รับมืออย่างไรเมื่อ COVID-19 รบกวนชีวิตผู้ป่วยเบาหวาน

รับมืออย่างไรเมื่อ COVID-19 รบกวนชีวิตผู้ป่วยเบาหวาน

แพทย์หญิงธนพร พุทธานุภาพ จากศูนย์เบาหวาน ต่อมไร้ท่อ และควบคุมน้ำหนัก โรงพยาบาลวิมุต มีคำตอบให้กับคำถามที่ว่า COVID-19 รบกวนชีวิตผู้ป่วยเบาหวานอย่างไร ผู้ป่วยและญาติเองจะสามารถรับมือได้อย่างไรได้บ้าง

COVID- 19 เป็นอุปสรรคที่รบกวนชีวิตทุกคนมาอย่างยาวนาน แต่กลุ่มผู้ป่วยเบาหวานก็เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบแทบจะมากที่สุดในหลายมิติและหลายช่วงเวลา ไม่ว่าจะติดแล้ว ยังไม่ติด หรือติดจนหายไปแล้วก็ตามวันนี้ แพทย์หญิงธนพร พุทธานุภาพ จากศูนย์เบาหวาน ต่อมไร้ท่อ และควบคุมน้ำหนัก โรงพยาบาลวิมุต มีคำตอบให้กับคำถามที่ว่า COVID-19 รบกวนชีวิตผู้ป่วยเบาหวานอย่างไร ผู้ป่วยและญาติเองจะสามารถรับมือได้อย่างไรได้บ้าง

 

ไม่ได้เสี่ยงมากกว่า แต่ถ้าติด COVID-19 ขึ้นมาจะรุนแรง
             

"ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าผู้ป่วยเบาหวานจะติดโควิดง่ายกว่า โดยทั่วไปแล้วอัตราการติดโควิดก็ใกล้เคียงกับคนทั่วไปค่ะ แต่ที่จัดเป็นโรคกลุ่มเสี่ยง เพราะว่าถ้าติดเชื้อไปแล้วผู้ป่วยเบาหวานมีสิทธิ์จะอาการรุนแรงกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่คุมเบาหวานได้ไม่ดี น้ำตาลในเลือดสูง และบางคนมีโรคแทรกซ้อนหรือโรคร่วมอื่นๆอยู่ด้วย เช่น โรคหัวใจ โรคไตเสื่อมเรื้อรัง  รวมถึงผู้ป่วยเบาหวานก็มักจะเป็นผู้สูงวัยหรือกลุ่มที่น้ำหนักเกินอยู่แล้ว ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรงมากขึ้นค่ะ"

 

น้ำตาลยิ่งมาก ภูมิต้านทานยิ่งน้อย การอักเสบในร่างกายยิ่งสูง

“ถ้าระดับน้ำตาลในเลือดสูง ภูมิคุ้มกันร่างกายที่ใช้ในการกำจัดเซลล์ไวรัสจะยิ่งน้อยลง เมื่อร่างกายจัดการกับไวรัสได้ไม่ดี ก็มีโอกาสที่โควิดจะมีอาการรุนแรงหรือไปที่ปอดได้มากขึ้น ร่วมกับเวลาติดโควิดร่างกายเราจะเกิดการอักเสบในหลายๆตำแหน่ง เช่น ปอด กล้ามเนื้อหัวใจ เส้นเลือดต่างๆ  ซึ่งการที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูง จะทำให้การอักเสบตรงนี้เพิ่มขึ้นได้ เวลาร่างกายมีการอักเสบเยอะ น้ำตาลก็จะยิ่งสูง แล้วพอน้ำตาลยิ่งสูง การอักเสบก็ยิ่งเพิ่มขึ้น เป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยเบาหวานหรือคนที่มีความเสี่ยงเบาหวานมีโอกาสเป็นโควิดแบบรุนแรงมากกว่าคนทั่วไป 

การจัดการเมื่อผู้ป่วยเบาหวานติด COVID-19

"ถ้าป่วยด้วยโควิดแล้วอาการหนักต้องนอนโรงพยาบาล หมอมักจะให้ยาชนิดฉีดแทน แต่ถ้าเป็นผู้ป่วยเบาหวานติด COVID-19 แล้วต้องทำ Home Isolation เบื้องต้นสามารถดูแลตัวเองแบบคนอื่นๆ ได้ ทานยารักษา COVID-19 ตามที่แพทย์สั่ง  แนะนำให้เตรียมยาโรคประจำตัวให้เพียงพอ ในส่วนของยาเบาหวาน หากเป็นยาฉีดสามารถฉีดต่อได้ ส่วนยารับประทาน บางตัวสามารถกินต่อได้บางตัวต้องหยุด  ตรงนี้แนะนำให้ปรึกษาหมอที่ดูแลอีกทีค่ะว่าตัวไหนยังสามารถทานต่อได้  

นอกจากคุมเบาหวาน ยังต้องสังเกตการณ์โรคแทรกซ้อน

“อย่างที่บอกค่ะ ผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นโควิด อาจมีปัญหาน้ำตาลสูงผิดปกติหรือน้ำตาลต่ำได้ค่ะ ดังนั้นควรจะสังเกตอาการไว้ด้วยค่ะ อาการเวลาน้ำตาลสูงมากๆ เช่น หิวน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย น้ำหนักลดผิดปกติ อ่อนเพลียมาก หอบเหนื่อย คลื่นไส้อาเจียน หากมีอาการให้ดื่มน้ำเปล่ามากๆ  และเจาะน้ำตาลปลายนิ้วดู ถ้ามากกว่า 300 mg/dL แนะนำปรึกษาแพทย์หรือไปรพ.

รับมืออย่างไรเมื่อ COVID-19 รบกวนชีวิตผู้ป่วยเบาหวาน

ส่วนน้ำตาลต่ำให้สังเกตอาการ เช่น หวิว หิว  ใจสั่น เหงื่อออก พูดคุยไม่รู้เรื่อง หรือหมดสติ และเจาะน้ำตาลปลายนิ้วดูค่ะ ถ้าค่าน้อยกว่า 80 mg/dL ให้รีบทานอาหารหรือน้ำหวานจนกว่าอาการจะดีขึ้นค่ะ แต่ถ้าไม่มีที่เจาะน้ำตาล ถ้าอาการไม่รุนแรงให้รับประทานอาหารหรือน้ำหวาน แล้วสังเกตอาการ  ถ้าหมดสติควรรีบพาไปรพ.  

ยารักษาโควิด สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน…เหมือนกันแต่ไม่เหมือนกัน

“จริงๆ การรักษาหลักเหมือนกันค่ะ ก็คือเป็นยาต้านไวรัส และถ้าคนไข้มีอาการติดเชื้อเยอะก็จะได้รับยาลดการอักเสบที่เป็นยากดภูมิกลุ่มสเตียรอยด์ที่ช่วยลดการอักเสบ  ซึ่งยาอาจจะทำให้น้ำตาลสูงขึ้นได้ ในบางเคส แพทย์อาจจะต้องปรับยาเบาหวานเพิ่มขึ้น หรือมีการปรับใช้เป็นยาฉีดอินซูลินชั่วคราวได้ค่ะ  อย่างที่ได้บอกไปหาก Home isolation แนะนำหาเครื่องเจาะน้ำตาลปลายนิ้วไว้เพื่อดูระดับน้ำตาลใกล้ชิด”

Telemedicine ตัวช่วยไม่ให้ขาดยาช่วงเบาหวาน

“ไม่ควรขาดยาเลยค่ะ ควรเตรียมยาให้เพียงพออย่างน้อย 1-3 เดือน หรือตามความสะดวกในการเดินทางไปรพ.ของแต่ละคนค่ะ ถ้ายาหมดต้องพยายามหาที่รับยา เช่น ผ่านทาง Telemedicine หรือบางรพ.มีบริการส่งยาทางไปรษณีย์ ปัจจุบันก็มีการใช้มากขึ้นค่ะ  ในกรณีน้ำตาลไม่ดี ปกติหมอมักจะนัดบ่อย ในช่วงนี้อาจปรึกษาแพทย์ขอยาล่วงหน้าจากแพทย์ไปเลย 3-6  เดือน และพูดคุยปรับยากับแพทย์ทาง Telemedicine แทน อย่างนี้ก็สามารถทำได้ค่ะ ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของแต่ละรพ.ด้วย ถ้าผู้ป่วยมีเครื่องเจาะน้ำตาลปลายนิ้วก็จะสะดวกมากขึ้นค่ะ  แต่ถ้าคนไข้สะดวกจะมาปรึกษาหมอที่โรงพยาบาลก็สามารถทำได้เช่นกันค่ะ อย่าลืมเตรียมผลน้ำตาล ผลเลือดต่างๆก่อนหน้านี้ ถ้ามี รวมถึงเตรียมยาเดิมที่รับประทาน ทั้งชื่อยาและขนาดยามาด้วยค่ะ”

รับมืออย่างไรเมื่อ COVID-19 รบกวนชีวิตผู้ป่วยเบาหวาน

“หากท่านสังเกตตัวเองว่าเริ่มมีอาการผิดปกติ เช่น หิวน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย น้ำหนักลด หรือมีอาการที่กังวลว่าจะเป็นเบาหวาน   โรงพยาบาลวิมุต พร้อมให้คำปรึกษา และดูแล

โดยทีมแพทย์ผู้เฉพาะทางด้านเบาหวาน ที่พร้อมให้คำแนะนำเรื่องเบาหวานทั้งกับผู้ที่มีความเสี่ยงเบาหวาน และผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานแล้ว ให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล มีการติดตามดูแลการรักษาอย่างต่อเนื่องร่วมกับทีมบุลคลากรที่มีประสบการณ์หลายสาขาวิชาชีพ การใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อใช้ในการให้บริการตรวจภาวะแทรกซ้อนเบาหวานที่ครบวงจร

ทั้งเทคโนโลยีการตรวจตาด้วยการถ่ายภาพจอประสาทตา (Fundus Camera)   การตรวจเส้นเลือดเลี้ยงปลายเท้าด้วยเครื่องมือเฉพาะ การตรวจความรู้สึกของเท้า การรักษาแผลที่เท้าด้วยเครื่อง hyperbaric chamber พร้อมทั้งบริการสปาเท้าดูแลทำความสะอาดเท้า และยังมีบริการด้านการดูแลอาหารของผู้ป่วยเบาหวานโดยนักกำหนดอาหารที่ได้รับการรับรอง มีทีมนักกายภาพ (Wellness Trainer) ให้คำแนะนำการออกกำลังกายที่เหมาะสำหรับแต่ละบุคคล”

ติดต่อสอบถามและปรึกษาปัญหาสุขภาพได้ที่ศูนย์เบาหวาน ต่อมไร้ท่อ และควบคุมน้ำหนัก ชั้น 9 โรงพยาบาลวิมุต โทร 02-079-0070 เวลาทำการ 07.00 – 19.00  น. Call Center โทร. 02 079 0000 หรือติดต่อสอบถามผ่าน Line OA: Vimut Hospital

ด้วยความปรารถนาดี จากโรงพยาบาลวิมุต อีกระดับของการรักษาด้วยความใส่ใจ