ศิลปกรรม ปตท. ครั้งที่ 36 เปิดพื้นที่ให้ศิลปินรุ่นใหม่ สื่อสารมุมมองผ่านงานศิลป์ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “โลกเปลี่ยนไป พลังไทยสร้างอนาคต”

ศิลปกรรม ปตท. ครั้งที่ 36 เปิดพื้นที่ให้ศิลปินรุ่นใหม่ สื่อสารมุมมองผ่านงานศิลป์ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “โลกเปลี่ยนไป พลังไทยสร้างอนาคต”

ศิลปกรรม ปตท. ครั้งที่ 36 เปิดพื้นที่ให้ศิลปินรุ่นใหม่ สื่อสารมุมมองผ่านงานศิลป์ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “โลกเปลี่ยนไป พลังไทยสร้างอนาคต”

โครงการประกวดศิลปกรรม ปตท. นับเป็นหนึ่งเวทีส่งเสริมศิลปะที่ได้รับการยอมรับระดับประเทศ มีการจัดประกวดมายาวนานกว่า 3 ทศวรรษ โดยมีจุดเริ่มต้น จากความร่วมมือระหว่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และมหาวิทยาลัยศิลปากร ในปี 2529 ซึ่งหัวข้อที่ใช้ในการประกวดผลงานศิลปกรรมส่วนใหญ่ เป็นการสะท้อนภาพของสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม และ บริบทที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้น 

จนมาถึงปี 2564 นี้ โครงการประกวดศิลปกรรม ปตท. ได้เดินทางมาถึงครั้งที่ 36 แล้ว โดยหัวข้อที่ใช้ประกวดในปีนี้ คือ “โลกเปลี่ยนไป พลังไทยสร้างอนาคต” เปิดโอกาสให้ผู้ส่งผลงานได้ถ่ายทอดมุมมองที่เกี่ยวข้องต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบัน พร้อมทั้งนำเสนอแนวคิดที่จะพาให้เราสามารถก้าวข้ามวิกฤตไปได้ อาทิ การใช้พลังงาน เทคโนโลยี หรือการสร้างสรรค์ต่างๆ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลง ไปสู่การร่วมแรงร่วมใจในการสรรสร้างอนาคตร่วมกันต่อไป

ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 ธันวาคมที่ผ่านมา ได้มีพิธีมอบรางวัลประกวดศิลปกรรม ปตท. ครั้งที่ 36 ประจำปี 2564 โดยมีนางสาวเพียงพนอ บุญกล่ำ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักกฎหมาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยผู้บริหาร ปตท. และคณะกรรมการตัดสินผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมงานภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19 ณ หอศิลป์ ณ บ้านเจ้าพระยา กรุงเทพฯ

โดยในครั้งนี้ แบ่งผู้เข้าประกวดออกเป็น 2 ระดับ คือ ระดับประชาชนทั่วไป และระดับเยาวชน ซึ่งแบ่งย่อยออกเป็น 3 กลุ่มอายุ ได้แก่ อายุต่ำกว่า 9 ปี อายุ 9-13 ปี และอายุ 14-18 ปี โดยมีชิ้นงานชนะการประกวดประเภทยอดเยี่ยม 4 ผลงาน และดีเด่น 20 ผลงาน รวมชิ้นงานที่ได้รับรางวัลทั้งสิ้น 24 ผลงาน จากจำนวนศิลปินที่ส่งผลงานเข้าประกวดรวมทั้งสิ้น 403 คน มีผลงานเข้าร่วมประกวด 453 ผลงาน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสนใจของผู้เข้าประกวด แม้จะอยู่ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ก็ตาม

จากคุณภาพของผลงานที่ส่งเข้าประกวด ยังได้สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองและความคิดสร้างสรรค์ของศิลปินและเยาวชน ในการนำเสนอไอเดียผ่านความงามทางศิลปะที่หลากหลาย ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการจัดโครงการประกวดศิลปกรรม ปตท. ขึ้น ด้วยความมุ่งมั่นของ ปตท. ที่ต้องการขับเคลื่อนศิลปวัฒนธรรมของชาติ ด้วยการส่งเสริมและพัฒนาทักษะของศิลปินรุ่นใหม่ นำไปสู่การสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ และสร้างคุณค่าต่อวงการศิลปะไทยต่อไป