นิราศอสังหาฯ 5 เมือง 4 ประเทศใน1 เดือน | โสภณ พรโชคชัย

นิราศอสังหาฯ 5 เมือง 4 ประเทศใน1 เดือน | โสภณ พรโชคชัย

ตลอดเดือนมิถุนายน 2566 ผมเดินทางไปต่างประเทศถึง 5 เมือง 4 ประเทศ ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ ถือเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง คือลงทุนสร้างเครือข่ายระดับโลก ที่ไม่ว่าจะเป็น นักพัฒนาที่ดิน หรือที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ ก็ควรจะดำเนินการ

สำหรับที่แรกที่ผมได้เดินทางไปก็คือที่นครไมอามี มลรัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยไปประชุม FIABCI World Congress ในระหว่างวันที่ 4-14 มิถุนายน 2566 ซึ่งเป็นการประชุมของสมาคมอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีสมาชิกนับล้านคน

ในประเทศไทย ผมเป็นนายกสมาคม FIABCI-Thai หรือสมาคมลูกประจำประเทศไทย เพื่อให้เป็นหน้าต่างติดต่อนักอสังหาริมทรัพย์จากทั่วโลกนั่นเอง

การเดินทางไปสหรัฐอเมริกาก็ถือว่าสุดโหดเพราะใช้เวลานาน แต่ก่อนอาจมีเครื่องบินของการบินไทยไปถึงนิวยอร์กในเวลา 18 ชั่วโมง แต่เดี๋ยวนี้ก็ยกเลิกไปแล้ว

ส่วนผมบินด้วยสายการบินเอมิเร็ตต์ จากกรุงเทพมหานครถึงดูไบและตรงไปไมอามีเลย ใช้เวลา 25 ชั่วโมง ถึงแม้ไปงานประชุมระดับโลก แต่ผมก็ไปชั้นประหยัด เป็นเงินประมาณ 50,000 บาท แต่ถ้าชั้นธุรกิจก็คงเป็นเงินแสนกว่าบาท

ผมยังนึกอยู่ในใจ นี่ถ้ามีตั๋วยืน 10,000 บาท ผมก็จะยืน เพราะอาจประหยัดไปได้ 40,000 บาท  ค่าตัวผมตอนไปทำงานให้สหประชาชาติวันหนึ่งก็ได้แค่นี้เท่านั้น

    การประชุมครั้งนี้มีการนำเสนอหัวข้อความรู้ที่น่าสนใจมากมาย ท่านผู้เป็นนักพัฒนาที่ดิน นายหน้า ผู้บริหารทรัพย์สิน ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินและอื่นๆ สมควรไปร่วมงานนี้เป็นอย่างยิ่ง

เพราะจะได้พบกับนักพัฒนาที่ดินที่ใหญ่ที่สุดทั้งในไต้หวัน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และอีกหลายประเทศ รวมทั้งผู้นำวงการอสังหาริมทรัพย์จากทั่วโลก  เป็นโอกาสอันดียิ่งในการสร้างเครือข่ายเพื่อการซื้อ-ขาย ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์โดยแท้

นิราศอสังหาฯ 5 เมือง 4 ประเทศใน1 เดือน | โสภณ พรโชคชัย

แต่ข้อจำกัดของการเข้าร่วมงานระดับโลกนี้ก็คือ ค่าลงทะเบียนอาจแพงหน่อย คือประมาณ 1,700 เหรียญสหรัฐหรือเกือบ 60,000 บาท ส่วนค่าที่พักในโรงแรมที่จัดงานก็เป็นเงินคืนละประมาณ 450 เหรียญ (รวมภาษีแล้ว) หรือเท่ากับ 16,000 บาท

แต่ในเรื่องที่พัก เราก็อาจเลี่ยงได้ เพราะมีผู้ไปร่วมงานจากหลายประเทศพักโรงแรมที่ถูกกว่า เช่น Holiday Inn  ส่วนผมไปพักโรงแรมเล็กๆ สนนราคาเพียง 2,000 บาทต่อคืน แต่อยู่ห่างจากโรงแรมจัดงานเพียง 8 นาทีด้วยการเดินเท่านั้น  แต่ก็ไม่มีใครรังเกียจใครในด้านนี้ เพราะต่างก็มาแสวงหาพันธมิตรธุรกิจมากกว่า

    ในงานนอกจากมีการเข้าร่วมสัมมนาแล้ว ยังมี Networking Breakfast และ Networking Lunch ตกค่ำก็ยังมีงานเลี้ยงต้อนรับ งานเลี้ยงมอบรางวัลอสังหาริมทรัพย์ดีเด่น งานเลี้ยงอำลา เป็นต้น ทำให้ผู้เข้าร่วมได้มีโอกาสรู้จักกันมากขึ้น และสามารถสานต่อธุรกิจกันได้ในอนาคต

ทั้งนี้มีผู้เข้าร่วมนับพันจาก 50 ประเทศทั่วโลก (สมาชิกจริงมี 70 ประเทศ) แต่ปีนี้จัดที่สหรัฐอเมริกา อาจทำให้มีผู้เข้าร่วมน้อยกว่าปกติ และที่นี่มักมีการคัดสรรผู้ที่จะได้รับวีซาที่เข้มงวดด้วย

    งานสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือการมอบรางวัล FIABCI World Prix d’Excellence Awards ซึ่งเป็นเสมือนรางวัล “ออสการ์” ในวงการอสังหาริมทรัพย์ โดยมีโครงการที่ได้รับการคัดสรรจาก FIABCI ในแต่ละประเทศทั่วโลกมาแข่งกันและรับรางวัล

อันเป็นรางวัลที่ทรงเกียรติยิ่ง แตกต่างจากรางวัลของสื่อมวลชนต่างๆ หรือแพลตฟอร์มอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ที่พยายามจัดงานมอบรางวัลเช่นกัน

    เสร็จจากงานนี้ผมก็เดินทางไปนครนิวออร์ลีนส์ มลรัฐลุยเซียนา ซึ่งเป็นโปรแกรมพิเศษเฉพาะผมเท่านั้น เพราะผมไปศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของพายุเฮอริเคนแคทรีนาที่พัดผ่านนครนี้เมื่อปี 2548 หรือราว 18 ปีที่ผ่านมา

ครั้งนั้นพายุดังกล่าวสร้างความเสียหายที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาในวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ.2548 (ความเร็วลม 280 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) พายุดังกล่าวทำความเสียหายในพื้นที่ประมาณ 233,000 ตารางกิโลเมตร หรือครึ่งหนึ่งของประเทศไทย ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1,836 ราย สูญหายไป 705 ราย ความเสียหายเกือบ 3 ล้านล้านบาท (พอๆ กับงบประมาณแผ่นดินไทย)

    ผมได้มีโอกาสไปพบ New Orleans Assessor หรือผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแห่งนครนิวออลีนส์นี้ ซึ่งเป็นข้าราชการการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งติดต่อกับมา 30 ปีแล้ว ทำหน้าที่ประเมินค่าทรัพย์สินเพื่อการเสียภาษี รวมทั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของหน่วยงานนี้อีกด้วย และได้ข้อมูลมากมายมาใช้ประกอบการวิเคราะห์ข้อมูลที่กำลังดำเนินการอยู่

เมื่อแล้วเสร็จก็จะได้นำเสนอต่อไป  ยิ่งกว่านั้นผมยังไปสัมภาษณ์ประชาชนในพื้นที่ ไปดูสุสานของผู้วายชนม์จากพายุนี้ รวมทั้งไปดูสถานที่เกิดเหตุในบริเวณต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการสำรวจวิจัยอีกด้วย

    ผมกำลังทำหนังสือเรื่อง พิบัติภัยธรรมชาติกับผลกระทบต่อมูลค่าทรัพย์สิน โดยกรณีศึกษาที่นครนิวออลีนส์นี้จะเป็นเรื่องล่าสุดก่อนรวมเล่มหนังสือ

ทั้งนี้ผมได้รวบรวมผลกระทบของสึนามิต่อนครอาเจะห์ เกาะภูเก็ต ปี 2547 สึนามิและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เซนไดปี 2554 พายุไห่เยียนกับนครทาโคลบันในปี 2556 แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ของเนปาลปี 2558 อันที่จริงผมจะสำรวจผลกระทบของโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลระเบิดเมื่อปี 2529 ด้วย ผมเคยเดินทางไปครั้งหนึ่ง แต่ขณะนี้ยูเครนกำลังมีสงครามกับรัสเซีย  จึงไม่สามารถเดินทางไปได้

    เมื่อกลับถึงกรุงเทพมหานครในเช้ามืดวันที่ 14 มิถุนายนแล้ว ก็ปรากฏว่าในบ่ายวันที่ 15 มิถุนายน ผมก็เดินทางไปนครปากเซ แขวงจำปาสัก เพื่อดูงานอสังหาริมทรัพย์ ได้พบปะกับกลุ่มนักธุรกิจและถือโอกาสท่องเที่ยวด้วย

ผมเองเป็นคนจัดในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิประเมินค่า-นายหน้าแห่งประเทศไทย โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 25 คน ได้ทั้งความสนุกสนามและความรู้ รวมทั้งได้สร้างเครือข่ายอสังหาริมทรัพย์ที่ลาว และกลับมาในค่ำวันที่ 18 มิถุนายน โดยคาดว่าในอนาคตอันใกล้ ผมคงได้ไปจัดอบรมหรือสัมมนาเรื่องอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ดังกล่าว

    จากนั้นในระหว่างวันที่ 24-25 มิถุนายน 2566 ผมก็ได้รับเชิญจากสมาคมอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติเวียดนามที่นายกสมาคมต้องมาจากภาครัฐ โดยเคยเป็นรัฐมนตรีและคณะกรรมการพรรคสาขาฮานอยมาก่อน รวมทั้งได้ร่วมงานเลี้ยงของสมาคมนายหน้าเวียดนามที่มีสมาชิกนับหมื่นคน

นิราศอสังหาฯ 5 เมือง 4 ประเทศใน1 เดือน | โสภณ พรโชคชัย

 ผมเคยเป็นที่ปรึกษากระทรวงการคลังเวียดนาม จัดทำ Roadmap การประเมินค่าทรัพย์สินเวียดยาม ทำให้เขามีมาตรฐานวิชาชีพแล้ว แต่ไทยเรายังไม่มีเลยจนบัดนี้ ผมยังได้ทำแบบสอบถามความเห็นของนักวิชาชีพที่ฟิลิปปินส์เพื่อประเมินสถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ด้วย เมื่อวิจัยเสร็จจะได้นำเสนต่อไป

    และล่าสุดในระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน – 2 กรกฎาคม 2566 ผมก็ไปนครเซบู ฟิลิปปินส์ โดยใน 2 วันแรก ผมไปสอนวิชาการประเมินค่าทรัพย์สิน นับเป็นการสร้างชื่อให้กับประเทศไทยโดยตรง เป็นผู้ลงนามในวุฒิบัตรและมอบวุฒิบัตรด้วย  

ผมเคยไปสอนมาแล้วหลายประเทศ ทั้งกัมพูชา ญี่ปุ่น เนปาล ลาว บราซิล บรูไน เมียนมา ยูกันดา ยูเครน เวียดนาม สิงคโปร์ อินเดีย อินโดนีเซีย ฮ่องกง และอื่นๆ  จากนั้นในช่วงถัดมาก็เป็นการสัมมนาอสังหาริมทรัพย์นานาชาติ โดยผมได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรร่วมบรรยายด้วยอีกต่างหาก  และแน่นอนก็ได้เครือข่ายมามากมายเช่นกัน

    บางทีการเดินทางไปต่างประเทศอาจจะเหนื่อยสักหน่อย เราก็ต้องพยายามฟิตตัวเองไว้ และการสร้างเครือข่ายนี้ก็จะทำให้เราไม่ใช่เป็นแค่แบรนด์ระดับประเทศ แต่เป็นในระดับภูมิภาและระดับโลก เป็นการกระจายความเสี่ยง แสวงหาโอกาสและสร้างแบรนด์อย่างต่อเนื่องนั่นเอง.
คอลัมน์ อสังหาริมทรัพย์ต่างแดน
ดร.โสภณ พรโชคชัย 
ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย 
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส 
www.area.co.th