รวมพลังประกาศเจตนารมณ์ “แก้ปัญหาพฤติกรรมเด็กติดเค็ม”

รวมพลังประกาศเจตนารมณ์ “แก้ปัญหาพฤติกรรมเด็กติดเค็ม”

จัดงานวันไตโลกปี 2562 “ทุกคนทั่วไทย ไตแข็งแรง”วันอาทิตย์ที่ 17  มีนาคม 2562  ที่ลานเอเทรียม ชั้น 1 ภายในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์

 

ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ในงานแถลงข่าว รวมพลังประกาศเจตนารมณ์ “แก้ปัญหาพฤติกรรมเด็กติดเค็ม” พร้อมประกาศวันจัดงาน  วันไตโลกปี 2562 โดยเครือข่ายลดการบริโภคเค็ม สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ชมรมโรคไตเด็ก กระทรวงสาธารณสุข  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

พ.อ.นพ.อดิสรณ์ ลำเพาพงศ์  กรรมการบริหาร สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และแพทย์โรคไตในเด็ก กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคไตทั่วโลกกว่า 850  ล้านคน  ทำให้โรคไตเป็นสาเหตุการตายอันดับที่ 6 ของสาเหตุการตายทั้งหมด  สิ่งที่น่าสนใจคือ แนวโน้มคนไทยป่วยเป็นโรคไตเพิ่มขึ้น 15% ต่อปี และมีผู้ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นถึง 1,500,000 คน ภายในระยะเวลา 5 ปี โรคเหล่านี้สัมพันธ์กับพฤติกรรมกินเค็ม ที่นอกจากผู้ใหญ่กินเค็มเกิน 2 เท่าแล้ว ย่อมส่งผลต่อพฤติกรรมการบริโภคของเด็กซึ่งเด็กไทยกินเค็มเกินเกือบ 5 เท่า  โดยปริมาณโซเดียมเฉลี่ยที่เด็กรับประทานอยู่ที่ 3,194 มิลลิกรัม/วัน ขณะที่ปริมาณโซเดียมที่เด็กวัยเรียนควรได้รับ อายุ 6-8 ปี อยู่ที่ 325-950 มิลลิกรัม อายุ 9-12 ปี อยู่ที่ 400-1,175 มิลลิกรัม และอายุ 13-15 ปี อยู่ที่ 500-1,500 มิลลิกรัม เนื่องจากโซเดียมเป็นสารปรุงรสในอาหารเพื่อกระตุ้นน้ำลาย ทำให้เด็กอยากอาหารมากขึ้น เป็นที่พอใจของผู้ปกครอง แต่ถ้ากินเค็มมากเกินไปก็เกิดปัญหาติดรสเค็ม ซึ่งจะทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงเมื่อโตขึ้นในอนาคต  

ผศ.นพ.สุรศักดิ์  กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดการบริโภคเค็มและคณะทำงานการจัดงานวันไตโลก  กล่าวว่า ผู้ปกครองมักให้เด็กกินเค็มโดยไม่รู้ตัว ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปและขนมกรุบกรอบที่พบว่ามีปริมาณโซเดียมสูง เช่น โจ๊กสำเร็จรูป 1 ถ้วย มีปริมาณโซเดียมสูงถึง 1,269 มิลลิกรัม ส่วนขนมที่มีโซเดียมสูง เช่น ปลาเส้น มีปริมาณโซเดียมถึง 666 มิลลิกรัม/ซอง สาหร่าย 304 มิลลิกรัม/ซอง มันฝรั่งทอด 191 มิลลิกรัม/ซอง การบริโภคอาหารเหล่านี้เพียง 1 ซอง ปริมาณโซเดียมก็เกินความต้องการต่อวันแล้ว หากเด็กเคยชินกับการกินเค็มก็มีแนวโน้มเป็นผู้ใหญ่ติดเค็ม และส่งผลต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง หัวใจ และไต ตามมา

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า ในสหรัฐอเมริกา พบว่า 90% ของเด็กเยาวชนกินเค็มเกินกว่าค่ามาตรฐาน โดยพบเด็กเริ่มกินเค็มอายุน้อยที่สุดคือ 1-3 ขวบ ถึง 79% ส่งผลให้ 1 ใน 7  คน ของเยาวชนอายุระหว่าง 12-19 ปี มีความดันโลหิตสูง ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง จึงมีมาตรการปรับสูตรลดปริมาณโซเดียมในอาหารและขนมขบเคี้ยว โดยมีการวิเคราะห์ว่าหากลดโซเดียมเพียง 9.5% ในเด็กจะช่วยป้องกันโรคหัวใจได้กว่า 1 ล้านรายและประหยัดงบประมาณจากค่ารักษาพยาบาลได้ถึง 32 พันล้านเหรียญสหรัฐ เช่นเดียวกับในแคนาดามีมาตรการแก้ปัญหาพฤติกรรมเด็กติดเค็ม โดยพบว่า เด็กอายุ 4-8 ปี มากกว่า 90% บริโภคอาหารที่มีโซเดียมสูงและมีความเสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูงเมื่ออายุมากขึ้น โดย 75% ของโซเดียมที่บริโภคมาจากอาหารแปรรูป อาหารสำเร็จรูป และในร้านอาหาร กระทรวงสาธารณสุขแคนาดาจึงกำหนดเป้าหมายลดปริมาณโซเดียมในอาหารแปรรูป สำหรับประเทศไทยนอกจากมาตรการจูงใจให้ผู้ประกอบการปรับสูตรเพื่อลดปริมาณโซเดียมในขนมกรุบกรอบและอาหารกึ่งสำเร็จรูปแล้ว ควรมีการให้ความรู้กับผู้ปกครอง การสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการลดเค็ม โดยดูฉลากปริมาณโซเดียมหรือแบ่งบริโภคต่อมื้อ ไม่ควรกินจนหมดซองในมื้อเดียว และส่งเสริมการบริโภคผักผลไม้

นพ.ศักดิ์ชัย  กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า คนไทย 3 ใน 4 เสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิต การบริโภคโซเดียมที่เกินความต้องการ ทำให้คนไทยเสียชีวิตถึงปีละกว่า 20,000 คน และมีความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากพฤติกรรมติดเค็มสูงถึง 98,976 ล้านบาทต่อปี จากโรคหัวใจและหลอดเลือดและไตวายระยะสุดท้าย การลดปริมาณการบริโภคโซเดียมลงจึงเป็นมาตรการที่จะช่วยปกป้องชีวิตของประชาชนได้ดีที่สุดทางหนึ่ง  

นพ.ประพนธ์  ตั้งศรีเกียรติกุล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการประกาศเจตนารมณ์แก้ปัญหาพฤติกรรมเด็กติดเค็มว่า กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับภาคีเครือข่ายได้จัดทำยุทธศาสตร์ลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย โดยตั้งเป้าหมายลดเค็มให้ได้ 30% ภายในปี  2568 สอดคล้องกับเป้าหมายร่วมกันขององค์กรอนามัยโลก เนื่องจากปัจจุบันมีคนไทย 22.05 ล้านคน ป่วยเป็นโรคที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมติดเค็ม ทั้งความดันโลหิตสูง หลอดเลือดสมอง หัวใจขาดเลือด และโรคไต จึงเกิดความร่วมมือของทุกภาคส่วนร่วมกันลดการบริโภคเกลือและโซเดียม โดยเฉพาะการปกป้องเด็กและเยาวชนเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคในอนาคต ทั้งการติดฉลากโภชนาการและให้ความรู้กับผู้บริโภค การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการปรับสูตรปริมาณโซเดียมลง ให้ได้ 10% ในทุก 2 ปี รวมทั้งสนับสนุนนโยบายการคลังที่เหมาะสมเพื่อให้ผู้ประกอบการผลิตอาหารที่ดีต่อสุขภาพในราคาไม่แพง    

พ.อ.นพ.อดิสรณ์ กล่าวถึงกิจกรรมวันไตโลกว่า องค์การอนามัยโลกจึงกำหนดให้ทุกวันพฤหัสบดีที่ 2 ของเดือนมีนาคม เป็นวันไตโลก ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 14 มีนาคม โดยเน้นถึงภาวะไตเรื้อรัง โดยแนวทางในการป้องกันไตเสื่อม เช่น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การเลือกรับประทานอาหาร  ดื่มน้ำสะอาด ออกกำลังกาย ลดการบริโภคเค็ม งดดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ซึ่งจะช่วยป้องกันและชะลอการเสื่อมของไตได้ การลดความเค็มในอาหารจะลดการเกิดโรคที่เกิดจากการบริโภคโซเดียมเกินได้  นอกจากนี้ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไต เช่น ผู้ที่เป็นเบาหวาน  ความดันโลหิตสูง  ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคไต  ผู้ที่เป็นโรคไตตั้งแต่เด็ก ควรได้รับการตรวจคัดกรองโรคไตทุกปี ได้แก่ การตรวจปัสสาวะ เจาะเลือด และวัดความดันโลหิต สำหรับกิจกรรมวันไตโลก ในปี 2562  นี้จะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 17  มีนาคม 2562  ที่ลานเอเทรียม ชั้น 1 ภายในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์ กรุงเทพฯ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

                                                 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

ผู้ประสานงาน  คุณภมรศรี แดงชัย (หลิง)โทร 089 667 4404 อีเมล [email protected]

คุณธนศักย์  อุทิศชลานนท์ (โป้ง) โทร. 081 421 5249 อีเมล [email protected]