งผลต่อต้นทุนพัฒนาโครงการสูงขึ้น"

อย่างไรก็ดี ในเชิงการบริหารจัดการองค์กรอายุ 40 ปี  มีความมั่นคง แข็งแกร่ง อยู่ตัว ขณะที่โปรดักต์ของแสนสิริเป็นที่ยอมรับในตลาด ประเมินขณะนี้ไม่มีผลกระทบในแง่ผู้ซื้อ ซึ่งตัดสินใจซื้อจากคุณภาพ ดีไซน์ นวัตกรรม ทำเล ที่ตอบโจทย์ 

สำหรับการได้มาซึ่ง “ที่ดิน” ของแสนสิริเพื่อพัฒนาโครงการเฉลี่ย 30-40 โครงการต่อปี ฉะนั้นมีการซื้อที่ดินเข้าหลัก 100 แปลง ซึ่งดำเนินการผ่านบริษัทสรรหาที่ดินที่มีความเชี่ยวชาญ หรือที่เรียกว่า “นักจัดการที่ดิน” หรือ “ตัวกลาง” ทั้งในรูปแบบของบริษัทลูก หรือบริษัทภายนอก ที่มีจำนวนมากมายหลายบริษัทในวงการอสังหาริมทรัพย์

"ธุรกิจของแสนสิริคือการรันบริษัทอสังหาฯ พัฒนาที่อยู่อาศัยมาขาย แสนสิริไปเคลียร์ที่ดินเองไม่ได้ เราไม่ใช่นักจัดการที่ดิน ซึ่งแต่ละแปลงกว่าจะได้มาล้วนมีปัญหาและเป็นหน้าที่ของตัวกลาง นักจัดการที่ดินทั้งหลาย จะจัดการเพื่อส่งมอบที่ดินที่คลีน (Clean) แล้วให้เรา ผมการันตีว่าแทบทุกบริษัทอสังหาฯ ใหญ่ไม่มีเวลาคลีนที่ดิน เป็นการทำงานปกติของการจัดหาที่ดินผ่านบริษัทตัวกลาง เป็นวิธีการระหว่างเจ้าของที่ดิน ในฐานะคนขาย และคนซื้อ ก่อนจะนำมาขายให้กับแสนสิริ ซึ่งการจัดการต่างๆ เราไม่สามารถเข้าไปก้าวล่วงได้" 

อภิชาติ อธิบายต่อว่า ที่ดินทุกแปลงมีปัญหาหมด! ไม่ว่าจะเป็นเส้นรังวัด ลำราง เจ้าของ ผู้ครอบครอง บริษัทตัวกลางจะทำหน้าที่ “เคลียร์ปัญหา 108"   ในฐานะคนพัฒนาโครงการ ต้องตัดปัญหาเหล่านี้ออกไปให้คนกลางแก้ปัญหา-หาทางออก  เช่น หาที่อยู่ใหม่ให้ผู้อยู่อาศัยบนที่ดินนั้นๆ หรือบางแปลงมีเจ้าของมีหลายคนก็ต้องเจรจาให้ลงตัว บางแปลงเป็นพี่น้องกันก็ต้องตามหาให้ครบ เป็นต้น เป็นวิธีการบริหารความเสี่ยงในการทำธุรกิจอย่างหนึ่ง

ดังนั้น การอนุมัติจัดซื้อที่ดินของแสนสิริแต่ละแปลงที่ผ่านการสรรหาจากผู้เชี่ยวชาญ “มืออาชีพ” ทำการตรวจสอบข้อมูลขั้นต้น รายละเอียดต่างๆ ก่อนนำมาเสนอขาย จึงมั่นใจในความถูกต้อง โปร่งใส และนโยบายการซื้อที่ดินของแสนสิริ เน้นช่วงเวลาที่ “เหมาะสม” ในราคาที่สามารถพัฒนาโครงการได้ “เราเป็นคนขายบ้าน พัฒนาโครงการเพื่อขาย ไม่ใช่ซื้อที่ดินมาเก็งกำไร แต่ซื้อในราคาที่เหมาะสม ถูกต้อง ไปต่อไป”

กรณีการซื้อขายที่ดินทองหล่อ อยากให้พิจารณากันว่าเราซื้อในราคาเท่าไร แล้วพัฒนามาขายในราคาเท่าไร ไม่มีใครที่ขายที่ดินทองหล่อในราคา 600,000 บาทต่อตารางวาแน่นอน เป็นไปไม่ได้ที่จะยอมขายในราคานั้น เพราะต่ำกว่าราคาตลาดมาก บางเรื่องแสนสิริไม่สามารถตอบแทนหรือเข้าไปก้าวล่วงได้

หรือกรณีระบุว่า "แสนสิริปล่อยกู้ให้ รปภ." นั้น ไม่เป็นความจริง!  ตนไม่เคยเซ็นให้เงินกู้กับ รปภ. ส่วนการจดจำนองเป็นการจำนองเพื่อประกันการปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายของผู้ขาย ซึ่งวงเงินจำนวน 1,000 ล้านบาท เป็นวงเงินที่ครอบคลุมราคาที่ดิน และค่าเสียหาย ที่อาจเกิดขึ้น หากไม่ปฏิบัติตามสัญญาของผู้ขาย ซึ่งทางแสนสิริชำระเงินค่าที่ดินให้แก่ บริษัท เอ็น แอนด์ เอ็น แอสเซ็ท จำกัด แล้วหลังจากได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามสัญญา

"เขาจดจำนองให้เราหมายความว่าเราได้สิทธิไม่ได้หมายความว่าเราเอาเงินไปให้เขา ส่วนกรณีความเกี่ยวข้องผู้ถือหุ้น (ทศพงศ์ จารุทวี) โดยส่วนตัวรู้จักกันมานานเขาเคยทำธุรกิจอสังหาฯ มาก่อน การที่เขาลงทุนซื้อหุ้นในบริษัท 3% เป็น 1 ใน 20,000 รายไม่ได้มีส่วนในการบริหารแสนสิริแต่อย่างใด ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกัน ซึ่งคุณชูวิทย์เองยังมีอยู่ 20,000 หุ้น"

อภิชาติ ย้ำว่า ผมในฐานะผู้บริหารหน้าที่ปกป้องแสนสิริ และอธิบายข้อเท็จให้ทุกคนเข้าใจความถูกต้อง ไม่ได้มีหน้าที่ปกป้อง “เศรษฐา” ส่วนการฟ้องร้องนั้น จะ “ฟ้อง” หรือ “ไม่ฟ้อง” เป็นหน้าที่การพิจารณาของฝ่ายกฎหมายบริษัท แสนสิริ

"ผมไม่ได้อยากค้าความ ผมขายบ้าน ไม่อยากเสียเวลาทำธุรกิจไม่เหมือนคุณชูวิทย์ค้าความ สิ่งที่คุณเศรษฐาทำในฐานะผู้บริหารก่อนออกจากแสนสิริ ก็มีความชอบธรรม ถูกต้องตามกฎหมายทุกอย่าง"

รักษาการซีอีโอ กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า “เศรษฐา”  เป็นน้องผม เป็นพาร์ทเนอร์ร่วมกันมา 30-40 ปี หากโหวตนายกฯ ไม่ผ่าน ผมพร้อมต้อนรับสละตำแหน่งให้เศรษฐา นั่งเก้าอี้ “ซีอีโอแสนสิริ” เหมือนเดิม ...เพราะอยากกลับไปเตะบอล ตกปลา ตีกอล์ฟ เหมือนเดิมแล้วเช่นกัน