"เศรษฐา ทวีสิน" พร้อมรับพันธกิจประเทศ ชู 4 วาระเร่งด่วน

"เศรษฐา ทวีสิน" พร้อมรับพันธกิจประเทศ ชู 4 วาระเร่งด่วน

เปิดคลังความคิด “เศรษฐา ทวีสิน” แคนดิเดตนายกฯเพื่อไทยประกาศ “พร้อมแล้ว” วาง 4 วาระเร่งด่วนแห่งชาติ มุ่ง “แก้ปัญหาปากท้อง-แก้ไขรัฐธรรมนูญ-ภูมิศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ-สิทธิเสรีภาพและลดความเหลื่อมล้ำ” หวังการเลือกตั้ง “อภิมหาแลนด์สไลด์” สร้างจุดเปลี่ยนประเทศไทย

สปอตไลต์การเมืองห้วงเวลานี้จับจ้องไปที่ ซีอีโอบิ๊กคอร์ป “เศรษฐา ทวีสิน” แห่งแสนสิริ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งต่อไป “หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ” และ รายการ “Nation Insight” สัมภาษณ์พิเศษโดย 2 บรรณาธิการใหญ่เครือเนชั่น วีระศักดิ์ พงศ์อักษร และ บากบั่น บุญเลิศ  ออกอากาศวันนี้ (31 ต.ค.) เวลา 22.00 น.

“เศรษฐา ทวีสิน” ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตนสะสมประสบการณ์การทำงานมานานวันนี้อายุ 60 ปี แล้ว ฉะนั้นการแสดงความคิดเห็นต่างๆ น่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคม สาธารณชน หวังว่ารัฐบาลจะนำไปใช้บ้างไม่มากก็น้อย และในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ของแสนสิริ ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซึ่งล้อไปกับจีดีพี จึงอยากให้เศรษฐกิจเจริญเติบโต ธุรกิจได้รับอานิสงส์ไปด้วยเช่นกัน

“อยากให้คนมีความหวังกับข้อคิดของผม และมีความหวังกับคนที่เป็นรัฐบาลต่อไปว่า อยากจะให้ทำบ้างในบางเรื่อง  โดยส่วนตัว ไม่เคยคิดเล่นการเมือง เพราะครอบครัวผมเป็นพ่อค้า แม้ว่าคุณพ่อจะเคยเป็นทหารมาก่อนแต่ท่านเสียไปตั้งแต่ผมอายุ 3 ขวบ ฉะนั้นเรื่องการเมืองไม่เคยอยู่ในหัว แต่หน้าที่ในฐานะพลเมืองไทยคนหนึ่ง อยากเห็นบ้านเมืองเจริญก้าวหน้าไปได้ด้วยดี ถือเป็นหน้าที่ในฐานะหุ้นส่วนประเทศคนหนึ่ง"

เศรษฐา ฉายมุมมองเรื่อง “ประชาธิปไตย” ถือเป็นเรื่องสำคัญ มีความเชื่อในการปกครองแบบประชาธิปไตย จึงอยากให้มีรัฐธรรมนูญที่เป็น “กระจก” สะท้อนความต้องการของประชาชนที่ชัดเจน ให้สิทธิเสรีภาพที่มีความเท่าเทียม เสมอภาค ตามกฎหมายที่พึงจะได้ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกอาชีพ เพศสภาพ ในส่วนของรัฐธรรมนูญที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ผมเคารพ แม้จะเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในบางเรื่อง เช่น เรื่อง สว.ไม่เห็นด้วย ที่เลือกโดยคน 10 คน และมีเสียงตั้ง 250 เสียง เพราะที่มาที่ไปไม่ถูกต้อง เชื่อว่า ยังมีทางแก้ไขได้
 

\"เศรษฐา ทวีสิน\" พร้อมรับพันธกิจประเทศ ชู 4 วาระเร่งด่วน

ต่อคำถามที่ว่า ทำไมพรรคการเมืองถึงสนใจและอยากให้เขาเข้ามาทำงานการเมือง เศรษฐา กล่าวว่า

"ผมเป็นคนที่มีเพื่อนเยอะและอาจเป็นเรื่องของความใหม่ในแง่ความคิด วิธีการนำเสนอ วิธีการพูด และอายุ (60ปี) ที่พอเหมาะกับการทำงานการเมือง ซึ่งในฐานะคนที่อยู่ในวงการธุรกิจมานาน หน้าที่ในการช่วยเหลือประเทศชาติ มีหลายบริบทที่ทำได้ ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจ นักสังคมสงเคราะห์ หรือจะเป็นนักการเมืองไม่ได้ปิดกันตรงนั้น แต่ต้องอยู่ในสภาวะที่เหมาะสม ที่มาที่ไปต้องถูกต้อง"

ทั้งนี้ การปกครองระบอบประชาธิปไตย ผู้นำประเทศ หรือ ผู้นำสูงสุดต้องมาจากประชาชน เอาประชาชนเป็นที่ตั้งสำคัญ ประชาชนเลือก ส.ส. เป็นตัวแทนแต่ละจังหวัด เพราะฉะนั้นหัวหน้ารัฐบาลในฐานะผู้นำสูงสุด ต้องฟังเสียงจาก ส.ส. จากนักธุรกิจ จากเอ็นจีโอ จากทุกๆ สถาบัน 

"ผู้นำที่ต้องเป็นผู้ฟังที่ดี ไม่ใช่ฟังเฉยๆ แต่ฟังแล้วต้องกลั่นกรอง ไตร่ตรองให้ดี มีแอคชั่นแพลนออกมา ซึ่งผู้นำก็ต้องมีวัยวุฒิ มีประสบการณ์ มีวิจารณญาณที่ดีและที่สำคัญผู้นำต้องทำสิ่งที่ถูกต้องมากกว่าสิ่งที่ถูกใจ”

เปลี่ยนวิธีคิด‘เศรษฐกิจนำ-การเมืองตาม’

ซีอีโอ แสนสิริ กล่าวต่อว่า ปัญหาใหญ่ขณะนี้ คือ เรื่องปากท้อง ซึ่งโยงใยเศรษฐกิจโดยตรง ดังนั้น บางเรื่องถ้าเอาการเมืองนำเศรษฐกิจจะไปต่อไม่ได้ ต้องเปลี่ยนวิธีการคิดใช้ “เศรษฐกิจนำ-การเมืองตาม” แต่ไม่ได้หมายความว่า ต้องตามตลอดไป บางเรื่องอาจเสียคะแนนจากคนบางกลุ่มบ้างเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในระยะยาว เชื่อว่าในที่สุดคะแนนจะกลับมาเมื่อเศรษฐกิจกลับมาดีขึ้น

"ต้องบริหารความคาดหวังให้ดี วางโรดแมบให้ชัดเจน ในแต่ละช่วงเวลา ไม่ใช่มาขายฝัน ในเชิงความคาดหวังผมให้ความสำคัญมากในฐานะผู้นำองค์กร เราไม่จำเป็นต้องพูดข่าวดีเสมอไปแต่ว่า ต้องบอกให้ได้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียว่า ข่าวร้ายนั้น ร้ายแค่ไหน แล้วเราจะอยู่กันไปอย่างไร แก้อย่างไรไปต่ออย่างไร และเมื่อไรจะกลับมาเหมือนเดิม หรือดีกว่าเดิม”

ยกตัวอย่าง ถ้าเป็นนักการเมืองจะออกมาตรการเศรษฐกิจ เช่น มาตรการภาษี ซึ่งมีทั้งบวกและลบ มี 3-4 เสาหลักที่ต้องคำนึงถึง ได้แก่ สื่อ เอ็นจีโอ ประชาชน และ นักธุรกิจ ซึ่งอาจได้รับข้อแนะนำเพื่อปรับใช้ให้ถูกต้องเหมาะสม “อย่าถือยศถืออย่างว่าเป็นผู้นำประเทศ เพราะเราเป็นประชาธิปไตย คนเป็นผู้นำต้องเสียสละ ทำงาน 24 ชั่วโมง 7 วัน ดูแลทุกภาคส่วนให้ดี”

\"เศรษฐา ทวีสิน\" พร้อมรับพันธกิจประเทศ ชู 4 วาระเร่งด่วน

 เร่งแก้ความเหลื่อมล้ำสูงหลังโควิด

หลังวิกฤติโควิด-19 ทุนนิยมแบบกินรวบทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำสูงขึ้นมากในทุกมิติ ถือเป็นหน้าที่ที่ทุกฝ่ายต้องเข้าไปช่วยเหลือเนื่องจากกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ คือ คนระดับล่าง ขณะที่คนระดับบนไม่ได้รับผลกระทบ อย่างเช่น ในแง่การศึกษามีเด็กที่ได้รับผลกระทบจนต้องหลุดจากการศึกษาทั่วประเทศ 1 ล้านคน ซึ่ง “แสนสิริ” ได้เข้าไปทำโครงการ Zero Dropout เพื่อช่วยเด็ก 100 คน ที่จังหวัดราชบุรี ไม่ให้หลุดออกจากศึกษาภายใน 3 ปี

“ไม่ต้องรอให้เป็นผู้บริหารประเทศก็สามารถแก้ไขได้ ผู้บริหารบริษัทขนาดเท่าแสนสิริทำได้เช่นกัน หากทุกองค์กรทำ จะเป็นฟันเฟืองเคลื่อนไหวไปในวงกว้าง”

ปีที่ผ่านมา มีสถิติที่น่ากังวล คนมีลูกน้อยลง เด็กเกิดน้อย คนตายช้า เพราะความก้าวหน้าทางการแพทย์ ขณะที่ประเทศจีน อินโดนีเซีย เวียดนาม บราซิล มาเลเซีย สหรัฐ มีจำนวนประชากรมากพอที่กระตุ้นการบริโภคภายในประเทศจึงได้เปรียบกว่า นับเป็นสัญญาณเตือนที่สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ความไม่เสมอภาค ทำให้คนไม่อยากมีลูก 

 คนสมัยใหม่มีทางเลือกของตนเอง

ขณะเดียวกัน จากผลสำรวจคน Gen Z ต้องการให้ยกเลิกการเกณฑ์ทหารสูงถึง 84% ซึ่ง สถาบันทหารเป็นเสาหลักของประเทศ ฉะนั้น เด็กน่าจะอยากเข้าไปเกณฑ์ทหารด้วยความสมัครใจ แต่เมื่อไรที่ถูกบังคับเขาจะไม่ชอบ แต่หากใช้เหตุผลจะทำให้ภาพลักษณ์ดูดี คนอยากเข้ามาเอง

“ต้องยอมรับว่าคนสมัยใหม่ อยากมีทางเลือกของตนเองไม่ว่าการศึกษา ระบบสาธารณสุข ถ้ามีโรคระบาดจะได้รับการดูแลไหม สมัยก่อนคนจบมาอยากทำงานธนาคารซิตี้แบงก์ กสิกรไทย กรุงเทพ ปตท. แสนสิริ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้วไม่ใช่ทุกคนอยากทำงานกับบริษัทเหล่านี้ เขาอาจจะอยากทำงานบริษัทที่ทำงานเพื่อสังคม กับโลก และสิ่งแวดล้อม อินเรื่องเน็ตซีโร่มากขึ้น”

ทั้งภาคเอกชนและรัฐบาลต้องเสิร์ฟความต้องการเหล่านี้ให้คนรุ่นใหม่ ด้วยการมีระบบสาธารณสุขที่ดี มีทางเลือกในการประกอบอาชีพมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ต้องค่อยๆ ทำ พูดคุยในเวลาที่เหมาะสมในภาษาที่คนรับได้

"เด็กรุ่นใหม่ คนรุ่นใหม่ เป็นกำลังของชาติ แต่ถ้าเขาออกไปที่อื่นแล้วไปว่าเขาชังชาติผมไม่เห็นด้วย ผมเชื่อว่า คนที่ไปได้ คือ คนที่มีทางไป หน้าที่เราคือต้องเก็บเขาไว้ แต่ไม่จำเป็นต้องทำให้เขาทุกอย่าง ในแง่ของการบริหารการคาดหวัง อย่าไปหลอกเขา ไปขายฝัน อะไรทำได้ง่ายๆ ทำให้เขาดูก่อนว่าในองค์กร ในประเทศ หรือหน่วยงาน อยากจะทำให้เขา เห็นความหวัง แรงบันดาลใจและแสงสว่าง ในอนาคต”

รัฐบาลต้องตอบโจทย์ประชาชนทุกกลุ่ม

เศรษฐา ย้ำว่า หน้าที่ของรัฐบาลต้องตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนทุกคน คนรุ่นใหม่ก็เป็นภาคส่วนหนึ่ง ที่ต้องบริหารจัดการ ต้องทะนุถนอมเขาเพื่อให้เป็นกำลังสำคัญของประเทศ ไม่ต้องทำอะไรพิเศษ เป็นเรื่องที่ควรทำ ทั้งสิทธิเสรีภาพในการเลือกเกณฑ์ทหาร การศึกษา แหล่งงานที่เหมาะสม ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันอาจจะทำอยู่แล้วแต่มีความบกพร่องในด้านการสื่อสาร ก็เป็นไปได้

“ผมเชื่อว่าผู้นำประเทศ รัฐมนตรีทั้งหลายก็มีความหวังดีด้วยกันทั้งนั้น แต่อาจต้องปรับวิธีการสื่อสารอย่าใช้อารมณ์เราเป็นผู้ใหญ่แล้ว เราต้องเป็นตัวอย่างที่ดี มิเช่นนั้นจะเหมือนกับการสาดน้ำมันเขาไปในกองไฟ”

ส่วนเรื่องการเกณฑ์ทหาร ที่บางพรรคออกนโยบายกเลิกการเกณฑ์ทหารนั้นอาจต่างกันตรงที่ว่า การที่เป็นนักการเมืองหรือประชาชนอย่างผม นโยบายบางนโยบายออกมาเพื่อดึงโหวตเตอร์ แต่อีกสเต็ปหนึ่งก็คือ ทำได้จริงหรือไม่ ลึกไปว่านั้น ควรทำหรือไม่ า เพราะเราก็ไม่อยากให้ใครมาด้อยค่า ฉะนั้นอย่าไปด้อยค่าคนอื่น ทหารที่เก่งก็มี อย่าไปริดรอนสิทธิ์คนอื่น Two wrongs don't make a right. เราเป็นผู้ใหญ่เราต้องมีสติ โฟกัสเรื่องสิทธิเสรีภาพของเราดีกว่า

เศรษฐา เล่าว่า ตอนอยู่ต่างประเทศ กองทัพจะมีโฆษณา Be All You Can Be Army ฉายภาพให้เห็นว่า คนที่เข้าไปอยู่แล้วมีความก้าวหน้าในสายอาชีพที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นวิศวะ ช่าง ทหาร เป็นอาชีพที่มีเกียรติ มีศักด์ศรี เพื่อดึงดูดให้คนเข้ามาเป็นทหาร ไม่ใช่บังคับให้เป็น 

“30 ปีที่แล้วมีกฎเรื่องการเกณฑ์ทหารอาจเป็นเรื่องเหมาะสม เพราะมีเรื่องคอมมิวนิสต์ แต่ปัจจุบันนี้ เรารบกันด้วยความคิด และการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข ฉะนั้นจำเป็นหรือไม่ที่ต้องบังคับเขาให้มาเกณฑ์ทหาร”

ในส่วนตัวผมไม่ชอบคำว่า “ปฏิรูป” และการจะไปบอกให้ปฏิรูป “ไม่มีใครชอบ" ฉะนั้นผมไม่ใช่คำว่า ปฏิรูป แต่แค่เปลี่ยนวิธีการคิด เพราะการเป็นทหารไม่จำเป็นต้องถือปืนรบตลอดเวลา สามารถไปทำอะไรก็ได้ ไม่ว่าเป็นบัญชี นักบิน แผนที่ ทำให้คนรู้สึกว่ามี ‎Career Path ที่มั่นคง มีสวัสดิการที่ดีในการดูแลครอบครัว มีทุนการศึกษา ระบบสาธารณสุขที่ดี หากมีการสื่อสารที่ดี ที่เหมาะสม เชื่อว่าคนอยากเข้ามาเองไม่จำเป็นต้องบังคับ

เลือกตั้งปีหน้าจุดเปลี่ยนประเทศไทย

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่มีการเลือกตั้งในปีหน้า จะเป็นจุดเปลี่ยนประเทศไทย เศรษฐา ขยายความว่า จุดเปลี่ยนจะเกิดขึ้นได้ ต้องเลือกให้ “ขาด” เชื่อว่า นักธุรกิจหลายท่านอยากเห็นความชัดเจนในการบริหารประเทศ  ฉะนั้น รักใครชอบใคร ถ้าเห็นว่ารัฐบาลเก่าทำดีแล้วก็เลือกเขาไป สำคัญที่สุดคือเลือกแล้วต้องยอมรับเหตุและผล

ในฐานะสายนักบริหาร เขามองว่า ปัญหาความขัดแย้งทางความคิด ความขัดแย้งทางการเมือง ที่สะสมมานาน ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งที่ศักยภาพของไทยไปได้ไกลกว่านี้มาก หากไม่มีการปิดสนามบิน ไม่มาเดินราชประสงค์ ทำให้เกิดรัฐประหารขึ้น ซึ่งทุกคนเห็นด้วยหมดเพียงแต่จะพูดหรือไม่พูดเท่านั้น ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นตัวถ่วงอันหนึ่ง

ทั้งนี้ “รัฐบาลใหม่” ที่เข้ามาและได้รับฉันทามติจากประชาชน คือ 500 เสียง อีก 250 เป็นของ สว. เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง แต่ผมเชื่อว่า สว.ท่านทำหน้าที่เพื่อประชาชน ฉะนั้น ถ้าประชาชนให้ฉันทามติมาแล้ว ท่านจะทำหน้าที่ของท่านด้วยความภาคภูมิใจและสมเกียรติที่ได้รับมอบหมายมา ถ้าเป็นรัฐบาลที่รับเสียงส่วนมากมาแล้ว น่าจะมาดูทั้งหมดว่า “ต้นตอ” ความขัดแย้งเกิดจากอะไร ถ้าจะมีการแก้ไขอะไรก็อย่าไปทำกับคนกลุ่มเดียว เพราะมีหลายภาคส่วนที่หนักใจ และส่งผลกระทบต่อบุคคลที่ไร้เดียงสาไปหมด

ในแง่ความเป็นไปได้ในการแก้ไขเรื่องความเกลียดชัง ค่อนข้าง “ลำบาก” เพราะฝังลึกมาก ฉะนั้นใครก็ตามที่เข้ามาบริหารจัดการต้องดูองค์รวมของเสาหลักที่ค้ำประเทศนี้ทั้งหมด โดยเอาประชาชนเป็นที่ตั้งแล้วดูว่าอะไรสำคัญที่สุด 

ย้ำปัญหาปากท้องสำคัญที่สุด

อย่างไรก็ดี ปัญหาใหญ่ที่เป็นวาระแห่งชาติต้องเร่งแก้ไขในมุมของ “เศรษฐา” คือ ปัญหาปากท้อง ภูมิศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ (Geopolitics) เวลาที่เกิดสงครามมีคนได้คนเสียตลอดเวลา และในช่วง 8 ปีหลังนี้ ประเทศไทยในเวทีโลกเกือบจะไม่มีที่ยืน เพราะไม่ออกไปปรากฎตัวแสดงความเป็นตัวตนของเรา หรือแสดงศักยภาพที่เราสมควรจะไปแสดง

"ไทย มีทรัพยากรหลายอย่างที่คนอื่นต้องการ เพียงแต่ว่าเราต้องภาคภูมิใจและอ่อนน้อมถ่อมตน รู้ตนเองว่าเราขนาดไหน ต้องไปค้าขายกับใครอย่างมีศักดิ์ศรี เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะเราอยู่ด้วยตัวเองไม่ได้ เราไม่ได้มีประชากร 1,400 ล้านคน ที่จะมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจต้องไปพึ่งคนอื่น”

เศรษฐา แนะว่า ต้องดูปัญหาว่าอะไรเป็นปัญหาจริงที่ต้องรีบแก้ไข บางคนพูดปัญหาออกมาแต่ไม่ใช่ปัญหาหลัก แต่เป็นทางลงหรือเป็นข้ออ้างมากกว่า จริงๆ แล้ว บางเรื่อง ยกตัวอย่าง คนรุ่นใหม่ ที่มีการเรียกร้องบางเรื่อง ผมมีความสงสัยว่ามันเป็นประเด็นหลักจริงหรือเปล่า เช่น 112 เกี่ยวข้องแรงบันดาลใจที่คนรุ่นใหม่เข้าสู่ระบบการศึกษา สาธารณสุข อาชีพ เพื่ออนาคตที่ดีกว่า หากเรื่องเหล่านี้ถูกเทคแคร์ได้อย่างเหมาะสมอาจแก้ปัญหาส่วนมากได้ ซึ่งประเทศประกอบด้วยคนหลายเจนเนอเรชั่น

“เราต้องดูแลเขาไม่ใช่ไปแก้กฎบางกฎ เรื่องมันก็ไม่จบ ต้องหาลึกลงไปว่าความไม่พอใจของเขาอยู่ตรงไหนกันแน่ ถ้าไม่มีเหตุมีผลแก้ไปก่อนเหมือนมะม่วงสุกเต็มต้น จะปีนไปเก็บลูกบนสุดทำไม เสี่ยงตกลงมา เลือกลูกใกล้เด็ดกินก่อน ให้ร่างกายแข็งแรงก่อนแล้วค่อยทำทีละขั้น ค่อยเป็นค่อยไปอะไรที่ทำได้เป็นประโยชน์กับประชาชนสูงสุด เห็นผลลัพธ์ทันตาทำไปก่อน เพราะมีของหลายอย่างที่เป็นเรื่อง่ายๆแต่ไม่ทำที่สำคัญไม่ควรไปด้อยค่าใคร”

คาแรคเตอร์เด็ดขาดแต่พร้อมยืดหยุ่น

“เศรษฐา” ยอมรับว่า ตนเองเป็นคนที่ตัดสินใจเด็ดขาดและทุกอย่างที่เขาตัดสินใจไม่ใช่ถูกหมดแต่เชื่อว่าสิ่งที่ตัดสินใจถูกกว่าครึ่งหนึ่งเยอะ ส่วนการจะเปลี่ยนไปได้ หรือไม่ได้ขึ้นอยู่กับเรื่องแต่ละเรื่อง

“ถ้าเป็นเรื่องใหญ่แล้วผมตัดสินใจไปแล้ว ผมคำนึงถึง 7 ข้อใน10 ข้อ อีก 3 ข้อ อาจไม่คำนึงถึง แต่มีคนมาติงผมข้อที่ 8 ข้อที่ 10 และมีแยอะจริง ผมเปลี่ยนได้ แต่ต้องดูว่าเป้าหมายคืออะไรในแต่ละเรื่อง ถ้าเรื่องแสนสิริ จะเป็นเรื่องของ 4 เสาหลัก ผู้ถือหุ้น พนักงาน สังคม ลูกค้า ต้องบาลานซ์ให้ดี แต่ถ้าประเทศ ต้องคำนึงถึงทุกภาคส่วน ข้าราชการ ประชาชน สถาบันพระมหากษัตริย์ ทหาร เอ็นจีโอ สื่อ นักธุรกิจทุกสถาบันมีส่วนที่ทำให้ประเทศนี้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง”

อย่างไรก็ดี ภาพลักษณ์ของ “เศรษฐา” ที่ดูเป็นคนที่มีความมั่นใจเป็นตัวของตัว ทำให้หลายคนมองว่า “ยากต่อการทำการเมือง ที่ต้องการความยืดหยุ่น” นั้น เขา อธิบายว่า  “จากประสบการณ์การทำงานที่แสนสิริผม ก็ต้องยืดหยุ่นพอสมควรเหมือนกันนะ กว่าจะมาถึงจุดๆ นี้ได้ ถ้าไปเป็นนักการเมือง นักสังคมสงเคราะห์ ผมจะยืดหยุ่นได้ แต่มันก็เป็นเรื่องของอนาคต แต่ถ้าผมจะทำ ก็ทำได้ทุกอย่าง แต่ให้ผมเดินบนน้ำผมคงเดินไม่ได้ ยังไงก็จมอยู่ดี แต่จะให้เป็นผู้บริหารองค์กร ผมคิดว่าผมมีความเป็นไปได้ แต่ขึ้นอยู่กับหลายๆ อย่าง เพราะว่า วันนี้กับอีก 6 เดือนข้างหน้าสถานการณ์ก็แตกต่างกัน จึงเร็วเกินไปที่จะสรุปตอนนี้ แต่ถามว่าอยากเป็นไหมบอกตรงๆ ไม่อยากเป็น”

\"เศรษฐา ทวีสิน\" พร้อมรับพันธกิจประเทศ ชู 4 วาระเร่งด่วน

นั่งนายกฯ ลุย4วาระเร่งด่วน

หากเกิดแลนด์สไลด์และได้เข้าไปบริหารประเทศ 4 อย่างที่อยากทำเพื่อให้เกิดเปลี่ยนแปลงในฐานะเบอร์หนึ่งของประเทศมีอะไรบ้างนั้น เศรษฐา กล่าวว่า 4 เรื่องใหญ่ กล่าวคือ

  1. เรื่องปากท้อง เป็นวาระเร่งด่วนที่ต้องทำอย่างเต็มที่
  2. เรื่องรัฐธรรมนูญ ต้องมีการแก้ไข
  3. เรื่องภูมิศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ (Geopolitics)

ไทยต้องมีจุดยืนที่เด่นชัดภายใต้ความอ่อนน้อมถ่อมตนแต่ต้องมีตัวตนที่มีศักดิ์ศรีบนเวทีการค้าโลก 

“เราไม่สามารถไปอิงกับสหรัฐ รัสเซียได้ เพราะทุกฝ่ายต้องการบางอย่างจากเราแตกต่างกันไป เราสามารถให้ซูเปอร์เพาเวอร์แตกต่างกันไป”

  1. เรื่องสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค กฎหมายที่นำมาซึ่งความเสมอภาคไม่ว่าจะเพศสภาพ ถือเป็นซอฟท์พาว์เวอร์ของคนไทย

สำหรับ "การนิรโทษกรรม" แต่ละคนมีลำดับความสำคัญแตกต่างกันออกไป ผมไม่ได้พูดว่าใครต้องทำ หรือไม่ต้องทำ แต่ผมบอกได้ชัดเจนว่า ลำดับความสำคัญของผมมี 4 เรื่อง ที่เป็นเป้าหมายในการแก้ปัญหาให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น ส่วนเรื่องอื่นถือเป็นเรื่องรอง

 ยอมรับอ่อนหัดเกมการเมือง

เศรษฐา ยอมรับว่า ยังไม่เข้าใจบางอย่างของพรรคการเมือง “ผมยังมีความประหม่าอยู่” ผมรู้ว่าเรื่องยาก เรื่องง่าย เยอะแยะไปหมด เรายังอ่อนหัดอยู่ เกมการเมืองพอเข้าใจบ้าง แต่วิธีการคิดไม่บอกว่าผิดหรือถูก แต่ว่าเราไม่เข้าใจ ซึ่งถ้าต้องเข้าไป ก็ต้องเรียนรู้ ที่ผ่านมาผมทำหน้าที่ในการให้ความคิดเห็นเชิงสร้างสรรค์ไม่ใช่บ่อนทำลาย หรือ ด้อยค่าภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่ง รวมทั้งรัฐบาลปัจจุบันด้วย

“ส่วนตัวไม่ชอบคำว่า ปฏิรูป ที่หลายคนมักใช้นำมาใช้ เช่น ปฏิรูปข้าราชการ นักการเมือง ทหาร ฯลฯ เพราะความหมายจริงๆ มันคือการพัฒนา เหมือนกับการทำธุรกิจต้องพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นหลักการคิด วิธีการคิด เป็นสิ่งที่ต้องทำในกระบวนการทำงานอยู่แล้ว”

ฉะนั้น สถาบัน หรือหน่วยงานใดที่หยุดพัฒนา อยู่ไม่ได้ในโลกยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วขนาดนี้ ซึ่ง สถาบันการเมืองก็ต้องพัฒนาให้เหมาะสมกับริบทที่เปลี่ยนแปลงไป ความต้องการของคนรุ่นใหม่ ของการอยู่ร่วมกันของคนสูงวัย ที่เพิ่มขึ้น อายุยืนยาวขึ้น คนมีลูกน้อยลง แสดงว่า “อัตราการแบก” ของคนรุ่นใหม่ที่ต้องแบกคนสูงอายุมากขึ้น สะท้อนว่า ความสามารถในการทำมาหากินจะต้องสูงขึ้น เพราะคนรีไทร์เร็วขึ้น ดังนั้นทุกอย่างต้องพัฒนาหมด

ในมุมมองเศรษฐา ทุกอย่างต้องทำตามกฎ กติกา สมมติ "ผมเป็นแคนดิเดตนายกฯ ต้องปฎิบัติตาม เพราะกฎเขาเขียนมาแบบนั้น ก็ต้องยอมรับ เราอยู่ขนาดนี้แล้ว เราจะไม่หักด้ามพร้าด้วยเข่า แต่ถ้าจะให้ดีต้องเป็นอภิมหาแลนด์สไลด์ เอาไปเลยเซฟๆ 376 

เศรษฐา มองอีกว่า สว.เป็นตัวแทนของประชาชน ได้รับเลือกจากการแต่งตั้งขึ้นมา ซึ่งอาจไม่ถูกต้องนัก ถ้าเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ ผมเป็นคนยอมรับกฎกติกาตลอด แต่สิ่งที่ผมไม่ยอมรับคือ 2 มาตรฐาน ส่วนหลังเลือกตั้งจะไปแก้รัฐธรรมนูญก็ว่ากันไป แต่เวลาที่แก้ต้องเอาทุกภาคส่วนเป็นหลักไม่ใช่เอาบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

อย่างไรก็ดี มีคำถามถึงความเข้าใจคนระดับล่างซึ่งเป็นฐานเสียงส่วนใหญ่ของพรรคเพื่อไทย “เศรษฐา” บอกว่า แม้สินค้าที่เขาขายจะราคาแพง แต่ก็มีคอนโดมิเนียมราคา 8-9 แสนบาทต่อยูนิต ทำให้มองเห็นโปรไฟล์ของคนที่มาซื้อโครงการและได้เจอลูกค้า คู่ค้า ทำให้เข้าใจผู้คนในทุกสถานะอยู่แล้ว ไม่ได้เป็นปัญหา ซึ่งในเวทีการแข่งขันทางการเมืองอาจถูกหยิบยกขึ้นมาพูด แต่บทพิสูจน์ไม่ได้อยู่ที่การพูดแต่ขึ้นอยู่ที่การกระทำมากกว่า

"ตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจน มีหลายปัจจัยที่ต้องมาคุยกัน แสนสิริ ยังไปได้ดีอยู่ เขายังต้องการผมอยู่ที่นี่เหมือนกัน ฉะนั้นเป็นอะไรที่ต้องคิดให้รอบคอบ แต่ที่แน่ๆ การเลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็นฉันทามติ จะแลนด์สไลด์ หรือถล่มทลายอะไรก็ตามที...ผมตื่นเช้าไปรอลงใช้สิทธิ เพราะเป็นสิทธิพื้นฐานในการเรียนรู้ที่อยู่ร่วมกัน และการยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง”

ทิศทางการเมืองต่อจากนี้ไปจะเป็นอย่างไร จะมีชื่อนักการเมืองหน้าใหม่ “เศรษฐา ทวีสิน” นำทัพประเทศไทยหรือไม่? ติดตามกันต่อไป