ททท. ปิ๊งไอเดียใหม่กระตุ้นเมืองรอง

 ททท. ปิ๊งไอเดียใหม่กระตุ้นเมืองรอง

หันเจาะตลาดเฉพาะกลุ่มจากต่างชาติ เน้น ญี่ปุ่น อินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม 

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)ปิ๊งไอเดียใหม่กระตุ้นเมืองรอง หันเจาะตลาดเฉพาะกลุ่มจากต่างชาติ เน้น ญี่ปุ่น อินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ภายใต้กลยุทธ์ดังกล่าว ททท.จะมุ่งเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวเยาวชนจากประเทศญี่ปุ่น และอินเดีย ขณะเดียวกันจะรุกตลาดนักท่องเที่ยวสตรีจากอินโดนีเซีย ส่วนตลาดเวียดนามเน้นกลุ่มนักท่องเที่ยวระดับบน 

ทั้งนี้ ททท. มีเป้าหมายที่จะกระตุ้นให้ชาวต่างชาติ เดินทางเข้าสู่เมืองรองมากขึ้น โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีศักยภาพสูง ไม่ว่าจะเป็นเชียงราย บุรีรัมย์ สตูล และราชบุรี เป็นต้น 

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. เปิดเผยว่า จากการที่ ททท. ได้เปิดสำนักงานแห่งใหม่ ในประเทศญี่ปุ่น ที่เมืองฟูกูโอกะ ทำให้มีศักยภาพในการเจาะตลาดเฉพาะกลุ่มในประเทศญี่ปุ่นได้มากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวกลุ่มเยาวชน นักเรียน และนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย รวมถึงกลุ่มที่มีความสนใจเฉพาะทางอื่นๆ เช่น กลุ่มนักเล่นกอล์ฟ กลุ่มวิ่งมาราธอน และกลุ่มดำน้ำ เป็นต้น สำหรับแผนการกระตุ้นตลาดนั้น ททท. จะเริ่มจากการจับมือกับสมาคมกอล์ฟของโรงเรียนมัธยมในพื้นที่ นำเยาวชนเข้ามาเพื่อเป็นการนำร่องก่อน

สำหรับ ททท.สำนักงานฟูกูโอกะ จะรับผิดชอบทำตลาดในพื้นที่ภาคใต้ของญี่ปุ่น ซึ่งประกอบด้วยเมืองฮิโรชิมา ยามากูชิ เอฮิเมะ โกจิ ซากะ นางาซากิ คูมาโมโต อิตะ มิยาซากิ คาโกชิมา และโอกินาวา “ปัจจุบันฟูกูโอกะถือเป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุด ในเกาะคิวชู เป็นศูนย์กลางธุรกิจของภูมิภาค และมีสนามบินนานาชาติอีกด้วย ทำให้สายการบินที่เปิดดำเนินการบิน ระหว่างกรุงเทพกับฟูกูโอกะ รวมถึงระหว่างกรุงเทพกับโอกินาวา ทั้งแบบประจำและเช่าเหมาลำเพิ่มขึ้น ทำให้มั่นใจว่าจะสามารถเป็นศูนย์กลาง การเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยได้ดี” นายยุทธศักดิ์ กล่าว

ในปี 2560 ที่ผ่านมา มีชาวญี่ปุ่นเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวนทั้งสิ้น 1.5 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 6.7 หมื่นล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 7.2 และ 9.6% ตามลำดับ โดยนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นใช้จ่ายเงินประมาณ 5,300 บาทต่อคนต่อวัน และใช้เวลาอยู่ในประเทศไทยเฉลี่ย 8 วัน จุดหมายปลายทางสำคัญของชาวญี่ปุ่นได้แก่ กรุงเทพ ชลบุรี ภูเก็ต เชียงใหม่ และอยุธยา ในช่วงระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนตุลาคมปีนี้ มีนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยแล้ว 1.3 ล้านคน สร้างรายได้ 5.8 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าจะมีชาวญี่ปุ่นเดินทางเข้าประเทศไทยกว่า 1.6 ล้านคนในปีนี้ 

ในส่วนของตลาดอินเดียนั้น ถือว่ามีการขยายตัวอย่างโดดเด่นและต่อเนื่อง จากการขยายตัวของสายการบิน และการเติบโตของเมืองรองทั่วประเทศ ที่สำคัญคือ ประเทศอินเดียมีกลุ่มนักท่องเที่ยวอายุน้อยมากถึง 600 ล้านคน ซึ่งเป็นโอกาสของประเทศไทย นอกจากนี้แล้ว ความหลากหลายของศาสนา และความเชื่อของคนอินเดีย ทำให้มีการเฉลิมฉลองตลอดทั้งปี ซึ่งส่งผลต่อการเดินทางเพื่อพักผ่อน และการท่องเที่ยวตลอดทั้งปี ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ นักท่องเที่ยวชาวอินเดียเพิ่มขึ้นเป็น 1.2 ล้านคน หรือเติบโต 11.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

อีกตลาดหนึ่งที่ ททท.ต้องการเพิ่มคือ อินโดนีเซีย เพราะมีการขยายตัวของนักท่องเที่ยวสตรีเพิ่มมากขึ้นถึง 35% ในช่วง 10 เดือนแรก ทำให้ ททท. มุ่งเป้าไปยังกลุ่มนี้เป็นพิเศษ เพราะเป็นกลุ่มที่มีอำนาจการซื้อสูง ในช่วงที่ผ่านมา อัตราส่วนของนักท่องเที่ยวชายต่อนักท่องเที่ยวหญิงในอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นจาก 45 ต่อ 55 ในปี 2556  เป็น 57 ต่อ 43 ในปี 2559

ในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวชาวอินโดนีเซียเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย 524,735 คน เติบโต 10.9% จากปีที่ผ่านมา ในช่วงเวลาเดียวกัน เช่นเดียวกับตลาดมาเลเซีย ซึ่งพบว่ามีนักท่องเที่ยวเข้าสู่ไทยมากถึง 3.1 ล้านคน และยังคงเติบโตมากกว่า 12% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ความต้องการเป็นพิเศษของชาวมาเลเซีย คือ อาหารฮาลาล

นอกจากนี้แล้ว ททท. จะรุกตลาดเวียดนามเนื่องจากพบว่ามีสายการบินระหว่างไทยกับเวียดนามมากถึง 210 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เชื่อมโยงเมืองท่องเที่ยวสำคัญๆ ของทั้งสองประเทศ ทำให้คาดว่าในอนาคตอันใกล้นี้จะมีนักท่องเที่ยวชาวเวียดนามเพิ่มขึ้นถึง 1 ล้านคนต่อปีเป็นครั้งแรก  อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวฯ จะเน้นเจาะตลาดที่มีศักยภาพ และมีกำลังซื้อสูงเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวสตรี กลุ่มครอบครัว กลุ่มนักธุรกิจ และกลุ่มผู้รักสุขภาพหรือรักษาพยาบาล เป็นต้น