เมื่อ Brexit ยังไม่ Exit(สักที)ลงทุนอย่างไรดี? หนีภาวะผันผวน

เมื่อ Brexit ยังไม่ Exit(สักที)ลงทุนอย่างไรดี? หนีภาวะผันผวน

 

Brexit จะเป็น No-deal Brexit หรือไม่? หนึ่งในประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองที่เป็น Talk of the Town สำหรับตลาดการลงทุนในช่วงนี้ และคง “ร้อนแรง” ขึ้นเรื่อยๆ ด้วยใกล้เส้นตายเข้ามาทุกทีแล้วผลกระทบหรือมุมมองการลงทุนจากนี้จะเป็นอย่างไร? TMB Advisory พร้อมพาไปหาคำตอบกันครับ

แต่ก่อนจะ “รู้ผล” เราต้อง “รู้เหตุ” มาย้อนกลับไปที่ต้นทางกันครับ Brexit มาจาก Great Britain (สหราชอาณาจักร หรือ UK ประกอบด้วย 4 ประเทศ ได้แก่ อังกฤษ สกอตแลนด์ เวลส์ และ ไอร์แลนด์เหนือ) บวก Exit รวมกันแล้ว หมายถึงการถอนตัวออกจาก สหภาพยุโรป (EU) ของ สหราชอาณาจักร โดยมีสาเหตุจากประเด็น ผู้อพยพไหลทะลักเข้ามายังอังกฤษ จนทำให้เจ้าบ้านรู้สึกไม่ปลอดภัย แถมสหราชอาณาจักรยังต้องจ่ายค่าสมาชิกให้กับ EU จำนวนมหาศาล

หากเกิด No-deal Brexit มีผลกระทบอย่างไร?

หากเป็นการออกจาก EU แบบไม่มีข้อตกลง (No-deal Brexitกรรมหนักสุดคงตกกับประเทศในสหราชอาณาจักรอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยธนาคารกลางอังกฤษได้ประเมินผลกระทบต่างๆ เช่น เศรษฐกิจของ UK จะหดตัวลงราวร้อยละ 7 - 10 จากแนวโน้มเดิมก่อนการลงประชามติในปี 2559 เนื่องจาก UK จะเสียข้อตกลงทางการค้ากับประเทศสมาชิก EU เกิดกำแพงภาษีสินค้าที่ค้าขายกับ EU โดยภาษีนำเข้าจะสูงขึ้น 4% ส่งผลลบต่อการส่งออก การกู้ยืมสาธารณะอาจพุ่งขึ้นจากการที่เศรษฐกิจมีโอกาสเข้าสู่ภาวะถดถอย กดดันให้ภาวะเงินเฟ้อสูงขึ้นและกระทบรายได้ที่แท้จริง ความเชื่อมั่นลดลงกดเงินปอนด์อ่อนลงท้ายสุดอาจส่งผลลบลุกลามถึงเศรษฐกิจ EU

สถานการณ์ล่าสุด นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษผู้ที่ประกาศกร้าวขอออกจาก EU แบบ No-deal Brexit เริ่มตกที่นั่งลำบากเสียคะแนนนิยมหลังพ่ายโหวตการขอยุบสภาจากสภาผู้แทนราษฎรสหราชอาณาจักร เนื่องจากนายจอห์นสันไม่สามารถยับยั้งร่างกฎหมายป้องกันการแยกตัวจากสหภาพยุโรปแบบไร้ข้อตกลงได้ซึ่งต้องเร่งหาทางเจรจากับ EU เพื่อทำข้อตกลง Brexit ฉบับใหม่มาเสนอต่อรัฐสภาอีกครั้ง ภายในวันที่ 19 ตุลาคมนี้ และหากข้อตกลงฉบับใหม่ไม่ได้รับอนุมัติ ด้วยข้อบังคับของกฎหมายฉบับนี้ก็จะบีบให้นายจอห์นสัน ต้องขอเลื่อนกำหนดเส้นตาย Brexit ต่อ EU ออกไปอีก จากวันที่ 31 ตุลาคมนี้ เป็นวันที่ 31 มกราคม 2563 ซึ่งข้อเสนอล่าสุดนั้น มีแนวโน้มที่จะไม่ผ่านความเห็นชอบจาก EU อีกเช่นกันโดยประเด็นที่ EU ยังคงไม่พอใจก็หนีไม่พ้นประเด็นที่เปราะบางอย่าง Irish Backstop

 

Irish Backstop คืออะไร? ทำไมถึงเป็นประเด็นที่เปราะบาง

Irish Backstop คือ แผนบริหารจัดการบริเวณชายแดนไอร์แลนด์เหนือที่เป็นส่วนหนึ่งของอังกฤษกับชายแดนประเทศไอร์แลนด์ หนึ่งในสมาชิก EU ซึ่งเป็นประเด็นละเอียดอ่อน ทั้งในแง่การตรวจลงตราคนเข้าเมือง การรักษาความปลอดภัย กระบวนการกักตรวจสินค้าบริเวณชายแดน และพิธีการทางภาษีศุลกากร จนอาจจะสร้างความตึงเครียดตามแนวชายแดนมากจนเกินไป หาก UK ออกจาก EU แล้ว

ในมุมมองของ TMB Advisory ประเมินว่า UK อาจขอเลื่อนกำหนดเส้นตายการ Brexit ออกไปอีก เนื่องจากการออกแบบ"No-deal Brexit" มีโอกาสส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจ UK ได้หาก UK ขอเลื่อนเส้นตายได้สำเร็จ เหตุการณ์ต่อไปจะเป็นอย่างไร?

TMB Advisory คาดการณ์ความน่าจะเป็นของเหตุการณ์หลังจากนี้

เป็น 3 กรณีด้วยกัน คือ

กรณีที่ 1 : การออกจาก EU แบบมีข้อตกลง มองว่ามีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ 55% ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงินปอนด์กลับมาแข็งค่าขึ้นธนาคารกลางอังกฤษคงดอกเบี้ย Bond Yield ของอังกฤษไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ขณะที่หุ้นกลุ่มวัฎจักรภายในประเทศมีโอกาสกลับมา outperform

กรณีที่ 2 : UK ยังคงอยู่ใน EU มองว่ามีโอกาสเกิดขึ้นเพียงแค่ 10% โดยจะส่งผลให้ค่าเงินปอนด์ยังคงทรงตัว ธนาคารกลางอังกฤษอาจปรับขึ้นดอกเบี้ย Bond Yield ปรับตัวสูงขึ้น และตลาดหุ้นอังกฤษโดยรวมมีโอกาสกลับมา outperform

กรณีที่ 3: การออกจาก EU แบบไม่มีข้อตกลง มองว่ามีโอกาสเกิดขึ้นประมาณ 35% จะส่งผลให้เงินปอนด์กลับมาอ่อนค่าแรง, ธนาคารกลางอังกฤษไม่สามารถลดดอกเบี้ยได้, Bond Yield ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่หุ้นกลุ่ม Defensive/หุ้นกลุ่มส่งออกมีโอกาส outperform  

สำหรับภาพรวมของตลาดการลงทุนทั่วโลกนั้น TMB Advisory มีมุมมองว่าเศรษฐกิจโลกยังคงเติบโตอยู่ แม้จะอยู่ในระดับที่ชะลอตัวลงก็ตาม อีกทั้งคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะยังไม่เข้าสู่ภาวะวิกฤตในระยะเวลาอันใกล้นี้ อย่างไรก็ตามในระยะสั้นมีโอกาสได้รับผลกระทบและผันผวนจากทั้งกรณี Brexit และประเด็นสงครามการค้า โดย TMB Advisory มีมุมมองการลงทุนที่ค่อนข้างระมัดระวังในช่วงนี้ สำหรับตราสารทุน แนะนำลงทุนใน ตลาดหุ้นจีน เนื่องจากอัตราการเติบทางเศรษฐกิจยังคงอยู่ในระดับสูงอีกทั้งยังได้อานิสงค์จากการที่หุ้นจีนจะถูกคำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในดัชนี MSCI ทำให้ได้รับผลบวกจากกระแสเงินที่ไหลเข้ามาตามการปรับเพิ่มขึ้นของดัชนี สำหรับตราสารหนี้ แนะนำลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ที่มีอันดับเครดิตเรทติ้งดี มีดูเรชั่นสั้นถึงปานกลาง ขณะที่สินทรัพย์ทางเลือก แนะนำลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากมีอัตราการจ่ายปันผลที่สูง แต่ถ้าหากคิดว่ายุ่งยากไม่มีเวลา TMB Advisory แนะนำให้ลงทุนในกองทุนรวมผสมทั้งไทยและต่างประเทศ เพื่อลดความผันผวนจากสภาวะตลาดที่ไม่แน่นอน อีกทั้งไม่พลาดโอกาสในการลงทุน

โดยผู้ที่สนใจลงทุน หรือต้องการวางแผนจัดสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะสมกับเป้าหมายการลงทุน สามารถขอคำปรึกษา และข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.tmbbank.com/tmbadvisory หรือโทร. TMB Investment Line 1558 กด #9

 

เขียนโดย TMB Advisory

ข้อมูล ณ วันที่ 8 ตุลาคม 2562