ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บถอดโมเดลเตือนภัยน้ำท่วม“ฝนร้อยปี”

ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บถอดโมเดลเตือนภัยน้ำท่วม“ฝนร้อยปี”

ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ จับมือ ESRI ถอดโมเดลฮับข้อมูลสภาพแวดล้อม เตือนภัยน้ำท่วม “ฝนร้อยปี” อาจกลับมาทุกสิบปี มั่นใจ “Urban Hazard Studio” มีประโยชน์กับทุกภาคส่วนเพื่อเตรียมความพร้อมและลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น

จากการเสวนาพิเศษภายใต้หัวข้อ  ถอดโมเดล ‘Urban Hazard Studio’ สุดยอดฮับข้อมูลสภาพแวดล้อม จับตาภัยพิบัติ ‘กรุงเทพฯ’ หากเกิด ‘ฝนร้อยปี’ 

 "การดี เลียวไพโรจน์"  ผู้อำนวยการบริหาร “ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ” เปิดเผยว่า ภาพรวมน้ำท่วมปี 2565 ทำเศรษฐกิจโลกสูญเงินกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ และในอีก 30 ปีข้างหน้า หรือในปี พ.ศ. 2595   คาดว่าจะทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึง 5.6 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเวิลด์อีโคโนมิกฟอรัม โกลบอล ริสก์ (World Economics Forum Global Risk)  หนึ่งในองค์การระหว่างประเทศเพื่อความร่วมมือภาครัฐและเอกชนที่ทำหน้าที่ประเมินความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจโลก

ได้ทำการคาดการณ์ความเสี่ยงในอนาคตที่จะเกิดขึ้น 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. ความล้มเหลวในการจัดการสภาพภูมิอากาศ (Climate action failure)

2. สภาวะสุดขั้วของลมฟ้าอากาศ (Extreme weather) และ 3. การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity loss) ซึ่งประเทศไทยมีสัดส่วนประชากรเสี่ยงเจอภัยพิบัติถึง 34% โดยในปีที่ผ่านมาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจไทยของมหาวิทยาลัยหอการค้า ได้ประเมินความเสียหายภาพรวมเศรษฐกิจและธุรกิจรวมทั้งสิ้นสูงถึง 1.2–2 หมื่นล้านบาท
 

ทั้งนี้ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ หรือ ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษาภายใต้ MQDC ที่สนใจเรื่องของความเป็นอยู่ที่ดี (For All Well – Being) มองเห็นผลกระทบจากความเสี่ยงดังกล่าว เช่น Extreme weather ที่ส่งผลให้ต้องเผชิญกับปริมาณฝน หรือคลื่นความร้อนที่มากขึ้น ซึ่งหากไม่เตรียมความพร้อมเพื่อรับมือ จะนำมาซึ่งผลกระทบและความสูญเสีย โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจจำนวนมหาศาล เช่น การสูญเสียผลผลิตในภาคการเกษตร คุณภาพสินค้า การส่งออก ด้านความเป็นอยู่ รวมถึงมูลค่าที่ต้องฟื้นฟูหลังจากเกิดภัยต่าง ๆ 

สำหรับการร่วมมือในการพัฒนา Urban Hazard Studio สุดยอดฮับข้อมูลสภาพแวดล้อม จากการนำความสามารถของเทคโนโลยี GIS ของ Esri ที่สามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์เชิงพื้นที่ และได้เชิญ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการ ศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และที่ปรึกษาด้านการเปลี่ยนแปลงภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ ของ ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ ร่วมให้ความรู้และให้ข้อมูลเชิงลึก

 

โดยมีเป้าหมายในการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ ประเมิน และเผยแพร่เพื่อสร้างความตระหนัก ต่อประชาชนและสังคม รวมทั้งเพื่อการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ในอนาคตของประเทศต่อไป ด้วยหวังให้ทุกภาคส่วนได้เห็นความสำคัญของการเตรียมพร้อม และร่วมป้องกันภัยที่จะเกิดขึ้นผ่านแพลตฟอร์ม อีกทั้งต้องการให้เกิดความร่วมมือ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยเริ่มต้นทำการศึกษาภัยคุกคามจากน้ำท่วมบริเวณพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล หากเกิด ‘ฝนร้อยปี’ ที่นับเป็นความเสี่ยงอันดับต้น ๆ ของประเทศ

เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการ ศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เปิดเผยว่า จากข้อมูลน้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลาง กทม. และปริมณฑล สามารถจัดกลุ่มความเสี่ยงน้ำท่วมได้เป็น 3 ประเภท คือ 1) น้ำท่วมเมือง (Urban flooding) หรือน้ำท่วมรอการระบาย เกิดจากการที่ฝนตกหนักในเมืองเกินกว่าความสามารถของระบบระบายน้ำ  2) น้ำล้นฝั่งจากแม่น้ำ (River flooding) เกิดจากปริมาณฝนตกหนักเกินความจุลำน้ำ ทำให้หลากล้นฝั่งเข้าท่วมชุมชน เช่น กรณีเหตุการณ์ในปี พ.ศ. 2554, 2564 และ 2565 ที่ผ่านมา 3) น้ำท่วมชายฝั่ง (Coastal flooding) เกิดขึ้นกับชุมชน หรือเมืองริมชายฝั่งทะเล เมื่อต้องเผชิญกับระดับทะเลที่สูงขึ้นอย่างถาวร

น้ำท่วมทั้ง 3 ประเภทมีแนวโน้มของความถี่ และความรุนแรงมากขึ้นจากปัจจัยเร่งของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงสภาพที่ทำกิน มีการประเมินปริมาณฝนที่ตกหนัก 1 วัน บริเวณพื้นที่ กทม. ในอนาคตจะเพิ่มขึ้น 20-30% ปริมาณฝน 100 ปี จะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 200 mm/วัน เป็น 250 mm/วัน พร้อมกับจำนวนวันที่ฝนตกหนัก มีโอกาสเพิ่มขึ้น 60-80% ดังนั้นเหตุการณ์น้ำท่วมรอการระบาย

จึงมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกัน ปริมาณฝนตกสะสม 6 เดือน (พฤษภาคม-ตุลาคม) ที่ทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในลุ่มเจ้าพระยามีโอกาสเพิ่มขึ้น 20-30% เช่นกัน กล่าวคือ ฝน 100 ปีปัจจุบัน จะกลายเป็นฝน 10 ปีในอนาคต ดังนั้นเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เช่นปีพ.ศ. 2554 จึงมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นทุก ๆ 10 ปีในอนาคต สุดท้ายสำหรับน้ำท่วมชายฝั่ง

มีการประเมินโดยคณะทำงานภายใต้คณะกรรมการระหว่างรัฐว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Change) ประเมินว่า ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นที่สถานีป้อมพระจุลจอมเกล้า บริเวณปากแม่น้ำประมาณ 0.39 m, 0.73 m และ 1.68 m ในปีค.ศ. 2030, 2050 และ 2100 ตามลำดับ จะทำให้พื้นที่ กทม. และปริมณฑลจมน้ำอย่างถาวร หากไม่มีมาตรการรับมือ นอกจากนี้ชาว กทม. และปริมลฑล ก็ต้องบริโภคน้ำประปากร่อย จากน้ำเค็มรุกล้ำ รวมทั้งส่งผลกระทบต่อพืชสวนทุเรียน และกล้วยไม้ใน จ.นนทบุรี และ จ.นครปฐมตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อนึ่งแผนงานต่อไปในอนาคต เราจะร่วมมือกันประเมินภัยคุกคามด้านอื่น ๆ ต่อประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง สึนามิ พายุ เป็นต้น เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือให้กับชุมชนต่อไป

ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บถอดโมเดลเตือนภัยน้ำท่วม“ฝนร้อยปี”

นางสาวธนพร ฐิติสวัสดิ์ ประธาน บริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า Urban Hazard Studio ที่ใช้ความสามารถจากเทคโนโลยี GIS มีส่วนร่วมอย่างมากกับการรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ด้านอื่น ๆ ที่ทำให้สามารถตรวจวัด วิเคราะห์ และเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับโลก ช่วยขับเคลื่อนการแก้ปัญหาในมุมของ Climate Crisis ต่าง ๆ

ใน 3 เรื่องหลักคือ ช่วยประเมินผลกระทบในรูปแบบแผนที่ ช่วยวิเคราะห์เพื่อชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงหรือจุดเสี่ยงในอนาคต และช่วยหาโซลูชันที่เป็นแนวทางสู่การบริหารจัดการกับภัยจากธรรมชาติด้วยความเข้าใจ ในเรื่องของการประเมินผลกระทบด้วยการสื่อสารด้วยภาพทำให้เห็นรูปแบบ หรือเหตุที่เกิดชัดเจนขึ้น สามารถใช้ร่วมกับเทคโนโลยีอื่น ๆ

เพื่อเพิ่มความสามารถของการวิเคราะห์เชิงพื้นที่ได้มากขึ้น เห็นเหตุการณ์ในสถานการณ์ต่าง ๆ  บนสภาพจริงแบบเรียลไทม์ ทำให้สามารถวางแผนรับมือกับปัจจุบันและเตรียมตัวสำหรับอนาคตได้ดีขึ้น

นอกจากนี้ ยังสามารถรู้จุดเกิดเหตุภัยต่าง ๆ รวมถึงคาดการณ์อนาคต ตลอดจนผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต ทั้งคน สัตว์ พืช สามารถประเมินความเสียหาย รวมถึงความเสี่ยงในเชิงพื้นที่ หรือใช้ GIS Tool วิเคราะห์มูลค่าความเสียหายในเชิงเศรษฐกิจ หัวใจสำคัญคือช่องทางการสื่อสารไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เห็นถึงภาพและผลกระทบ รวมทั้งช่วยในการตัดสินใจการหาแนวทางตั้งรับ ซึ่งเทคโนโลยี GIS ตอบโจทย์ในการนำเสนอและสร้างเป็นแอปพลิเคชันที่แชร์ให้กับผู้เกี่ยวข้องเข้ามาดูและมาใช้งานได้ 

ตัวอย่างการใช้เทคโนโลยี GIS เข้าไปช่วยในเรื่อง Climate Change มีให้เห็นอยู่เยอะมาก ตัวอย่างเช่น ฟิลิปปินส์ มีความกังวลในเรื่องของ Urban Heat จากข้อมูลด้านการปล่อยพลังงานความร้อนในพื้นที่เมืองที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2 องศา ทางแก้คือการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ซึ่งเทคโนโลยี GIS สามารถช่วยวิเคราะห์และชี้เป้าให้ได้ว่าควรเพิ่มพื้นที่สีเขียวตรงไหน และรูปแบบใด และสามารถคำนวณได้ว่า เมื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในจุดนั้น ๆ แล้ว จะช่วยลดพลังงานความร้อนลงไปได้มากขึ้นอย่างไร

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยี GIS ไม่ใช่เพียงแค่การทำแผนที่ แต่จะเป็นเทคโนโลยีและเป็นเครื่องมือที่เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาด้าน Climate Change ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและผู้ที่เกี่ยวข้องในทุก ๆ ภาคส่วน ได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ ทั้ง Esri และ ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ มีความมุ่งมั่นร่วมกันที่จะพัฒนา Urban Hazard Studio สุดยอดฮับข้อมูลสภาพแวดล้อม ด้วยข้อมูลที่เกี่ยวกับภัยพิบัติจากธรรมชาติอื่น ๆ ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านสึนามิ ฝุ่น  PM2.5 ในอนาคตอันใกล้นี้