39ปี/TPIPP/แนะรัฐเร่งสร้างตลาดคาร์บอนเครดิตนำไทยสู่ Net Zero

39ปี/TPIPP/แนะรัฐเร่งสร้างตลาดคาร์บอนเครดิตนำไทยสู่ Net Zero

“TPIPP” แนะรัฐ เร่งนโยบายตลาดคาร์บอนเครดิตนำประเทศไทยก้าวสู่สังคมไร้คาร์บอนตามเป้าหมาย ทุ่มงบ 4.8 พันล้าน ดันนวัตกรรมเปลี่ยนโรงไฟฟ้าถ่านหินมาสู่โรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดทั้งหมดที่ไม่ปล่อยคาร์บอนเลยภายในปี 2026 ก้าวสู่องค์กรที่ดำเนินธุรกิจ Net Zero เร็วกว่าเป้าหมายประเทศไทยถึง 25 ปี

นายภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบัญชีและการเงิน บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP กล่าวว่า ปัจจุบันเมกะเทรนด์ของโลกได้มุ่งเข้าสู่สังคมไร้คาร์บอน (Decarburization) โดยเฉพาะการผลักดันพลังงานสีเขียว ซึ่งบริษัทฯ ได้ให้ความสำคัญอย่างมากเกี่ยวกับแนวคิด ESG (สิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance)

 

39ปี/TPIPP/แนะรัฐเร่งสร้างตลาดคาร์บอนเครดิตนำไทยสู่ Net Zero

อย่างไรก็ตาม TPIPP ถือเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจาก 3 แหล่งพลังงาน คือ โรงไฟฟ้าถ่านหิน พลังงานความร้อนทิ้ง และขยะ โดยถ่านหิน ถือเป็นฟอสซิลที่เป็นพลังงานไม่สะอาด ที่ปัจจุบันยังมีอยู่ถึง 220 เมกะวัตต์ ดังนั้น บอร์ดบริหารได้อนุมัติให้เปลี่ยนถ่านหินให้กลายเป็นโรงไฟฟ้าขยะทั้งหมดในปี 2025 และขณะนี้ได้เริ่มปรับเปลี่ยนให้เป็นพลังงานสะอาด โดยค่อยๆ เปลี่ยนเครื่องจักรและปรับระบบเทคโนโลยี

“การปรับพอร์ตสู่พลังงานสีเขียวทั้งหมดต้องใช้เงิน เราได้เริ่มเปลี่ยนช่วงปลายปี 2021 ในเฟสที่ 1 ดำเนินการแล้วเสร็จช่วงกลางเดือนก.ย. 2022 โดยการปรับเปลี่ยนระบบทั้งหมดจะแบ่งเป็น 5 เฟสด้วยกัน ด้วยงบประมาณ 4,800 ล้านบาท ซึ่งเฟสแรกเริ่ม COD ต้นเดือนต.ค. 2022 ในขณะที่เฟสสุดท้ายจะแล้วเสร็จกลางปี 2025 ที่จะไม่มีถ่านหินและไม่ปล่อยคาร์บอนเลยในปี 2026”

 

39ปี/TPIPP/แนะรัฐเร่งสร้างตลาดคาร์บอนเครดิตนำไทยสู่ Net Zero

 

สำหรับจุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจคือโรงงานขยะในช่วงปีค.ศ. 2008 ซึ่งราคาน้ำมันดิบนั้นขึ้นไปถึง 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และบริษัทแม่ที่ดำเนินธุรกิจโรงปูนต้องใช้ถ่านหินเป็นหลักและผูกกับราคาน้ำมัน ดังนั้น จากการศึกษาพบว่าขยะสามารถแทนได้ จึงเริ่มทำโรงไฟฟ้าขยะจนถึงขณะนี้ที่มีกำลังผลิตรวม 440 เมกะวัตต์ และตั้งเป้าเพิ่มกำลังผลิตสิ้นปี 2025 รวมกำลังผลิตกว่า 500 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทฯ รับขยะวันละ 8,000-10,000 ตัน คิดเป็น 10-15% จากปริมาณขยะที่ประเทศไทยผลิตวันละประมาณ 71,000 ตัน โดยตั้งเป้าหลังจากปี 2025 จะรับขยะวันละ 14,000-15,000 ตัน ช่วยลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ และก้าวสู่องค์กรที่ดำเนินธุรกิจเกิน Net Zero ไปถึง 12 ล้านตันต่อปี เร็วกว่าเป้าหมายของประเทศไทยถึง 25 ปี

นอกจากนี้ จากการกำหนดเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายใน ค.ศ.2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายใน ค.ศ.2065 รัฐบาลจะต้องรีบสร้างตลาดคาร์บอนเครดิต จากการที่นายกรัฐมนตรี ประกาศในเวที COP26 ตั้งเป้าหมายแรกปีค.ศ. 2030 จะลดคาร์บอนให้ได้ 115 ล้านตันนั้น หากไม่รีบสร้างตลาดคาร์บอนจูงใจ และสร้างผลตอบแทนจากการลดการปล่อยคาร์บอนแล้ว ปีค.ศ. 2030 การลดคาร์บอน 115 ล้านตัน คงเป็นไปไม่ได้

“เราเชื่อว่าตลาดคาร์บอนจะต้องเกิดเร็ว ๆ นี้ ส่วนราคาอาจต้องอิงราคาทั่วโลก เพราะคาร์บอนที่ปล่อยทั่วโลกเป็นคาร์บอนเดียวกัน ถือเป็นอากาศเดียวกัน ปัจจุบันยุโรปขายคาร์บอนตันละ 80 ยูโร อเมริกาขายตันละ 40 ดอลลาร์ จีนต่ำสุดตันละ 7 ดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นราคาที่ค่อนข้างสูง”

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือแรงจูงใจ ถ้าผู้ผลิตที่ต้องใช้ถ่านหิน อาทิ โรงไฟฟ้า หรือโรงปิโตรเคมี หากการปรับลดถ่านหินไปใช้พลังงานทดแทนทันที เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ หรือลม ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นราว 10-20% หลายประเทศทั่วโลกมีมาตรการสนับสนุนด้านภาษี (Tax subsidy) เพื่อเปลี่ยนมาใช้โซลาร์ หรืออาจจะจะให้เครดิตภาษี 30% อย่างออสเตรเลีย หากบ้านติดแผงโซลาร์สามารถเก็บคาร์บอนเครดิตไปขายให้กับรัฐบาลในราคาที่สูง ซึ่งประเทศไทยสามารถทำได้ ทั้งการสนับสนุนเงิน หรือภาษีคาร์บอน ดังนั้น การให้เงินหรือเก็บเงินต้องมีแรงจูงใจ

นอกจากนี้ การกีดกันทางการค้าจากนโยบาย CBAM จะเป็นอีกจุดที่ทำให้องค์กรใหญ่ต้องปรับตัว ซึ่งการปรับตัวต้องใช้เวลากว่า 10 ปี บริษัทฯ ได้ปรับตัวตั้งแต่ทำโรงงานขยะถือว่ามากกว่า 10 ปี เพื่อสร้างสิ่งที่ดีให้กับโลก แม้ว่าช่วงปี 2007 เทรนด์เรื่องสังคมไร้คาร์บอน และคาร์บอนเครดิตยังไม่มีการพูดถึง จากการที่บริษัทแม่ดำเนินธุรกิจมายาวนานกว่า 40 ปี ได้คำนึงถึงนโยบายการทำให้โลกดีขึ้น

“จุดเริ่มต้นของโรงไฟฟ้าขยะ คือหากไม่นำมาใช้จะก่อให้เกิดมลภาวะ เพราะก๊าซมีเทนเป็นก๊าซที่อันตรายมาก ส่งผลถึงมลภาวะในโลก การกำจัดขยะและผลิตไฟฟ้าให้เป็นของดี โดยทำของไม่มีประโยชน์ให้กลายเป็นของที่มีประโยชน์คือสิ่งที่เราพยายามทำทิ้งโลกไปให้ดีกว่าที่เราเจอมา เราไม่ได้มองแค่ปริมาณขยะในประเทศไทย เรามองทั้งโลกที่ผลิตเท่าไหร่ควรกำจัดทั้งหมด สิ่งนี้คือสิ่งมุ่งหมายละแรงจูงใจให้เราทำ” คุณภัคพลทิ้งท้าย

ดร.ปรกฤษฏ์ เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายโรงงาน TPIPP กล่าวว่า อีกสาเหตุของการเข้ามาทำในธุรกิจโรงไฟฟ้านั้น เกิดจากแนวคิดที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพของโรงงาน ซึ่งโรงปูนซีเมนต์ของบริษัทแม่จะเกิดความร้อนตลอดเวลาและเมื่อเกิดความร้อนแทนที่จะเอาความร้อนไปทิ้งสู่ชั้นบรรยากาศนั้น บริษัทฯ จึงใช้เทคโนโลยีดึงความร้อนกลับมาใช้ปั่นไฟซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจโรงไฟฟ้า

นอกจากนี้ เราก็อยากจะเริ่มเข้าสู่ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานน้ำ เป็นต้น ซึ่งพลังงานทั้ง 3 ประเภทนี้ ทางหน่วยงานของภาครัฐก็ได้พยายามผลักดันให้เกิดขึ้นจริง และได้เตรียมแผนเปิดประมูลโครงการต่าง ๆ ซึ่งบริษัทฯ ก็ได้เตรียมความพร้อมเพื่อเข้าร่วมประมูลเช่นกัน เพียงรอแผนการเปิดประมูลและเงื่อนไขที่ชัดเจนจากรัฐบาล

“แม้ว่าแนวโน้มทั่วโลกได้เน้นการปรับสู่พลังงานสะอาดอย่างพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar) กับพลังงานลม ส่วนตัวมองว่า การเปลี่ยนทีเดียวคงเป็นไปไม่ได้ เพราะพลังงานกลุ่มนี้เป็นพลังงานที่ได้รับมาจากแสงอาทิตย์และลม โดยทั่วไปแล้วพลังงานที่ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศนั้นไม่ได้มีเสถียรภาพมากนัก เพราะสภาพอากาศเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ ดังนั้น การเปลี่ยนจากพลังงานถ่านหินไปสู่พลังงานสะอาดในทันทีจะทำให้เกิดผลกระทบต่อเสถียรภาพของไฟฟ้าอย่างแน่นอน จึงต้องมี Transition Fuel ที่เป็นตัวช่วยทำให้เกิดความเสถียร เช่น ก๊าซ LNG เพราะเหตุนี้ทำให้ความต้องการก๊าซ LNG เพิ่มสูงขึ้นในหลายประเทศ และราคาก็สูงตามไปด้วย โดยเฉพาะประเทศจีน ในปี 2563 ได้มีการนำเข้าก๊าซ LNG มากกว่า 70 ล้านตัน และยิ่งไปกว่านั้นปัญหาการปิดส่งก๊าซของรัสเซียทำให้ราคายิ่งพุ่งสูงขึ้นไปอีก”

ดร.ปรกฤษฏ์ กล่าวอีกว่า นอกเหนือจากก๊าซ LNG ก็จะมีแอมโมเนียและไฮโดรเจน ในปัจจุบัน หลายประเทศที่ผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ จะนำพลังงานนั้นเปลี่ยนเป็นไฮโดรเจนและขนส่งไปทั่วโลก อาทิ จากออสเตรเลียไปญี่ปุ่น โดยเมื่อรวมต้นทุนการผลิตและต้นทุนการบริหารจัดการค่าขนส่ง ทำให้ราคายิ่งสูงไปกว่าก๊าซ LNG บริษัทฯได้เล็งเห็นแล้วว่า พลังงานที่สามารถทดแทนพลังงานฐานและเป็นพลังงานสะอาดโดยมีความเสถียรสูงคือพลังงานจากขยะ อีกทั้ง เมื่อเกิดวิกฤติทั้งโควิด-19 และสงครามทางการเมือง บริษัทที่ปรับเปลี่ยนไม่ทันก็จะได้รับผลกระทบเยอะกับต้นทุนซึ่งขยะมีต้นทุนเท่าเดิม

“หลายคนมองรายได้ของเราจะลดลงเนื่องจากมี Adder ที่จะหมดอายุ 2 โรง แต่สิ่งที่หลายคนลืมนึกถึงคือค่า Ft และค่าก๊าซฯ ที่มีราคาสูงขึ้น ในสมัยก่อนก๊าซ LNG ราคาแค่ 5 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู แต่ปีนี้ขึ้นมาถึง50 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู นอกจากนั้นยังมีราคาถ่านหินและน้ำมันดิบที่ขึ้นมาราวๆ 2 เท่า แต่ค่าขยะนั้นยังคงเท่าเดิม ทำให้ราคาที่เราขายไฟฟ้าให้กับภาครัฐก็ได้อนิสงค์ไปด้วย การปรับสู่โรงไฟฟ้าขยะจะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายได้ดี แม้ปี 2568 เรามี Adder ที่จะต้องหายไปอีก แต่เราจะมีโรงไฟฟ้าขยะเข้ามาแทนเช่นกัน ทำให้รายได้และกำไรไม่ลดลงอย่างแน่นอน”