สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ขับเคลื่อนนโยบาย การเข้าถึงบริการคุมกำเนิด

สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ขับเคลื่อนนโยบาย การเข้าถึงบริการคุมกำเนิด

ลดปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ผลักดันการเข้าถึงบริการคุมกำเนิดอย่างทั่วถึง ลดปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในสังคม

สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การวางแผนครอบครัวและสิทธิประโยชน์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในสตรี พร้อมประกาศสนับสนุนค่าบริการคุมกำเนิดด้วยการใส่ห่วงอนามัยและฝังยาคุมกำเนิด เพื่อส่งเสริมให้วัยรุ่นและสตรีที่ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมสามารถเข้าถึงบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ได้อย่างทั่วถึง เนื่องในวันคุมกำเนิดโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 26 กันยายนของทุกปี  

นายแพทย์กิตติพงษ์ แซ่เจ็ง ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ประเทศไทยได้ประกาศนโยบายประชากร เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2513  พบว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จอย่างดียิ่งในงานวางแผนครอบครัว  โดยได้รับความร่วมมือในการดำเนินงานจากหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศ ที่ทำงานทางด้านวางแผนครอบครัว จากความสำเร็จในงานวางแผนครอบครัว ประกอบกับวิถีชีวิตของประชากรเปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่ทั้งหญิงและชาย มีค่านิยมที่จะอยู่เป็นโสดมากขึ้น จึงทำให้อัตราเพิ่มประชากรลดลง จากร้อยละ 2.7 ในปี 2513 เหลือเพียง ร้อยละ 0.2 ในปี 2562 ส่งผลให้อัตราเจริญพันธุ์รวมอยู่ในระดับต่ำ โดยผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์อายุ 15 – 49 ปี มีบุตรเฉลี่ยเพียง 1.54 คน ซึ่งต่ำกว่าระดับทดแทน และอัตราการเกิด มีเพียง 10.5 ต่อประชากรพันคน (มหาวิทยาลัยมหิดล, 2562) 

ด้วยผลลัพธ์ดังกล่าว รัฐบาลไทยจึงปรับเปลี่ยนนโยบาย โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมคุณภาพของประชากร และได้จัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 1(พ.ศ.2553-2557) โดยมุ่งหวังให้การเกิดทุกรายเป็นที่ปรารถนา ปลอดภัย และมีคุณภาพ ด้วยการส่งเสริมให้คนทุกเพศทุกวัยมีอนามัยการเจริญพันธุ์ที่ดี โดยยึดหลักความสมัครใจ ความเสมอภาค และทั่วถึง เมื่อนโยบายฯ ฉบับแรกสิ้นสุดลง จึงได้จัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560 - 2569) ว่าด้วยการส่งเสริมการเกิดและการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ เพื่อส่งเสริมให้การเกิดทุกรายมีการวางแผน มีการเตรียมความพร้อมตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ และได้รับความช่วยเหลือในการมีบุตร ส่งเสริมให้ลูกเกิดรอด แม่ปลอดภัย ได้รับการดูแลหลังคลอดที่ดี เด็กได้รับการเลี้ยงดูในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการสมวัย พร้อมที่จะเรียนรู้ในช่วงวัยต่อไปอย่างมั่นคง

อย่างไรก็ตาม นอกจากปัญหาการเกิดน้อยแล้วยังพบปัญหาการเกิดที่ด้อยคุณภาพ ซึ่งสถานการณ์ด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ในปี พ.ศ. 2561 พบว่าวัยรุ่นอายุ 15 – 19 ปี  คลอดบุตรเฉลี่ยวันละ 192 คน โดยมีวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 15 ปี คลอดบุตรเฉลี่ยวันละ 7 คน และในปีเดียวกันพบว่าจำนวนหญิงคลอดอายุต่ำกว่า 20 ปี มีอยู่ 72,566 ราย โดยแยกเป็นหญิงคลอดอายุระหว่าง 15-19 ปี มีจำนวน 70,181 ราย หญิงคลอดอายุต่ำกว่า 15 ปี มีจำนวน 2,385 ราย และยังพบว่าหญิงตั้งครรภ์ซ้ำและคลอดอายุต่ำกว่า 20 ปี มีถึง 6,543 ราย (สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์, 2561)  สำหรับปัจจัยสาเหตุที่ทำให้วัยรุ่นเข้าไม่ถึงบริการคุมกำเนิดและมีการตั้งครรภ์นั้นเกิดจากโรงพยาบาลไม่สามารถจัดบริการคุมกำเนิดได้หลากหลายสอดคล้องกับความต้องการของวัยรุ่น จากรายงานวิจัย เรื่องการบริหารจัดการระบบงานวางแผนครอบครัวของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2553 พบว่า โรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลชุมชนที่มีการจัดซื้อเวชภัณฑ์คุมกำเนิดแบบกึ่งถาวร  (ห่วงอนามัยและยาฝังคุมกำเนิด)  สำหรับให้บริการมีเพียงร้อยละ 36.6 เท่านั้น  รวมทั้งวัยรุ่นและคนโสดมักจะถูกตีตราจากผู้ให้บริการ (สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์, 2558)  

นอกจากนี้ องค์ความรู้เกี่ยวกับการคุมกำเนิดในกลุ่มวัยรุ่นก็มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยเฉพาะคำแนะนำของ American College of Obstetrics and Gynecology  และราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยที่ให้คำแนะนำว่าทางเลือกแรกในการคุมกำเนิดในกลุ่มวัยรุ่นควรจะเป็นถุงยางอนามัยร่วมกับวิธีการคุมกำเนิดประเภทกึ่งถาวร ได้แก่ ห่วงอนามัยและยาฝังคุมกำเนิด เนื่องจากมีประสิทธิภาพสามารถคุมกำเนิดได้ในระยะเวลานาน 3, 5 และ 10 ปี ซึ่งสูงกว่าวิธีคุมกำเนิดที่เป็นที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่นไทยคือยาเม็ดคุมกำเนิด

จากคำแนะนำดังกล่าวนี้ กรมอนามัย จึงได้ร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ขับเคลื่อนนโยบายการป้องกันการตั้งครรภ์ซ้ำในวัยรุ่น ด้วยการสนับสนุนค่าบริการคุมกำเนิดชนิดกึ่งถาวรด้วยการใส่ห่วงอนามัยและฝังยาคุมกำเนิดแก่วัยรุ่นที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี และในหญิงวัยเจริญพันธุ์ อายุ 20 ปีขึ้นไปในกรณีหลังยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย รวมทั้งการสนับสนุนค่าบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยให้กับสถานบริการเครือข่ายของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อส่งเสริมให้วัยรุ่นและสตรีที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม สามารถเข้าถึงบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ ตามแนวทางการประชุมระหว่างประเทศเรื่องประชากรและการพัฒนา หรือ ICPD – The International Conference in Population and Development และเรื่องสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDG เป้าหมายที่ 3.7.1 ที่มุ่งเน้นให้สตรีวัยเจริญพันธุ์ที่มีความต้องการเรื่องการวางแผนครอบครัวพอใจกับการคุมกำเนิดสมัยใหม่