‘งานกงสุลเพื่อประชาชน’ รับนิวนอร์มัล

‘งานกงสุลเพื่อประชาชน’ รับนิวนอร์มัล

“ลดการสัมผัส และลดการแออัด” ยังเน้นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้กับงานบริการประชาชน

กระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินงานการทูตเพื่อประชาชนรับแนวทางวิถีใหม่ (นิวนอร์มัล) ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) โดยพิจารณาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจและสาธารณสุขให้เกิดความสมดุล เพื่อดูแลช่วยเหลือประชาชน และผลประโยชน์ประเทศ รวมไปถึงการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจในสถานการณ์ไม่ปกติเช่นนี้

ชาตรี อรรจนานันท์ อธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า  ได้วางแนวทางการให้บริการด้านกงสุลรับนิวนอร์มัล ภายใต้คอนเซ็ปต์คือ “ลดการสัมผัส และลดการแออัด” นอกเหนือจากมาตรการด้านสาธารณสุขควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อคัดกรองประชาชนที่มาเข้ารับบริการแล้ว ยังเน้นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้กับงานบริการประชาชน

ในแง่ของลดการสัมผัส กรมการกงสุลได้เพิ่มช่องทางรับนัดหมายคิวผ่านออนไลน์ ซึ่งได้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยและเพิ่มความสะดวกสบาย แม้ว่า ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสการเดินทางจะลดลงโดยธรรมชาติ ซึ่งมีผู้ใช้บริการลดลงจากเดิม เช่น จำนวนผู้ยื่นคำร้องทำหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) เฉลี่ย 2,000 คนต่อวันก็ตาม แต่กรมการกงสุลก็ต้องการให้ประชาชนได้รับบริการได้สะดวกและรวดเร็วที่สุด

อธิบดีกรมการกงสุล มองว่า การดำเนินงานเชิงรุกหลังระบาดโควิด-19 เป็นเรื่องการตรวจลงตรา (วีซ่า) จะเป็นเรื่องที่สำคัญต่อไป มาตรการการคัดกรองคน นอกเหนือจากการเข้มงวดในเรื่องความมั่นคงแล้ว ยังต้องคำนึงถึงประเด็นด้านสาธารณสุขด้วย

“หลังการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 จะได้เห็นการเดินทางแบบนิวนอร์มัลที่ผู้คนจะปรับเปลี่ยนวิธีการเดินทางจากกลุ่มใหญ่ๆ มาเป็นการเดินทางแบบปัจเจกชนมากขึ้น หรือ FIT การเดินทางจะลดการสัมผัส ซึ่งจะเห็นการติดต่อนัดหมายยื่นเอกสารขอวีซ่า ต้องทำผ่านออนไลน์เปลี่ยนจากเดิมที่ต้องมาเจอกันที่สถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่ หรือการขอวีซ่าหน้าด่านตรวจคนเข้าเมือง Visa on Arrival (VOA) ที่หน้าสนามบินปลายทาง” อธิบดีกรมการกงสุลกล่าว

กระทรวงการต่างประเทศมุ่งขยายการให้บริการ E-Visa เต็มรูปแบบและครอบคลุมทั่วโลก เดิมที่ได้เริ่มให้บริการในสถานทูตของเมืองใหญ่ๆ เพื่อให้ชาวต่างชาติได้ยื่นขอรับวีซ่าผ่านระบบออนไลน์ ตั้งแต่การกรอกแบบฟอร์ม ยื่นเอกสาร พร้อมรับชำระค่าธรรมเนียมแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบของธนาคารกสิกรไทยที่เป็นพันธมิตรในการรับชำระเงินในต่างประเทศ

ในการเดินทางยุคใหม่ในแบบนิวนอร์มัล กรมการกงสุลได้เตรียมความพร้อมไว้รองรับเทคโนโลยีในอนาคต ได้แก่ 1. การยกระดับหนังสือเดินทางไทย ซึ่งพาสปอร์ตใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมาได้ใช้นวัตกรรมที่ทันสมัย และเป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยเพิ่มเทคโนโลยีการเก็บม่านตา นอกเหนือจากเก็บใบหน้ากับลายนิ้วมือเพื่อยืนยันตัวตนและป้องกันการปลอมแปลง

อธิบดีกรมการกงสุล แสดงความเชื่อมั่นว่า หนังสือเดินทางไทยจะได้รับการยอมรับระดับโลกมากขึ้น และมีอำนาจในการเดินทางมากกว่าเดิม (Powerful Passport) ในฐานะที่ระบบสาธารณสุขไทยมีความเข้มแข็ง และไทยมีผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ในเกณฑ์ต่ำ

  1. แนวทางพิจารณาให้วีซ่าคนต่างชาติเปลี่ยนไป เพราะเมื่อมีการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้วิธีการพิจารณาให้วีซ่ากับคนต่างชาติก็ต้องเปลี่ยนไปจากการเดิมเชิงปริมาณ มาเป็นคุณภาพมากขึ้น เน้นความปลอดภัยและสุขอนามัย

ส่วนตัวมองว่า โรคโควิด-19 ทำให้วิธีคิดเปลี่ยนใหม่หมด ก่อนหน้านี้ประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีจะได้รับการยกเว้นตรวจลงตรา แต่จะเห็นว่าการแพร่ระบาดไวรัสไม่ได้เลือกระบาดกับประเทศรวยหรือจน ดังนั้นหลังโควิด-19 คงต้องทบทวนกันใหม่ในเรื่องนโยบายฟรีวีซ่า และเงื่อนไขการอนุญาตให้เข้าประเทศ

  1. ระบบตรวจคนเข้าเมืองที่หน้าด่านจะต้องปรับใช้ระบบอัตโนมัติ เพิ่มจุดตรวจเข้าประเทศผ่านเครื่องออโต้เกทซึ่งสอดคล้องกับพาสปอร์ตไทยที่มีเทคโนโลยีสูงขึ้น อย่างที่สนามบินระดับโลกได้เริ่มใช้เทคโนโลยีเหล่านี้แล้ว ในหลักการที่ว่าคัดกรองต้นทาง ปลายทางเน้นใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยตรวจคนเข้าประเทศ

“มาตรการเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในอนาคตจะพลิกโฉมใหม่ ตราบใดที่โลกยังไม่มีวัคซีนต้านโควิด-19 เช่น ทุกสนามบินจะต้องมีการตรวจเชื้อ แบบที่สามารถทราบผลทันทีและราคาไม่สูง เพราะไม่อาจปล่อยให้ผู้เดินทางที่เป็นพาหะโรคโควิด-19 เข้าประเทศ” อธิบดีกรมการกงสุลระบุ

  1. นำเทคโนโลยีและไอทีเข้ามาช่วยดูแลคนไทยในต่างแดน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเป็นการช่วยเหลือคนไทยกลับประเทศในช่วงแพร่ระบาดโควิด-19 โดยอธิบดีกรมการกงสุลเล่าว่า ภารกิจการนำนักศึกษาไทยที่เมืองอู่ฮั่นกลับประเทศถือเป็นต้นแบบให้ถอดบทเรียนนำไปสู่ปฏิบัติการช่วยเหลือคนไทยกรณีต่างๆ ที่ตามมาหลังจากนั้น

ตั้งแต่การวางแผน การจัดตั้งสถานที่กักตัวโควิด-19 ที่สัตหีบเป็นแห่งแรกและขยายไปยังหลายพื้นที่การเตรียมตัวของเจ้าหน้าที่กรณีต้องเดินทางไปรับคนไทยในต่างประเทศ การเตรียมเครื่องบินอพยพคนไทยโดยขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการมาแล้วกว่า 700 เที่ยวบิน การใช้แอพพลิเคชั่นเข้ามาประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่ และสื่อสารกับคนไทยที่ต้องการความช่วยเหลือ เพื่อให้รู้สึกไม่ถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง เป็นต้น

อธิบดีกรมการกงสุล ยังได้ยกตัวอย่างกรณีนักท่องเที่ยวไทยตกค้างในประเทศแถบละตินอเมริกาเนื่องจากล็อกดาวน์ประเทศ และปิดน่านฟ้า ทำให้ไม่สามารถเดินทางได้ตามแผนวางไว้ เมื่อจะเดินทางกลับจำเป็นต้องต่อเครื่องในประเทศที่คนไทยต้องขอวีซ่า เช่น อังกฤษ ซึ่งเป็นข้อจำกัดการเดินทาง ทำให้เจ้าหน้าที่สถานทูต ต้องวางแผนเส้นทาง บริหารจัดการให้ลงตัวพอดี และรออำนวยความสะดวกที่สนามบิน เพื่อนำคนไทยกลุ่มดังกล่าวกลับประเทศอย่างปลอดภัย

“ในสถานการณ์โกลาหล เราได้เจอมิตรที่ดี มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ในยามยากหลายประเทศ อาทิ มาเลเซียเพื่อนบ้านของไทยช่วยนำคนไทยกลับมาด้วย โดยเครื่องลงที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ และสถานทูตไทยได้นำรถไปรับข้ามด่านชายแดนกลับไทย”

จนถึงขณะนี้ กระทรวงฯ ได้นำคนไทยกลับมาแล้วกว่าแสนคนทั้งทางบก ทางเรือ ทางรถยนต์ ส่วนคนไทยที่รอกลับไทยในเดือน ต.ค.2563 มีอยู่ 16,000 คน แบ่งเป็นทางอากาศ 13,999 คน และทางบก 2.047 คน

อธิบดีกรมการกงสุล กล่าวย้ำว่า การผ่อนคลายอนุญาตให้ต่างชาติเดินทางเข้าประเทศในระยะเริ่มต้นมุ่งฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศและด้านมนุษยธรรมเป็นหลัก ซึ่งได้อนุญาตให้ ซึ่งได้อนุญาตให้ผู้มีใบอนุญาตทำงาน ครู /นักเรียนต่างชาติ รวมถึงบุคคลผู้มีครอบครัว ผู้มีถิ่นที่อยู่ในไทยเข้ามาก่อน ต่อมาจึงได้ผ่อนคลายเพิ่มขึ้น โดยอนุญาตให้นักธุรกิจเดินทาง (Business Travel) ซึ่งเป็นผู้ถือวีซ่าประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non - Immigrant) ประเภทต่างๆ เข้าไทยได้ตั้งแต่วันที่ 9 ต.ค. 2563 โดยอาศัยข้อกำหนด

ซึ่ง ศบค.ได้เห็นชอบแล้ว ได้แก่  1. กลุ่ม Non – Immigrant เป็นกลุ่มเกษียณอายุ ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป และต้องการใช้บั้นปลายชีวิตในไทย แบ่งเป็น 1) วีซ่า Non - Immigrant รหัส O - A ระยะ 1 ปี เป็นต่างด้าวทุกสัญชาติ โดยมีหลักฐานการเงิน 8 แสนบาทขึ้นไป  2) วีซ่า Non - Immigrant รหัส O – X ระยะ 10 ปี เป็นคนต่างด้าวจาก 14 ประเทศ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) อาทิ สหรัฐ ญี่ปุ่นนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย อังกฤษ เยอรมนีสวิตเซอร์แลนด์ และกลุ่มสแกนดิเนเวีย โดยมีหลักฐานการเงิน 3 ล้านบาท

วีซ่าประเภท Non - Immigrant รหัส B สำหรับผู้ที่ต้องการเข้ามาติดต่อหรือดำเนินธุรกิจในไทย แต่ไม่เข้าเงื่อนไขมีใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) เพื่อดูลู่ทางโอกาสทางธุรกิจนำไปสู่การลงทุนขนาดใหญ่หรือกลุ่มนักลงทุน อาคารชุดคอนโดมิเนียม ราคา 3 ล้านบาทขึ้นไป ผู้สนใจซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทย หรือมีบัญชีในไทยมีหลักทรัพย์ขั้นต่ำ 3 ล้านบาท เป็นต้น

นอกจากนี้ ศบค. ยังเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอให้นำนักธุรกิจจากกลุ่มเศรษฐกิจ APEC เข้ามา โดยกลุ่ม APEC Card เป็นกลุ่มที่สนใจเข้ามาดูลู่ทางธุรกิจ นำร่องจากเขตเศรษฐกิจที่มีอัตราการติดเชื้อโควิด-19 ต่ำ ได้แก่ จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เวียดนามกับไต้หวัน

 

ประการสุดท้าย ควบคู่กับวีซ่าประเภทใหม่ STV ที่รัฐบาลเพิ่งให้ความเห็นชอบนำร่องเพื่อเปิดการท่องเที่ยว ศบค.ได้ให้ความเห็นชอบกับ Tourist Visa รหัส TR ขอพำนักระยะสั้นและยาว โดยต้องมีบัญชีเงินฝากไม่ต่ำกว่า 5 แสนบาท เพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักท่องเที่ยวด้วย อธิบดีฯ กล่าวในตอนท้าย กระทรวงการต่างประเทศจะเน้นให้ความสำคัญและคัดกรองกลุ่มคนต่างชาติที่คิดว่ามีศักยภาพเพื่อสร้างความมั่นใจว่า ต้องเป็นผู้ที่สามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศได้อย่างแท้จริง