โครงการ “Thailand ICT Youth Challenge 2018 ปี 5”

โครงการ “Thailand ICT Youth Challenge 2018 ปี 5”

โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ ลพบุรี ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี คว้าแชมป์

โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ ลพบุรี ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี คว้าแชมป์โมบายแอปพลิเคชัน ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ในโครงการ “Thailand ICT Youth Challenge 2018 ปี 5”  

ประกาศผลเสร็จสิ้นไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับโครงการ Thailand ICT Youth Challenge 2018 ปี 5” และ โครงการประกวด “DigiEng Teacher Challenge 2018” ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีแรก โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) ร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการ (MOE) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (OBEC) และ สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI) ณ โรงแรม เอส 31 ถนนสุขุมวิท กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้

โครงการ “Thailand ICT Youth Challenge 2018 ปี 5” เป็นค่ายเยาวชนไอซีทีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ภายใต้โจทย์จากองค์กรและแบรนด์ชั้นนำ อาทิ บริษัท เอ.พี. ฮอนด้า จำกัด, บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท ริโก้ (ประเทศไทย) จำกัด, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เป็นต้น เพื่อให้เป็นเวทีสำคัญในการเตรียมความพร้อมของเด็กไทยและครูในการก้าวสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ และเปิดโอกาสให้เด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่ ร่วมกับ ครู อาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา ได้พัฒนาทักษะการใช้สื่อดิจิทัลอย่างสร้างสรรค์ และสามารถนำทักษะ ความรู้ ความชำนาญ จากโครงการนี้ไปบูรณาการองค์ความรู้ให้เกิดประโยชน์ในวงกว้างต่อไป

โดยผลปรากฏว่า ทีมที่สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศในปีนี้ได้รับเงินรางวัลจำนวน 30,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร และถ้วยรางวัลจากนายกรัฐมนตรี ได้แก่

1. ประเภทประถมศึกษาตอนปลาย ผลงานประเภทโปรแกรมพาวเวอร์พอยต์ ได้แก่ทีม “Silver” “เรื่องราวของเด็กช่างฝัน” ประกอบด้วย เด็กหญิงกัลยกร ธัญธรธนพร และ เด็กหญิงสุชัญญา แสงเดือนจากโรงเรียนอนุบาลปทุมธานี

2. ประเภทมัธยมศึกษาตอนต้น ผลงานประเภทภาพยนตร์สั้น ได้แก่ ทีม “GT สตู “ดิโอ” ประกอบด้วย เด็กชายณภัทร อุนนะนันทน์ และ เด็กชายธนพงศ์ เทพรักษ์จากโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย

    ประเภทมัธยมศึกษาตอนปลาย ประเภทโมบายแอปพลิเคชัน ได้แก่ ทีม “หลานสมเด็จย่า” ประกอบด้วย นายนันทกรานต์ สีพุด และ นายศุภชัย แก้วจุ้ย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ ลพบุรี ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

นอกจากนี้ โครงการประกวด DigiEng Teacher Challenge 2018 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรก เป็นโครงการจัดการประกวดแผนการจัดการเรียนรู้และสื่อการเรียนรู้ ทุกรายวิชาและทุกชั้นปี โดยให้ครูใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีร่วมกับภาษาอังกฤษ ในการสร้างสื่อการเรียนการสอนทุกสาระ เพื่อการสนับสนุนการเรียนการสอนในรูปแบบ Project-BasedLearning ผู้ชนะเลิศ ได้แก่ อาจารย์พลอยไพลิน ลิ้มพงศ์พันธ์ จากโรงเรียนบ้านตะโละซูแม กับผลงาน Stop Bullying หยุดการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ ใช้สำหรับเป็นสื่อการสอนออนไลน์สำหรับเด็กนักเรียน ซึ่งให้ความรู้เกี่ยวกับ การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพจิต และถือเป็นภัยอย่างหนึ่งจากสังคมออนไลน์ โดยในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ

            ส่วนมุมมองของผู้สนับสนุนหลัก อาทิบริษัท เอ.พี. ฮอนด้า จำกัด, บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท ริโก้ (ประเทศไทย) จำกัด ได้เล่าถึงความภูมิใจและความประทับใจในการร่วมสนับสนุนโครงการนี้   

คุณเจริญ ปัญญาอธิสิน ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจเพื่อสังคม บริษัท เอ.พี. ฮอนด้า จำกัด กล่าวว่าทางบริษัทได้เข้าร่วมเป็นปีแรก เราให้การสนับสนุนกับเด็กโดยให้คำแนะนำและข้อมูลเบื้องต้นตามเว็บไซต์ต่างๆ และสอบถามเพิ่มเติมจากผู้แทนจำหน่าย สำหรับการต่อยอดผลงานนั้นคงต้องมาดูในสิ่งที่เรามีอยู่แล้วและนำไปเทียบเคียงกันว่าสามารถนำไปใช้จริงในแผนงานของเราต่อไปได้อย่างไร เนื่องจากเป็นแนวคิดของเด็กรุ่นใหม่ที่ต้องนำไปประยุกต์ใช้ สำหรับในยุคของดิจิทัล ลูกค้าเราเปลี่ยนไป การซื้อขายจึงมีสิ่งที่ต้องคิดมากขึ้นและเป็นเรื่องของภาพรวมทั่วโลกด้วย เราจึงมองว่าถ้ามีเยาวชนที่เก่งและสามารถดึงศักยภาพเหล่านี้มาร่วมในการเป็นส่วนหนึ่งด้านธุรกิจหรือสื่อต่างๆ ตรงนี้ได้ ก็ยินดีที่จะร่วมสนับสนุนเพราะถือว่าเป็นการร่วมกันสร้างความรู้และพัฒนาเยาวชนไทยให้มีความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้นถือว่าเป็นรากฐานที่สำคัญในการสร้างชาติได้เช่นกัน

คุณเลิศรัตน์ รตะนานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายประสานงานภาครัฐ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สำหรับบริษัทฯ ได้ให้การสนับสนุนโครงการนี้อย่างต่อเนื่องทุกปี โดยให้การสนับสนุนเบื้องต้นในด้านบุคลากร เราได้ส่งเมนเทอร์เข้ามาฝึกอบรมในช่วงเข้าแคมป์ ทั้งเรื่องการทำโมบายล์แอปพลิเคชันและข้อมูลต่างๆ และเรามองเห็นการเปลี่ยนแปลงเยอะมาก ยินดีที่เด็กได้รับรางวัลชนะเลิศภายใต้โจทย์ของดีแทคทุกปี อย่างเช่นปีนี้โรงเรียนเดิมได้คว้ารางวัลชนะเลิศถึงสองปีซ้อน จึงเชื่อว่าเด็กที่อยู่ต่างจังหวัดมีความขวนขวายอย่างมาก เมื่อเขาได้รับโอกาสหลายอย่างก็จะทำอย่างเต็มที่ สำหรับการต่อยอดผลงานนั้น เป็นที่ทราบดีว่าทางดีแทคเน้นเรื่องนวัตกรรม การคิดค้นและอินโนเวชั่นต่างๆ ดังนั้น ผลงานของเด็กเราก็คงนำไปต่อยอดแน่นอน เพราะในไอเดียของเขาก็มีข้อดีอยู่มากเพียงแต่จะทำอย่างไรบ้างคงต้องดูกันต่อไป นอกจากนี้ดีแทคยังคงให้ความสำคัญในเรื่องทุนมนุษย์ โดยเฉพาะเด็กที่เป็นอนาคตของชาติ จึงค่อนข้างมั่นใจว่าคณะกรรมการของบริษัทจะพิจารณาให้สนับสนุนโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง

คุณวริศรา หมัดป้องตัว ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารการตลาด บริษัท ริโก้ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าเป็นครั้งแรกที่ได้ร่วมในโครงการนี้โดยสนับสนุนในเรื่องเกี่ยวกับดิจิทัลทั้งหมดและออนไลน์ชาแนลให้กับครูและนักเรียน ต้องบอกว่า รู้สึกทึ่งกับผลงานของเด็กๆ อย่างมาก โดยเฉพาะเด็กประถมปลายที่สามารถทำโปรแกรมเพาเวอร์พอยได้เก่งมาก พอขึ้นมาระดับหนังสั้นก็ยิ่งพัฒนาขึ้น เมื่อเป็นโมบายล์แอปฯ เด็กมัธยมปลายก็สามารถทำได้แล้ว เป็นปีแรกที่เข้ามา เด็กก็ได้รางวัลรองชนะเลิศภายใต้โจทย์ของเรา ก็ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ สิ่งที่ประทับใจคือเราเห็นพรีเซนเทชั่นโปรแกรมพาวเวอร์พอยต์ของเด็กนักเรียนชั้นประถมปลาย ซึ่งมีภาษาท้องถิ่น จึงเกิดไอเดียว่าเมื่อจะทำเป็นสื่อออนไลน์ภาษาท้องถิ่นอาจจะเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น ก็อาจจะนำไปประยุกต์ทำเป็นพรีเซนเทชั่นจริงที่ให้พนักงานในท้องถิ่นใช้ ในส่วนของโมบายแอปพลิเคชัน เด็กทำระบบแอนดรอยด์ แต่ก็ได้มีการพูดคุยกันว่าถ้าทำแอปฯเป็นระบบ ios บ้างจะทำได้ไหม ก็อาจจะให้ทางทีมไอทีเข้ามาดูเพื่อต่อยอดต่อไป

คุณนรเชษฐ์ แซ่ตั้ง ผู้จัดการโรงงานเทพารักษ์ บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าบริษัทได้ให้การสนับสนุนในด้านเทคโนโลยีมาโดยตลอด เรามีร่วมกับกระทรวงไอซีทีในการทำสมาร์ทซิตี้และวิทยาศาสตร์ ซีเกทเป็นบริษัททางเทคโนโลยี การสนับสนุนไม่ใช่ปีแรกที่เราเข้าร่วม เรามีการจัดส่งบุคลากรและให้ข้อมูลร่วมกับทางสถาบันฯ เพื่อจัดฝึกอบรมในครั้งนี้ รู้สึกประทับใจมากที่เห็นเยาวชนไทยมีศักยภาพจริง ๆ เด็กไทยไม่น้อยหน้าไปกว่าประเทศอื่น ๆ เลย ผลงานทุกชิ้นเด็ก ๆ ทำได้อย่างน่าประทับใจมาก มีคลาสทำให้เด็กเข้าใจเทคโนโลยีและเครื่องมือได้มากขึ้น เห็นได้ว่าเด็กมีศักยภาพในตัวของเขาเองเพราะคอนเทนต์ที่เขาคิดค้นมาจากตัวเขาทั้งสิ้น เพียงแต่เราสอนให้เขามีการนำเทคนิคมาตอบสนองการที่เขาต้องการจะสื่อให้คนรู้ ขอชมว่าเด็กไทยเราเก่งมาก หวังอย่างยิ่งว่าถ้าเรายังพัฒนาเรื่องนี้ต่อไปในยุคไอที 4.0 ซึ่ง 5G กำลังจะมา มีการให้ความรู้อย่างถูกต้องทั่วถึงทั้งประเทศ คิดว่าเราจะดึงศักยภาพของเด็กไทยไปสู่ในระดับแนวหน้าได้ สำหรับการต่อยอดผลงานนั้น เราคิดว่าจะนำไปใช้จริงเลย เช่น เพาเวอร์พอย จะนำเสนอผ่านซีเกทโกลบอล เพื่อให้เห็นความสามารถของเด็กไทย เพราะเขาสามารถเข้าใจคอนเทนต์ได้ดีและสื่อออกมาเข้าใจง่าย และอาจจะมีการต่อเนื่องกับเด็กให้พัฒนาต่อยอดไปโดยเฉพาะเรื่องนโยบาย CSR ของบริษัทที่ช่วยเหลือโรงเรียนต่าง ๆ อาจจะนำตรงนี้ไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาอย่างไรกับโรงเรียนที่เราจะสนับสนุนอยู่ และคาดว่าโครงการนี้จะเป็นอีกหนึ่งในโครงการดีๆ ที่เราอยากจะสนับสนุนอย่างต่อเนื่องแน่นอน

ในยุคเทคโนโลยีก้าวกระโดด กับคำถามที่ว่า “เราจะเตรียมเยาวชนเด็กไทยอย่างไรและพัฒนาทักษะอะไร” อาจหาคำตอบได้จากโครงการนี้ “Thailand ICT Youth Challenge 2018” ศึกชิงแชมป์สุดยอดเยาวชน นักพัฒนาสื่อดิจิทัลและค่ายไอซีทีระดับประเทศ เวทีสำคัญที่จะเตรียมความพร้อมของเด็กไทย เพื่อก้าวเข้าสู่ยุคศตวรรษที่ 21 อย่างรู้ใช้ รู้เข้าใจ รู้สร้างสรรค์ เท่าทัน ทั่วถึง และเท่าเทียม ช่วยพัฒนาศักยภาพของเด็กไทยให้เติบโตเป็นอนาคตที่ดีของชาติอย่างแท้จริง